การ วางแผนชีวิตคู่ เป็นอีกก้าวสำคัญในชีวิต เกิดจากคนสองคนต่างครอบครัวตัดสินใจสร้างครอบครัวร่วมกัน ช่วยกันสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและให้กำเนิดทายาทรุ่นต่อไป โดยทั้งก่อนและหลังสร้างครอบครัวใหม่ ต้องทยอยเก็บเงินสำหรับค่าใช้จ่ายใหญ่ 3 ประเภท คือ งานแต่งงาน บ้านใหม่ และเจ้าตัวเล็กในอนาคตนั่นเองนะคะ เพราะการเตรียมตัวเพื่ออนาคตนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แพรวเวดดิ้งจึงนำเทคนิคดีๆ มีประโยชน์โดยกูรูเรื่องการวางแผนจากธนาคารกรุงศรีอยุยามาฝากกันค่ะ ว่า 3 เรื่องหลักที่ว่านั้น เราควรจัดการอย่างไรให้ไม่พลาดกัน 😉
งานแต่งงาน
- จงวางแผนใช้ชีวิตร่วมกัน
หลังจากตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะใช้ชีวิตคู่ ก็ควรพูดคุยทำความเข้าใจกันเพื่อให้ชีวิตคู่ราบรื่น โดยเรื่องเงินเป็นประเด็นหลักอันหนึ่งที่ควรคุยกันให้ชัดเจน ตกลงกันว่าเป้าหมายทรัพย์สินที่ต้องการมีมากน้อยเพียงใด จะบริหารทรัพย์สินเหล่านี้ยังไง รายได้-ค่าใช้จ่ายต่างๆ ใครเป็นผู้ดูแล เงินออม-หนี้สินควบคุมควรอยู่ในระดับใด อะไรประะมาณนี้เป็นต้นนะคะ
- จงหาข้อมูลก่อนจ่ายเงินเสมอ
เคยไหมจ่ายเงินไปแล้วรู้สึกว่าเสียดายเงิน รู้งี้หาข้อมูลก่อนซื้อน่าจะดี สมัยนี้ข้อมูลมีให้ศึกษากันเต็มโลกออนไลน์ ควรหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่เล็งเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายขนาดใหญ่อย่างงานแต่ง หากพลาดไปแล้วเทียบเท่ากับทำงานฟรีไม่รับเงินเดือนไปนานหลายเดือนเชียวนะคะ
- จงควบคุมค่าใช้จ่ายในงานแต่ง
จริงอยู่ว่าปกติจัดงานแต่งครั้งเดียวในชีวิตควรจัดออกมาให้ดูดี สถานที่สวยงาม อาหารอร่อย แขกผู้ใหญ่เพื่อนสนิทมากันพร้อมหน้า แต่ก็ไม่ควรจัดจนถึงขั้นมีปัญหาเรื่องเงินกลายเป็นหนี้ ควรควบคุมค่าใช้จ่ายโดยดูจากตัวเลข ค่าใช้จ่ายต่อหัวและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่คุณรับไหว ไม่ให้สูงจนเกินกำลังทรัพย์ที่มี โดยพิจารณาดูว่าค่าใช้จ่ายบางรายการลดได้ไหม ตัวอย่างเช่น ค่าถ่ายภาพแต่งงาน ซึ่งสตูดิโอขนาดใหญ่คิดรูปละพันกว่าบาท พอรวมทั้งอัลบั้มก็เป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท อาจเปลี่ยนไปจ้างช่างภาพอิสระหรือเพื่อนที่มีฝีมือถ่ายภาพทำให้แทนก็ย่อมได้
- จงเขียนรายชื่อแขกมาร่วมงานแต่ง
หลายงานเจอกับปัญหาจำนวนแขกมาผิดคาดมากมีทั้งเยอะเกินหรือน้อยไป ปริมาณอาหารก็เช่นกันมีสิทธิ์ผิดคาดไปได้มาก วิธีแก้ไขทำได้ด้วยการลิสต์รายชื่อแขกที่มาร่วมงานและสอบถามไปตรงๆ เลยว่าสะดวกมาร่วมงานมงคลหรือไม่ เหตุผลเพื่อเตรียมสิ่งต่างๆ ได้เพียงพอ ซึ่งช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายจัดงานได้ถูกต้องอีกด้วย
บ้านหลังใหม่
- จงเลือกซื้อบ้านไม่เกินฐานะ
คนไทยกว่า 80% ซื้อบ้านด้วยการกู้ธนาคารเพราะบ้านที่น่าอยู่มีราคาหลายล้านบาทเกินกำลังจะจ่ายไหวในคราวเดียว ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงเลือกกู้ธนาคารแล้วค่อยผ่อนจ่ายทีละเดือนเอา หากผ่อนจ่ายทุกงวดตามค่างวดบ้านที่มาเรียกเก็บแบบไม่โปะเลย ดอกเบี้ยที่จ่ายไปทั้งหมดเทียบเท่ากับซื้อบ้านได้อีกหลังเลยนะครับ จึงควรซื้อบ้านที่ราคาไม่แพงเกินไป ช่วยให้ยอดผ่อนชำระรายเดือนน้อยลง จ่ายดอกเบี้ยน้อยลง และควรโปะบ้างถ้ามีเงินเหลือเก็บเพื่อไม่ให้เป็นภาระในระยะยาว
- จงเยี่ยมชมโครงการบ้านหลายแห่งก่อนตัดสินใจซื้อ
ก่อนซื้อบ้านควรไปดูคอนโด ทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว ตึกแถว หรือบ้านมือสอง ในหลายทำเลในหลายโครงการที่คุณสนใจ เพื่อมาเปรียบเทียบทำเลที่สะดวก ความคุ้มค่าด้านราคา โปรโมชั่น วัสดุและการออกแบบ ประโยชน์ใช้สอย ฯลฯ เลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับครอบครัวคุณเองนะคะ
