มีลูกยากต้องอ่าน! รวมเทคโนโลยีช่วยให้มีบุตร พร้อมประเมินงบประมาณ

สามีภรรยาหลายคู่วางแผนมีลูกกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน แต่พอเวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี พยายามเท่าไหร่เจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาสักที ถ้าลองวิธีธรรมชาติแล้วยังไม่สมหวัง เตรียมกะตังค์ไว้ให้พร้อม แล้วเริ่มปรึกษาคุณหมอเรื่องภาวะ มีลูกยาก และมองหาเทคโนโลยีสมัยใหม่กันค่ะ

มีลูกยาก อย่าเพิ่งถอดใจ ปรึกษาหมอและใช้เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ช่วยได้

มีลูกยาก
Photo by John Looy on Unsplash

การมีเจ้าตัวน้อยเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คู่แต่งงานใฝ่ฝัน เพราะการมีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจช่วยให้ครอบครัวสมบูรณ์ พร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูก แต่หลายๆ ปัจจัยอาจทำให้คู่รักประสบปัญหามีลูกยาก พยายามทำตามธรรมชาติก็ยังไม่สำเร็จ อีกทั้งอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ ทำให้หลายคนตัดสินใจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ก่อนอายุจะมากเกินไปจนมีลูกลำบาก

เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้มีบุตรยากที่เราได้ยินกันมาเนิ่นนานก็คือ การทำกิ๊ฟต์ (GIFT) แต่เดี๋ยวนี้มีวิธีใหม่ๆ  ทั้งการฉีดน้ำเชื้อ (IUI), การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และ การใช้เทคนิคพิเศษอย่าง ICSI ทั้งหมดนี้ต่างกันอย่างไร และมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ตามไปดูกันเลยค่ะ

มีลูกยาก
ภาพถ่ายโดย RODNAE Productions จาก Pexels

1. การทำกิ๊ฟต์ (Gamete Intra-Fallopian Transfer : GIFT)

วิธีนี้เป็นการกระตุ้นไข่เพื่อให้ผู้หญิงไข่ตกหลายๆ ใบ โดยคุณหมอจะให้ยาฮอร์โมนชนิดพ่นจมูกตั้งแต่ช่วง 7 วันก่อนมีประจำเดือน และจะเริ่มฉีดฮอร์โมนกระตุ้นไข่หลังจากมีประจำเดือนแล้ว 3 วัน โดยต้องฉีดประมาณ 8-12 วัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของแต่ละคน แล้วอัลตราซาวด์เพื่อดูขนาดและจำนวนของถุงไข่ เจาะเก็บไข่ และเก็บน้ำเชื้อของสามี

หลังจากนั้นจะใช้วิธีการผ่าหน้าท้องของผู้หญิงด้วยวิธีส่องกล้องเพื่อนำไข่และอสุจิที่คัดเลือกแล้วใส่กลับเข้าไปในท่อนำไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ข้างใดข้างหนึ่งสมบูรณ์ ไม่อุดตัน และยังมีข้อจำกันเรื่องการผ่าตัดหน้าท้องเพื่อใส่ไข่และอสุจิกลับเข้าไป ทำให้วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นนิยมกันในปัจจุบัน และแพทย์หลายท่านก็แนะนำวิธีอื่นๆ ที่ทันสมัยมากกว่า ทำให้โรงพยาบาลหลายๆ แห่งไม่มีบริการการทำกิ๊ฟต์แล้วในปัจจุบัน

มีลูกยาก
Photo by Bich Ngoc Le on Unsplash

2. การทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro Fertilization : IVF)

วิธีนี้จะใช้การกระตุ้นไข่และเจาะเก็บไข่คล้ายกับการทำกิ๊ฟต์ แต่ต่างกันตรงที่การคัดเลือกไข่ใบที่สมบูรณ์ที่สุดมาผสมกับอสุจิที่ผ่านการเตรียมด้วยน้ำยา แล้วนำไปเพาะเลี้ยงในตู้เพาะตัวอ่อนที่ควบคุมอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส หากมีการปฏิสนธิจะต้องเก็บไว้อีกประมาณ 3 วัน แล้วจึงนำใส่กลับเข้าไปในโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด

