เมื่อได้ฤกษ์แต่งงานมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่เจ้าบ่าวสายตี๋ต้องเตรียม ขันหมากจีน ไปสู่ขอเจ้าสาวอาหมวย ซึ่งเครื่องขันหมากจีนทั้งหมดของฝ่ายเจ้าบ่าวนั้นจะต้องติดตัวอักษรจีน ‘ซังฮี้’ ที่หมายความว่าคู่ความสุข คู่ความยินดี ไว้ด้วย รู้อย่างนี้แล้วก็เตรียมตัวอักษรไว้ให้พร้อม แล้วนำมาติดไว้กับของในขันหมากที่ต้องเตรียมตามนี้ได้เลย
1. เครื่องขันหมาก หรือ เพ้งกิม
แน่นอนว่าสิ่งแรกที่เจ้าบ่าวต้องเตรียมมาก็คือ สินสอดทองหมั้นตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งในส่วนของทองนั้นส่วนใหญ่คนจีนจะเรียกว่า ‘สี่เอี่ยกิม’ หรือทอง 4 อย่าง คือกำไลทอง, สร้อยทอง, ต่างหูทอง และเข็มขัดทอง ส่วน ‘เพ้ง’ หรือเงิน เจ้าบ่าวจะต้องแยกไว้ทั้งหมด 4 ซองเพื่อให้กับพ่อแม่ของเจ้าสาว ซองแรกคือค่าน้ำนม, ซองที่สองคือ ค่าเสื้อผ้า, ซองที่สามคือ ค่าทำผม และซองที่สี่ไว้สำหรับเป็นทุนตั้งตัว ซึ่งงานนี้ไม่ได้เตรียมให้แค่พ่อแม่อย่างเดียวนะคะ เพราะถ้าหากอากงอาม่าของเจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ เจ้าบ่าวจะต้องเตรียมอั่งเปาไว้ให้ทุกคนเป็นพิเศษอีกด้วย (ในบางครอบครัวที่เคร่งจัดๆ อาจเพิ่มชุดหัวหมู 1 ชุด)
2. กล้วยสีเขียวทั้งเครือ
ให้ความหมายว่าดึงสิ่งดีสู่บ่าวสาวและอวยพรให้มีลูกหลานสืบสกุลมากๆ ฉะนั้นเวลาจะสรรหากล้วยมาเข้าพิธีต้องคัดที่เครือใหญ่ๆ สีเขียวๆ ยิ่งถ้านับจำนวนหวีในเครือได้เป็นเลขคู่ด้วยละก็ เชื่อว่าจะได้ลูกแฝดมาเชยชม พร้อมกับใช้กระดาษแดงพันไว้ที่ก้านเครือด้วย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ทุกลูกต้องติดตัวอักษรซังฮี้สีแดง ย้ำนะคะ ต้องติดทุกลูกทั้งเครือ เมื่อเข้าพิธีสู่ขอแล้ว ฝ่ายชายเป็นผู้นำกล้วยเครือนี้กลับบ้านไป
3. ต้นอ้อย
ไม่ต่างจากคนไทยที่เชื่อว่า อ้อยคือตัวแทนความหอมหวานของชีวิตคู่ ดังนั้นเจ้าบ่าวจึงต้องสรรหา อ้อยปล่องโตมา 1 คู่ แต่เรื่องอ้อยนี้แล้วแต่บ้านเหมือนกันนะคะ เพราะบางบ้านรู้สึกว่า อ้อยนั้นแม้จะหวานแต่เวลากินยากลำบากต้องปอกเปลือก ต้องแทะ ก็อาจตัดอ้อยออกจากสิ่งที่เจ้าวบ่าวต้องเตรียมาได้
4. ส้มเช้งผลเขียว
ส้มนั้นเป็นสัญลักษณ์ของผลไม้มงคลที่เชื่อว่าจะให้โชคดี โดยต้องเตรียมไว้เป็นเลขคู่ เช่น 44, 84 หรือร้อยกว่าลูกไปเลยก็ได้ถ้าใจถึง พร้อมกับติดตัวหนังสือซังฮี่สีแดงทุกผล ซึ่งนอกจากจะต้องเตรียมเป็นเลขคู่แล้ว ต้องเตรียมให้เท่ากับที่ตกลงกับฝ่ายหญิงไว้ด้วย แต่สมัยนี้ก็อาจยืดหยุ่นกันไปตามฐานะได้
5. ขนมหมั้น,ขนมแต่งงาน หรือขนมจันอับ