- จงเก็บเงินอย่างน้อย 20% ของราคาบ้านก่อนซื้อ
ปกติธนาคารให้กู้ไม่เกิน 90% ของราคาประเมินนั้น หมายถึง ส่วนที่เหลือประมาณ 10% ผู้ซื้อบ้านต้องเตรียมเงินสดมาจ่ายเอง แล้วเงินเก็บอีก 10% ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ช่วงโอนและสำหรับค่าตกแต่งบ้านอีกด้วย กรณีที่ดินเปล่า ตึกแถว และบ้านมือสอง อาจต้องเตรียมเก็บเงินเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของราคาบ้าน เพราะธนาคารอาจให้กู้ได้น้อยกว่า 90% อาจให้กู้ในระยะเวลาที่สั้นลง และอาจต้องเตรียมจ่ายค่าปรับปรุงซ่อมแซมเพิ่มเติมไว้ด้วยนะคะ
- จงรักษาประวัติการชำระเงินให้ดี
ข้อนี้สำคัญมากเลยนะคะ เพราะประวัติการชำระเงินบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ของคุณจะถูกเก็บรวบรวมไว้ที่สำนักงานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของคุณในอนาคต ดังนั้นวางแผนชำระเงินให้ดีและะตรงเวลานะคะ
เจ้าตัวเล็ก
- จงวางแผนเรื่องมีเจ้าตัวเล็ก
ควรพูดคุยกันเรื่องต้องการมีลูกหรือไม่ แล้วถ้าต้องการมีอยากมีซักกี่คน เพื่อเตรียมเงินไว้ให้พร้อมสำหรับการเลี้ยงดูซึ่งค่าใช้จ่ายลูกแต่ละคนเลี้ยงจนโตเป็นหลักล้าน และจำนวนเงินที่ใช้มีความไม่แน่นอนซะด้วย ควรแบ่งเงินไว้เลี้ยงลูกแยกต่างหากจากเงินก้อนอื่น โดยเฉพาะเงินที่เอาไว้ลงทุนเพราะมีความเสี่ยงสูญหายไปจากการขาดทุน
- จงอย่ารอนานไปที่จะมีเจ้าตัวเล็ก
เพราะสังคมสมัยนี้แข่งขันสูงมีความเครียดมากขึ้น จึงมีลูกกันช้าลงและน้อยลงทุกที โดยอาจลืมไปว่าอายุยิ่งมากโอกาสมีลูกน้อยลงทวีคูณ จนทำให้บางคนอยากมีลูกตอนอายุมากแต่หมดโอกาสไป บางคนโอกาสเหลือน้อยต้องใช้เทคโนโลยีการแพทย์เข้าช่วยแต่ไม่มีเงินที่จะทำ ซึ่งน่าเสียดายมากเลย ดังนั้นอย่าลืมคิดเรื่องนี้กันไว้แต่เนิ่นๆเลยนะคะ
- จงเลี้ยงดูลูกตามกำลังทรัพย์ที่มี
บางคนส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาติทั้งๆ ที่เกินกำลังทรัพย์จะจ่ายไหว เหนี่ยวกันสุดชีวิตจนบางทีก็ไม่ไหว จนลืมไปว่าการศึกษาในห้องเรียนนั้นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสมัยนี้การศึกษานอกห้องเรียนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะคำสอนจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และคนที่อยู่ใกล้ชิดลูก จึงควรเอาความรู้เอาประสบการณ์ที่มีบวกกับหาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ มาสอนลูก แล้วอาจเลือกให้เข้าโรงเรียนสองภาษาหรือโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลูกฝังให้ลูกเป็นคนดีของสังคมแทน
- จงมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพียงพอ
การเติบโตและพัฒนาการของเจ้าตัวน้อยมีความสำคัญไม่แพ้ความสำเร็จเรื่องงาน ดังนั้นควรมีเวลาเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยตั้งแต่เล็กจนโต โดยเลือกงานเลือกวิธีการหาเงินให้มีเวลาเพียงพอ โอกาสมีเข้ามาในชีวิตเสมอขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเห็นและคว้าโอกาสนั้นได้หรือเปล่า
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่เปิดโอกาสให้แชร์แนวคิดเตรียมเงินสร้างครอบครัวที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แพรวเวดดิ้งขอให้คุณผู้อ่านทุกท่านประสบความสำเร็จในการมีชีวิตครอบครัวกันนะคะ
อ่านบทความเพิ่มเติม
7 เรื่องเล็กๆ ปัญหาชีวิตคู่ที่ส่งผลแรงถึงทรวงต่อชีวิตรักที่อาจทำให้ไปต่อไม่ได้
5 วิถีคนขี้กั๊ก ความรักไม่ชัดเจน ถ้าเจอแบบนี้ให้รู้ไว้เลยว่าคุณคือตัวเลือก
https://praewwedding.com/love-and-relationships/sex-and-relationship/91682
cr : krungsri.com, asyouwishweddings.ca, quickenloans.com, nationalpost.com