วิธีนี้จะทำให้ผู้หญิงฟื้นตัวได้ง่ายกว่าการทำกิ๊ฟต์ โดยใช้เวลาพักฟื้นเพียงแค่ 1-2 ชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้ เหมาะกับผู้หญิงที่มีปัญหาเรื่องท่อนำไข่ไม่สมบูรณ์ หรืออสุจิของผู้ชายมีน้อยกว่าปกติและเคลื่อนไหวช้า ส่วนราคาในการทำ IVF อยู่ที่ประมาณ 150,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละโรงพยาบาล

ภาพจาก : inovifertility.com

3. การทำอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection : ICSI)

วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาอสุจิไม่แข็งแรงและไม่สามารถเคลื่อนที่ไปผสมกับไข่ได้ โดยคุณหมอจะคัดเลือกอสุจิตัวที่แข็งแรงที่สุด และใช้เข็มขนาดเล็กมากดูดอสุจิเข้าไป แล้วเจาะฉีดเข้าไปในไข่เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิ เพาะเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ 3-5 วัน จากนั้นนำกลับเข้าสู่โพรงมดลูกเพื่อให้มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

สำหรับการทำอิ๊กซี่มักจะใช้สำหรับกรณีที่คู่รักทำ IVF หรือวิธีอื่นๆ แล้วไม่สำเร็จ แพทย์จะแนะนำวิธีนี้ซึ่งมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นวิธีที่สามารถตรวจหาโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนในระยะก่อนการฝังตัวได้โดยไม่ทำให้เกิดความผิดปกติ ราคาสำหรับการทำอิ๊กซี่อยู่ที่ประมาณ 150,000 – 170,000 บาทขึ้นไป คู่รักควรสอบถามเรื่องบริการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมของตัวอ่อนด้วย ว่ารวมอยู่ในแพ็กเกจแล้วหรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

4. การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก (Intrauterine Insemination : IUI)

การทำ IUI เรียกได้ว่าเป็นการช่วยย่นระยะทางระหว่างอสุจิกับมดลูก โดยใช้การกระตุ้นฮอร์โมนให้ฝ่ายหญิงตกไข่หลายๆ ใบ จากนั้นอัลตราซาวด์ดูขนาดของไข่และความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อมีขนาดพอเหมาะจะฉีดยากระตุ้นการตกไข่ และนัดคู่รักมาฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก ซึ่งทั้งนี้ฝ่ายชายจะต้องงดเพศสัมพันธ์ 2-7 เพื่อเก็บน้ำเชื้อในวัดนัด โดยคุณหมอจะคัดกรองอสุจิที่แข็งแรงดูดใส่ท่อพลาสติกขนาดเล็ก สอดผ่านปากมดลูกแล้วฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูกโดยตรง เพิ่มโอกาสให้อสุจิผสมกับไข่ได้ดียิ่งขึ้น โดยราคาของการทำ IUI อยู่ที่ประมาณ 5,000 – 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละโรคพยาบาล

สำหรับคู่รักที่พยายามแล้วพยายามอีก แต่เจ้าตัวน้อยก็ยังไม่มาให้ชื่นใจสักที หากอยากพึ่งพาคุณหมอและเทคโนโลยีสำหรับผู้มีบุตรยาก สามารถติดต่อโรงพยาบาลเพื่อขอคำปรึกษาและตรวจสุขภาพเบื้องต้น โดยอัตราความสำเร็จของการตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและอายุของฝ่ายหญิง รวมถึงระดับความรุนแรงของภาวะมีบุตรยากของแต่ละคนด้วย ที่สำคัญคือ ต้องไม่เครียดและกดดันตัวเองจนเกินไป เพราะจะส่งผลต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์

สำหรับสามีภรรยาคู่ไหนขอลองวิธีธรรมชาติและสายมูเพื่อการมีลูกต้องอ่านข้อมูลข้างล่างนี้เลย

ภาพจาก : inovifertility.com, unsplash.com, pexels.com

Recommended