ดนตรีลิขิต
ณ กรุงปารีส รักแรกและเกลียดแรกของทั้งสองพระองค์ค่อยๆ คลี่คลายจนกลายเป็นความเข้าใจด้วยสายใยแห่งดนตรี เป็นที่ประจักกันแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระทัยเรื่องดนตรีมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ ทั้งยังทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีแจ๊สและการประพันธ์
ส่วนหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์นั้นนอกจากจะเป็นนักเปียโนมือฉมัง ที่มีโอกาสเข้าร่วมวงกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและเหล่านักเรียนไทยในกรุงปรารีสอยู่บ่อยครั้ง สาวน้อยผู้นี้ยังสามารถวิจารณ์การดนตรีได้อย่างตรงไปตรงมา และมีความคิดเป็นของตัวเองอย่างเปิดเผย นั่นจึงทำให้บทสนทนาภาษาดนตรีระหว่างสองพระองค์เปี่ยมด้วยสีสัน
ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโต้แย้งเรื่องดนตรีกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จนไม่สามารถหาเหตุผลใดๆ มาอ้างได้ พระองค์จึงได้แต่เฝ้าดำเนินกลับไปกลับมาด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ในที่สุดก็ตรัสว่า
“ไปฟังเพลงดีกว่า วันนี้ยอมแพ้”3
งดงามในความเรียบง่าย
เมื่อภาษาดนตรีคือสะพานแห่งไมตรีจนกลายเป็นรักตามครรลองที่อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย พิธีหมั้นภายในครอบครัวจึงเกิดขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2492 ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมพิธีฉลองหมั้นอย่างเรียบง่าย ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนในวันที่ 12 สิงหาคม ปีเดียวกัน ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 17 ปีของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์
ในค่ำคืนนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงดนตรีพระราชทานแก่แขกที่เข้าร่วมงาน และทรงสวมธำมรงค์หมั้นแด่สตรีผู้มีความพิเศษยิ่ง เป็นธำมรงค์เพชรเกาะไว้ด้วยหนามเตยเป็นรูปหัวใจ และแม้ธำมรงค์องค์นี้จะมีขนาดเล็กไม่ถึง 2 กะรัต แต่นี่คือสัญลักษณ์แห่งความรักอันเรียบง่ายแต่มั่นคงแห่งองค์สมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนี
พระราชพิธีหมั้นที่ว่าเรียบง่ายแล้ว การฉลองพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกลับเรียบง่ายยิ่งกว่าดุจดังพระราชจริยวัตรของทั้งสองพระองค์ โดยในเรื่องความเรียบง่ายนี้คุณหญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้บันทึกไว้ใน “เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ว่านี่อาจจะเป็นการเลี้ยงในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสที่ง่าย เรียบ และสิ้นเปลืองน้อยที่สุดในโลก โดยมีแขกเข้าร่วมงานราว 20 คนเท่านั้น
“หลังการเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยแล้ว มีการฉายหนังผีเรื่อง Return of Frankenstein ให้แขกชม อาจจะนับได้ว่าเป็นพระราชพิธีแบบใหม่ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงค้นพบ เพื่อข่มพระขวัญเจ้าสาวให้ทรงหันเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และยึดพระองค์เป็นที่พึ่งในวันบรมราชาภิเษกก็เป็นได้ ไม่มีพิธีส่งตัวเจ้าสาวตามประเพณีทั่วไป”4