จะให้บอกกี่ทีหรือย้ำกี่ครั้งก็ไม่พ้นเรื่องเงินๆทองๆ ที่คู่รักควรระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ที่กำลังจะแต่งงานหรือเพิ่งเข้าพิธีวิวาห์มาหมาดๆ ถ้าจัดการปัญหา เรื่องเงินกับชีวิตคู่ ไม่ดีพอ เดี๋ยวได้มีหนี้สินก้อนโตจนตามใช้กันไม่ไหว ทะเลาะกันจนรักล่ม
เรื่องเงินกับชีวิตคู่ จัดการไม่ดีหนี้มาแน่!
1. เป็นหนี้เพราะแต่งงาน
สิ่งสำคัญที่คู่รักรู้ดีและเตรียมการไว้อยู่แล้วคือการเก็บเงินและวางแผนจัดงานภายใต้งบประมาณที่มี แต่บางทีมันไม่จบแค่นั้น วันดีคืนดีว่าที่เจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวอยากได้อันนั้นเพิ่ม อันนี้เพิ่ม เพื่อให้งานเพอร์เฟ็กต์แบบสุดๆ หรือพ่อแม่อยากเพิ่มจำนวนแขก และอื่นๆ อีกมากมายที่งอกเงยมาระหว่างทางคราวนี้แหละค่ะ ปัญหาเกิด! งบที่เตรียมไว้ทำท่าจะไม่พอตอบสนองความต้องการของทุกคน หลายคู่จึงแก้ปัญหาด้วยการหยิบยืมจากคนรอบตัว หรือแม้กระทั่งไปกู้เงินจากธนาคาร แบบนี้แทนที่จบงานแต่งแล้วจะได้เริ่มชีวิตใหม่อย่างมีความสุข กลับต้องมานั่งปวดหัวเพราะหนี้ก้อนโต!
ถ้าใครไม่อยากเจอปัญหาหนี้ที่มาพร้อมกับการจัดงานแต่งงาน อย่างแรกที่ต้องทำคือ คุณต้องหนักแน่นเรื่องงบประมาณเข้าไว้ มีเท่าไรใช้เท่านั้น ถ้าคู่รักหรือผู้ใหญ่ขอเพิ่มอะไรที่ต้องใช้เงิน อย่าเพิ่งด่วนรับปาก คุณต้องมากดเครื่องคิดเลขก่อนว่า งบประมาณที่เตรียมไว้มีพอที่จะเพิ่มอะไรได้อีกหรือไม่ หรือได้มากแค่ไหน หรือถ้างบที่เตรียมไว้ติดลิมิตแล้ว คงต้องปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวล พร้อมอธิบายเหตุผลให้ทุกคนเข้าใจ
2. รีบลงทุนซื้อของใหญ่จนกลายเป็นหนี้
ข้อนี้ แพรวเวดดิ้ง เข้าใจดีว่า หลายคู่แต่งงานใหม่อยากรีบสร้างครอบครัว มีทรัพย์สินเป็นของตัวเองเร็วๆ การเร่งสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเป็นเรื่องที่ดีค่ะ แต่ถ้าคุณไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง มิหนำซ้ำยังใช้เงินเก็บไปกับการจัดงานหมดแล้ว ไม่ควรรีบซื้อทรัพย์สินชิ้นใหญ่ที่ทำมีภาระผ่อนจ่ายหนักๆ
ใครที่มีบ้านหรือคอนโดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ลำบากหรืออยู่ยากเกินไป แนะนำว่าให้อยู่หลังเดิมก่อน เพราะการเพิ่งใช้เงินก้อนใหญ่จัดงานแต่ง หลังเสร็จงานคุณอาจอยากใช้ชีวิตแบบผ่อนคลาย และใช้เงินอย่างสบายๆ ดีกว่ารู้สึกว่าต้องรีบเก็บเงินผ่อนหนี้บ้านหรือรถคันใหม่ รวมถึงคนที่ต้องย้ายเข้าไปอยู่บ้านสามีหรือภรรยาที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงอยากให้อยู่ไปก่อน ถือโอกาสทำความรู้จักและคุ้นเคยกับสมาชิกครอบครัวใหม่ ถ้าพร้อมเมื่อไหร่จะแยกออกมาซื้อบ้านอยู่เองก็ยังไม่สาย
ส่วนใครที่ตั้งธงไว้แล้วว่ายังไงต้องซื้อแน่ๆ ควรคิดให้รอบคอบอีกครั้งว่า ตอนนี้ทั้งคุณและคู่สมรสมีรายได้รวมกันเท่าไหร่ มีภาระผ่อนอะไรอยู่บ้าง จำนวนมากน้อยแค่ไหน และเหลือระยะเวลาผ่อนชำระที่กี่เดือน แล้วปรึกษากับธนาคารว่าจะยื่นกู้ร่วมซื้ออสังหาฯ ได้หรือไม่ และต้องเช็คเครดิตกับธนาคารให้ดี รวมถึงเอกสาร หลักฐาน และพิจารณาทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระด้วย เพื่อให้หนี้เก่าและหนี้ใหม่ไม่ชนกันหนักมากจนแบกรับภาระไม่ไหว
3. ปิดบังเรื่องบัญชีทรัพย์สิน
อีกเรื่องใหญ่ที่คู่แต่งงานใหม่ไม่ควรมองข้าม คือ การเปิดเผยตัวเลขทรัพย์สินของแต่ละคน โดยเฉพาะ “หนี้สิน” (ขีดเส้นใต้ 10 เส้น)มีเงินฝากเท่าไหร่ หรืออยากเปิดบัญชีคู่กันไว้เก็บออมเพื่อชีวิตในวันข้างหน้าหรือเพื่อลูกก็ยิ่งดี แต่ที่ไม่ควรทำคือ ปิดบังหนี้สินของตัวเองโดยคิดว่าคนรักไม่จำเป็นต้องรู้ จัดการเองได้ อันนี้บอกเลยว่าถ้าคู่ของคุณมารู้ตอนหลัง อาจเลยเถิดถึงขันที่บางคู่ต้องหย่าร้างกันเลยทีเดียว ทางที่ดีควรบอก ไม่ว่าหนี้ก้อนนั้นจะเล็กหรือใหญ่ ถ้าคุณจัดการเองได้ก็ดี แต่ถ้าเหนือบ่ากว่าแรงจะได้ช่วยกันแก้ไข และที่สำคัญ อย่าสร้างหนี้เพิ่ม!
บอกเลยว่าเรื่องเงินนี่แหละที่ทำให้คนรักกันมากๆ เลิกกันมานักต่อนัก ขนาดพ่อแม่ลูกพี่น้องยังตีกันเรื่องเงินได้ นับประสาอะไรกับคู่รักที่เพิ่งจะร่วมหอลงโลงด้วยกันเล่า เอาเป็นว่าจริงใจ เปิดเผย และระมัดระวังการใช้เงินในชีวิตคู่ไว้ก่อนดีกว่า จะได้เสียใจภายหลัง
ยังมีเรื่องราวการเงินกับคู่รักที่ต้องระวังอีกมาก ตามไปอ่านกันได้เลย
- 3 ขั้นตอนอย่างง่ายสำหรับวางแผนทางการเงินของคนอยากมีคู่
- วางแผนให้เป๊ะตามนี้ พร้อมข้อควรรู้ก่อนคิดวางเงินเตรียมซื้อเรือนหอ
ภายจาก : Pixabay.com