ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองแฟชั่นเมืองสยาม ยามเมื่อความงามของตะวันตกมาบรรจบตะวันออก

ตามรอยนิทรรศการแฟชั่น ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ สู่โลก แฟชั่นกรุงสยามในกาลก่อน พร้อมยลโฉมความงามของสตรีไทยในยามเมื่อคลื่นแฟชั่นจากยุโรปสาดซัดข้ามเส้นรุ้งแวงมาพบกับการปักทอชั้นสูงในราชสำนัก จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้านการแต่งกายที่ทำให้หญิงสยามกลายเป็นเบอร์หนึ่งด้านแฟชั่นนิสต้าในอุษาคเนย์

จากอินเดียสู่แฟชั่นราชวงศ์ยุโรป

นับตั้งแต่อยุธยาเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ การผสานความงามของแพรพรรณจึงเกิดขึ้น ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเห็นจะไม่พ้นผ้าไหมจากอินเดีย และผ้าแพรจากจีน ที่นำมาตัดเย็บเป็นโจงกระเบน ผ้านุ่ง และสไบได้อย่างกลมกลืน ทว่ายังไม่ได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการตัดเย็บแต่อย่างใด กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่หลายประเทศในตะวันตกได้ส่งคณะราชทูตมายังตะวันออกไกล การผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ด้านแฟชั่นระหว่างสองซีกโลกจึงเริ่มต้นขึ้น

%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b9%87%e0%b8%88%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a8%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%9a

ในยุคนั้นเจ้าจอมหม่อมห้ามเริ่มมีการแต่งกายแบบฝรั่งอยู่บ้าง ทว่าเฉพาะในงานสังสรรค์และการถ่ายภาพในสตูดิโอ แน่นอนว่าเทรนด์เซตเตอร์ในยุคนั้นต้องยกให้กับราชวงศ์ยุโรป ส่วนเมืองไทยก็เริ่มจากในรั้ววัง ดังจะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์ในสตูดิโอของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

พระองค์ทรงฉลองพระองค์ผ้าลูกไม้ตามแฟชั่นสตรีตะวันตกในยุควิกตอเรียตอนปลาย แต่ยังทรงพระภูษาโจงยกไหม และไว้พระเกศาสั้นที่เรียก ผมทัด ตามพระราชนิยม พร้อมกับเปลี่ยนเครื่องประดับจากทองมาเป็นสร้อยมุกและเพชร สวมทับกันหลายเส้น คล้ายกับพระราชนิยมในสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราแห่งราชอาณาจักร เห็นได้ชัดว่าแฟชั่นสยามกับแฟชั่นโลกในครั้งนั้นไม่ได้ห่างไกลกันตามระยะทางเลยสักนิด

Recommended