ฉัฐรัช พัสตราภรณ์ ย้อนมองแฟชั่นเมืองสยาม ยามเมื่อความงามของตะวันตกมาบรรจบตะวันออก

ยุคเฟื่องฟูของโลกแฟชั่น

ยุครุ่งเรืองของแฟชั่นสยามเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ 6 เหตุก็ด้วยพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ไปศึกษาในต่างแดนตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ผนวกกับการเข้ามาของนิตยสารแฟชั่น ห้างร้านฝรั่ง ภาพยนตร์เงียบ สงครามโลกครั้งที่ 1 รวมทั้งพระประสงค์ให้เร่งปรับปรุงบ้านเมืองตามอย่างอารยประเทศ นั่นจึงทำให้ในช่วงรัชกาลเดียวมีการเปลี่ยนแปลงด้านแฟชั่นที่เด่นชัด ถึง 3 สไตล์

%e0%b8%9c%e0%b8%a1%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%9a%e0%b9%82%e0%b8%9b%e0%b9%88%e0%b8%87

ต้นรัชกาล สตรีสยามเริ่มนุ่งซิ่นสูงไม่กรอมเท้า ใส่ถุงเท้าคู่รองเท้าหนัง ด้านบนเป็นเสื้อแต่งด้วยผ้าลูกไม้แบบยุโรป มีทั้งแบบคอกลม คอแหลม คอสูง และแบบปก แขนเสื้อยกสูงถึงข้อศอก คอร์เซ็ตที่รัดตึงก็ถูกแทนที่ด้วยบราเซีย ด้านผมก็เริ่มมีการไว้ยาวเกล้าเก็บด้านหลัง และทำผมแบบโป่ง

กลางรัชกาล

กลางรัชกาล เป็นช่วงที่แฟชั่นผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไปพร้อมสงครามโลกครั้งที่ 1 เสื้อผ้าเริ่มเปลี่ยนจากหรูหรามาเป็นแพทเทิร์นที่ง่าย ในไทยนั้นการนุ่งซิ่นได้กลายเป็นพระราชนิยม จะเหลือเพียงคนรุ่นเก่าที่นุ่งโจงกระเบน ด้านเสื้อยังคงใช้ผ้าแพรและลูกไม้ แต่เป็นทรงหลวมยาวถึงเข่าเพื่อสวมทับซิ่นและคาดทับอีกครั้งด้วยเข็มขัดที่ตกแต่งด้วยริบบิ้นแพร ลูกปัด และมุก เข้ากับเครื่องประดับคาดศีรษะที่มีทั้งผ้าชิ้นปักดิ้น และผ้าไหมสักหลาดประดับเพชร ในยุคนี้ผู้หญิงไทยเริ่มนิยมสวมนาฬิกา แต่สูงขึ้นมากลางต้นแขนคล้ายการสวมพาหุรัด และเปลี่ยนจากรองเท้าหนังแมรี เจน เป็นรองเท้าส้นสูงแบบคัทชู

ปลายรัชกาล

ปลายรัชกาล เป็นช่วงที่นิตยสารแฟชั่นและสาวปารีเซียงเริ่มกลายมาเป็นเทรนเซตเตอร์แทนราชวงศ์ในยุโรป แฟชั่นโลกได้สวิงกลับมาที่ความหรูหราวิบวับแบบอาร์ตเดโค (Art Deco) ในเมืองไทยนั้นจากซิ่นก็เริ่มมีการใส่กระโปรง และก็เริ่มเห็นชุดแบบตะวันตกทั้งชุด ส่วนหมวกเริ่มแพร่หลายพอๆ กับผมสั้นดัดลอนและผมบ๊อบ ดังเช่นพระฉายาลักษณ์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทว ทรงฉลองพระองค์แบบค็อกเทลสายเดี่ยว พร้อมเครื่องประดับสไตล์อาร์ตเดโคอย่างมงกุฏประดับขนนกกระจอกเทศ

ความหรูหราเริ่มถูกลดทอนลงไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นยุคที่ผู้หญิงทั่วไปนิยมใส่กระโปรง สูท 3 ชิ้น และกางเกง โจงกระเบนกลายเป็นเรื่องของคนสูงวัยและหมดยุคไปในที่สุด 

Recommended