ในสมัยก่อนที่เคร่งครัดในธรรมเนียมปฎิบัติมากๆ จะให้ฝ่ายเจ้าสาวเป้นผู้กำหนดชนิดและจำนวนขนมที่จะยกไปสู่ขอแต่งงาน แต่หลังๆ มีร้านค้ามากมายทำกิจกรรมจัดขนมแต่งงานสำหรับลูกหลานชาวจีน ก็ขอเพียงสั่งมาให้มีในพิธีเป็นพอ
ขนมที่ว่าได้แก่ ขนม 4 สีที่เรียกว่า “ซี้เส็กหม่วยเจี๊ยะ” หรืออาจเป็นขนม 5 สี ที่เรียกว่า “โหงวเส็กทึ้ง” ประกอบด้วย ขนมเหนียวเคลือบงา, ขนมเปี๊ยะโรยงา, ขนมถั่วตัด,ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน บางบ้านอาจให้มงคลเกิดเต็มที่ก็อาจขอให้จัดน้ำตาลทราย ซาลาเปาไส้หวานและคุกกี้กระป๋องด้วย โดยต้องจัดเตรียมไว้เป็นชุดตามจำนวนแขกที่ฝ่ายหญิงเชิญมา ซึ่งขนมที่เพิ่มพิเศษนี้เรียกว่า “สั่งเปี้ย” แปลว่า ให้ขนมค่ะ
6. ถาดหมูสด
ถ้าเป็นงานแต่งงานแบบจีนแท้ๆ จีนจัดๆ ต้องมีชุดหมูค่ะ โดยจะมีด้วยกันถึง 3 ถาด แต่ละถาดวางหมูในสัดส่วนต่างๆ ไป คือถาดที่ 1 วางหัวหมูพร้อม 4 เท้าและ 1 หาง (อย่าลืมตัดเล็บหมูให้เรียบร้อย และติดตัวหนังสือซังฮี่) ถาดที่ 2 วางขาหมูสดติดตัวซังฮี่ ถาดที่ 3 วางเนื้อหมูตรงส่วนท้องของแม่หมูเท่านั้น เพื่ออวยพรให้เจ้าสาวได้เป็นแม่คน และเอาเคล็ดให้ได้ลูกชาย แต่ถ้าบ้านไหนไม่สะดวกจัดถาดของสด ก็อาจนำเงินใส่ซองแล้วเขียนหน้าซองว่าสำหรับซื้อหมูแต่ละถาดแทนก็ได้
ซึ่งตามธรรมเนียมบอกว่า ฝ่ายหญิงต้องให้ชุดหมูกับเจ่าบ่าวกลับไปด้วย แต่เป็นถาดวางหัวใจหมูที่ต้องเป็นหัวใจทั้งยวงที่ยังมีปอดและตับติดอยู่ด้วยกัน โดยเมื่อเสร็จพิธีจะนำหัวใจนี้มาแบ่งให้ฝ่ายชายนำกลับไปครึ่งใจ อีกครึ่งใจไว้บ้านฝ่ายหญิง แล้วนำไปประกอบอาหารทานร่วมกัน ซึ่งคงเดาไม่ยากใช่ไหมละว่าหัวใจคือ เคล็ดอวยพรให้หญิงชายมีจิตใจร่วมกันเป็นใจหนึ่งใจเดียวกัน
7. ของเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว
ที่บ้านแต่ละบ้านมักมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเวลาที่หนุ่มๆ จะเข้าไปสู่ขอลูกสาวบ้านจีนมาเป็นภรรยา ต้องไม่ลืมเตรียมของไหว้อีก 2 ชุด สำหรับไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษ โดยของไหว้ก็ไม่มีอะไรมากมาย จัดเตรียมของคาว ขนมหวาน ผลไม้ เหล้า พร้อมอาหาร 10 อย่าง และที่ขาดไม่ได้คือ เส้นหมี่ เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่ยืนยาวและนิยมหา เถ้าแก่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่นับถือและมีชีวิตครอบครัวที่ดีมาเป็นผู้นำขบวนหรือช่วยถือของขันหมากเพื่อเป็นสิริมงคล
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิธีแต่งงานจีน
Step by Step พิธีแต่งงานจีน แบบเป๊ะๆ จัดอย่างนี้สิผู้ใหญ่ปลื้ม
เช็คลิสต์! ของแต่งงานจีนที่เจ้าสาวต้องเตรียม
ทานขนมอี๋แบบนี้ในงานแต่ง รับรองมีแต่เฮงเฮงเฮงแน่นอน!!