เปิดกรุ เครื่องประดับชุดไทย จากกรุทองโบราณแห่งสยามประเทศ

เครื่องประดับชุดไทย จากกรุเครื่องประดับทองโบราณ มรดกแห่งสยามประเทศ

เครื่องประดับทองโบราณ งานประณีตศิลป์ชั้นสูงจากทองคำ อวดฝีมือวิจิตรแห่งลวดลายไทยโบราณ ส่วนใหญ่มักนิยมทำเป็นเครื่องประดับสำหรับตกแต่งร่างกายและเสื้อผ้าอาภรณ์ หรือ เครื่องประดับชุดไทย ไม่ว่าจะเป็น ปิ่นปักผม ต่างหู สร้อยคอ ทับทรวง สังวาล สร้อยข้อมือ กำไล แหวน และป้ันเหน่งหรือหัวเข็มขัด เป็นต้น

ในอดีตนั้น เครื่องประดับทองเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูงเพราะเป็นของมีราคาและเป็นงานศิลป์ที่ต้องอาศัยความละเอียดในการทำเป็นอย่างยิ่ง จึงมีแต่ช่างทองหลวงในวังเท่านั้นที่ทำได้ ทั้งยังเชื่อกันว่าเครื่องทองเป็นของสูงชาวบ้านทั่วไปจึงไม่ใส่เครื่องประดับทองไปโดยปริยาย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไปเริ่มมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งกับคนในชาติและต่างชาติ มุมมองที่มีต่อเครื่องประดับทองของชาวบ้านก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนที่พอมีเงินมีทองก็จะซื้อหาเครื่องประดับทองมาใส่เพื่อเพิ่มบารมีให้กับตนเอง จากสุโขทัยสู่อยุธยา จวบจนรัตนโกสินทร์ ผ่านการเดินทางกว่าพันปีงานทองประณีตศิลป์ไทย จึงไม่เป็นเพียงของสะสมอันล้ำค่าสำหรับผู้ถือครอง แต่ยังเป็นงานศิลปะชั้นเอกที่บ่งชี้เอกลักษณ์และความเป็นมาอันยิ่งใหญ่ของชาติไทยได้เป็นอย่างดี

เครื่องประดับชุดไทย
เครื่องประดับจากกรุช่างทองโบราณ

จากซ้าย : ปิ่นปักผมทองคำสลักดุนลายไทยโบราณประดับทับทิมสยาม, ปิ่นประดับเพชรลูกโลกและพลอย, ปิ่นช่อชั้นทรงเจดีย์แบบล้านนาประดับพลอย

ปิ่นปักผม ปิ่นเป็นเครื่องประดับของสตรีล้านนามาตั้งแต่สมัยโบราณ หัวปิ่นอาจทำด้วยพลอยสีแก้ว ทองเหลือง เงิน ทองคำ แล้วแต่ฐานะความเป็นอยู่ โดยปิ่นปักผมนั้นคนเหนือเดิมเรียกว่าหย่อง เวลาใช้จะมีสายเชือกมัดปลายผมแล้วเสียบตัวปิ่นเข้าไปในมวย

เครื่องประดับชุดไทย
เครื่องประดับจากกรุช่างทองโบราณ

1. ต่างหูทองคำแกะลายโบราณทั้งแบบปะวะหล่ำเชือกฟั่นเกลียว (ขวาบน) 2. แบบพวงเต่าร้างประดับพลอย (ขวาล่าง) 3-4. แบบดอกบัวสัตบงกตรูปกลมชิ้นเดียว และ 2–3 ชิ้นต่อเป็นช่อท้ายลงมา (ซ้ายบนและซ้ายล่าง)

ต่างหูปะวะหล่ำ เป็นงานที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน โดยความเชื่อว่าโคมไฟให้ความสว่างไสวเปรียบประดุจความก้าวหน้า ความเจริญรุ่งเรือง มีลักษณะเด่นที่รูปทรงกระบอกโปร่งหกเหลี่ยม เป็นลวดลายที่แสดงลักษณะเฉพาะของงานเครื่องทองเพชรบุรี ส่วนลวดลายเต่าร้าง และสัตบงกตนั้นจัดอยู่ในหมวดลวดลายพฤกษาที่มีต้นแบบมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผ่องใสและความเจริญรุ่งเรือง

Recommended