วิวาห์บาบ๋า เอกลักษณ์งานแต่งงานอันเป็นเอกลักษณ์แห่งปักษ์ใต้

วิวาห์บาบ๋า เอกลักษณ์งานแต่งงานแห่งปักษ์ใต้

เนื่องจากวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลง และผู้คนที่หลากหลายทำให้ปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบใต้โบราณถูกลดทอนลงไปมากจนเกือบเลือนหายไป แต่ยังคงมีอีกประเพณีแต่งงานของภาคใต้ที่ยังได้รับการสืบสานมาจนถึงวันนี้ นั่นคือ ประเพณีแต่งงานแบบบาบ๋า หรือ วิวาห์บาบ๋า ของชาวภูเก็ตนั่นเอง

วิวาห์บาบ๋า มรดกทางวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต วิวาห์บาบ๋าเป็นประเพณีแต่งงานของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนที่สืบทอดมานานกว่า 100 ปี ซึ่งผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของคนจีนกับชาวภูเก็ตเข้าด้วยกัน โดยพิธีแต่งงานจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่การสู่ขอ หมั้นหมาย ไปจนถึง “พิธีผ่างเต๋” ซึ่งเป็นพิธียกน้ำชาแบบจีน และพิธีส่งตัวบ่าวสาวเข้าห้องหอโดยมีแม่สื่อหรืออึ่มหลางเป็นผู้ทำพิธีให้

ในสมัยก่อนยังไม่มีร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงแรมไว้รองรับ การจะจัดงานแต่งได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงของคนในชุมชนมาช่วยกันจัดสถานที่ ทำขนม เตรียมกับข้าว จัดชุดเจ้าสาว ฯลฯ โดยงานจะจัดขึ้นทั้งหมด 7 วัน 7 คืนด้วยกัน

พิธีแต่งงานแบบบาบ๋า ขบวนขันหมากสุดสง่างาม

ขบวนเจ้าบ่าวจะมีการจุดประทัดเพื่อเป็นการเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังบ้านเจ้าสาว นำโดยรถ “โพถ้อง” ของชาวภูเก็ตซึ่งภายในมีนักดนตรีบรรเลงเพลงไปตลอดทางจนถึงบ้านเจ้าสาว ส่วนเจ้าบ่าวจะนั่งรถ “ปาเก้” หรือรถหรูให้สมกับฐานะ

เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะจุดประทัดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งบ้านฝ่ายหญิงจะจัดเด็กชาย-หญิงไว้ต้อนรับฝ่ายเจ้าบ่าวพร้อมกับมอบบุหรี่ใส่พานให้ ส่วนเจ้าบ่าวจะให้อั่งเปาเป็นการตอบแทน จากนั้นเจ้าบ่าวจะเข้ามาพร้อมกับขบวนขันหมาก ซึ่งประกอบด้วยฮวดหนา (ตะกร้าจีนเล็ก) ใส่เงินทองของหมั้น และเสี่ยหนา (ตะกร้าจีนขนาดใหญ่) ภายในมีอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ชุดน้ำชา ธูปเทียน เครื่องหอมเซ่นไหว้ โดยมีแม่สื่อเป็นผู้มอบให้

จากนั้นแม่สื่อจะพาบ่าวสาวออกมาไหว้เทวดาฟ้าดินที่หน้าบ้านแล้วทำ “พิธีผ่างเต๋” หรือการคารวะผู้ใหญ่ด้วยน้ำชามงคล ต่อด้วยพิธีไหว้พระที่ศาลเจ้าซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวบาบ๋าเพื่อขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งส่วนมากนิยมไปไหว้ศาลเจ้าใกล้บ้าน หรือศาลเจ้าที่มีชื่อเสียง เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิมที่เหมาะกับการขอบุตร หรือหลวพ่อแช่มที่วัดฉลอง ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวภูเก็ต

วิวาห์บาบ๋า

วัฒนธรรมการแต่งกายบาบ๋า

ชุดบ่าวสาวสุดตระการตาตามแบบโบราณ เป็นชุดที่ผสทผสานระหว่างความเป็นจีนกับมาเลย์ไว้ด้วยกัน เจ้าสาวจะสวมเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีอ่อนแขนยาวคอตั้งแบบจีนนุ่ง คู่กับผ้าถุงปาเต๊ะสีเดียวกัน สวมทับด้วยเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย แล้วติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ หรือ “โกสัง” เป็นเข็มกลัด 3 ชิ้นที่เสื้อด้านนอก เพิ่มความหรูหราด้วยเครื่องประดับอย่างสร้อย กำไลข้อมือข้อเท้า แหวน และรองเท้าปักดิ้นเพื่อแสดงถึงความมั่งคั่ง ส่วนชุดเจ้าบ่าวเรียบหรูดูดีด้วยชุดสูทสากลติดดอกไม้ที่หน้าอก หรือเข็มกลัดประดับพู่สีชมพูเพื่อความสวยงาม

“เกล้ามวยชักอีโบย”

ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าสาวบาบ๋า โดยการหวีผมด้านหน้าให้เรียบตึงแล้วเกล้าขึ้นสูง จากนั้นรวบผมเป็นมวยไว้ที่ด้านบน ส่วนผมด้านข้างตีโป่งออกมาเรียกว่า “อีโบย” หรือ “แก้มปลาช่อน” แล้วจึงสวมมงกุฎทองครอบมวยผมเอาไว้

“มงกุฎดอกไม้ไหว”

มงกุฎทองที่เจ้าสาวใช้ครอบมวยผมจะมีหงส์ประดับอยู่ด้านบน เพราะคนจีนเชื่อว่าหงส์เป็นสัตว์ปีกที่มีความยิ่งใหญ่และมักปรากฏตัวในที่ร่มเย็นพร้อมเสียงร้องอันกังวาน เหมือนเป็นการสอนให้เจ้าสาวมีวาจาที่อ่อนหวาน ดูแลครอบครัวด้วยความร่มเย็น และหากสามีเป็นอะไรไปต้องลุกขึ้นมาเป็นใหญ่แทนสามีได้ ส่วนที่ติดอยู่บนมงกุฎอีกอย่างคือ ผีเสื้อกับดอกไม้ที่แทนความยั่งยืนของชีวิตแต่งงาน ซึ่งดอกไม้ที่ประดับบนมงกุฎนั้นสามารถเคลื่อนไหวได้ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความตื่นเต้นของเจ้าสาวที่จะได้พบกับเจ้าบ่าวในวันแต่งงาน

ปัจจุบันชาวเมืองภูเก็ตยังคงสืบสานวัฒนธรรมนี้เอาไว้ด้วยการจัดงาน “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” แต่ย่นระยะเวลาจาก 7 วันให้เหลือเพียง 1 วันเท่านั้น โดยยังคงไว้ซึ่งความสวยงามและอลังการเช่นเดิม

อ่านพิธีแต่งงานเพิ่มเติม
พิธีแต่งงานชาวเหนือ อีกหนึ่งพิธีแต่งงานที่เต็มไปด้วยความเป็นสิริมงคล
พิธีแต่งงานอีสาน อีกหนึ่งประเพณีงานแต่งงานที่น่าสืบสานไว้

ภาพ www.openphuketmag.com, www.matichon.co.th, pinterest

Recommended