พิธีแต่งงานอีสาน อีกหนึ่งประเพณีงานแต่งงานที่น่าสืบสานไว้

ส่อง พิธีแต่งงานอีสาน แบบครบจบทุกกระบวนการที่น่าสืบสานเอาไว้ให้คงอยู่

งานแต่งงานของหนุ่มสาวอีสานยุคนี้มีการลดทอนประเพณีบางอย่างออกไปทำให้ดูไม่แตกต่างจากงานแต่งงานของภาคกลางมากนัก มีเพียงการ “สู่ขวัญ” แทนพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์เท่านั้นที่ยังคงเป็นจุดต่างอย่างชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นงานแต่งงานของบ่าวสาวชาวอีสานบางคู่ก็ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่น่าสนใจเอาไว้อยู่หลายอย่าง งั้นลองมาดูกันสิว่า พิธีแต่งงานอีสาน มีอะไรที่น่าสนใจ แตกต่าง หรือเหมือนกับประเพณีงานแต่งงานทั่วไปหรือไม่ (**ทั้งนี้ทั้งนั้นแต่ละพิธีการขึ้นอยู่กับความเชื่อ หรือประเพณีแต่ละท้องถิ่นที่ถือปฏิบัติแตกต่างกันไปด้วยนะคะ)

“การโอม” พิธีสู่ขอ

เมื่อตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว ฝ่ายชายต้องให้เจ้าโคตร (ผู้ใหญ่ที่มีอาวุโสที่สุดของตระกูล) ไปสู่ขอฝ่ายหญิงซึ่งเรียกว่า “การโอม” โดยเตรียมขันใส่หมากจีบพลูพันเงิน 3 บาท ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่ขัดข้องก็จะรับไว้แล้วพูดคุยเรื่องสินสอด

“กินดอง” ประกาศข่าวดี

ในแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน แต่สำหรับทางอีสานใต้ การ “กินดอง” คือการที่ฝ่ายชายเตรียมของกินดอง (ข้าวสาร เหล้าขาว ผ้าโสร่ง กล้วย เงินตามเลขมงคล เช่น 3 บาท หรือ 9 บาท เป็นต้น) แล้วให้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายนำไปให้ฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายหญิงก็จะต้องเตรียมของกินดองอีกชุดให้ฝ่ายชายด้วย โดยจะให้กลับในวันเดียวกันหรือนำไปให้ทีหลังก็ได้ ทั้งนี้เพื่อบอกกล่าวแก่กันว่าเร็วๆ นี้จะมีงานมงคลระหว่าง 2 บ้านเกิดขึ้น

“ช่วยงาน” ก่อนวันแต่ง

ก่อนวันแต่งงาน 1 วัน ทางบ้านเจ้าสาวและเจ้าบ่าว (บ้านใครบ้านมัน) จะต้องเตรียมเนื้อหมูสด เหล้า เบียร์ และกับข้าวมงคล 3-4 อย่าง เช่น ลาบ แกงหมูใส่บวบ ก้อย เพื่อเอาไว้เลี้ยงคนที่มา “ช่วยงาน” ซึ่งในที่นี้คือคนที่นำซองเงินมาให้นั่นเอง โดยเมื่อให้ซองแล้วผู้ให้จะบอกกล่าวว่าต้องการอะไรกลับไป ซึ่งเจ้าบ้านก็ต้องจัดให้อย่างเหมาะสมกับจำนวนเงิน

“พิธีสู่ขวัญ” แต่งงานแบบอีสาน

เมื่อฝ่ายชายแห่ขันหมากผ่านด่านประตูเงินประตูทองเข้ามา จะต้องมีญาติผู้น้องของเจ้าสาวไปจูงพี่เขยมากราบธรณีประตู เหยียบก้อนหิน (เพื่อให้หนักแน่น) แล้วทำพิธีล้างเท้าบนใบตอง ก่อนจะก้าวข้าวธรณีขึ้นมาบนเรือน หลักจากมอบสินสอดและตรวจนับเรียบร้อยแล้ว จะมีการประกาศจำนวนสินสอดพร้อมเรียกคนในหมู่บ้าน “มาโฮม (ผูกข้อมือ) รับขวัญลูก/ หลานเขย”

พิธีแต่งงานอีสาน

จากนั้นหมอสูตรจึงเริ่มทำพิธีสู่ขวัญ เมื่อจบพิธีญาติๆ จะโยนข้าวสารโรยดอกดาวเรืองใส่บ่าวสาวที่นั่งคุกเข่าจับพาขวัญ (พานบายศรี) ไขว้กันอยู่เพื่อความเป็นสิริมงคลและเจริญงอกงาม สุดท้ายหมอสูตรจะปอกเปลือกไข่ต้มในพานขวัญแล้วผ่ากลางเพื่อทำนายคู่บ่าวสาว เช่น อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ร่ำรวย มีลูกชายหรือลูกสาว ฯลฯ แล้วจึงให้บ่าวสาวกินไข่คนละครึ่ง

ลำดับต่อมา พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่จะนำฝ้ายจากพาขวัญมาผูกเงินแล้วไปผูกข้อมือบ่าวสาวอีกทีพร้อมกับอวยพรเพื่อรับขวัญ ส่วนทางบ่าวสาวก็ต้องเตรียมของมอบกลับให้ด้วย ซึ่งนิยมมอบเสื่อผูกติดกับหมอน หากญาติเยอะก็เตรียมไว้ให้เฉพาะญาติอาวุโส ส่วนญาติที่เหลือก็ไหว้ขอบคุณตามปกติ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจึงเป็นพิธีส่งตัวเข้าหอ และเลี้ยงอาหารรับรอง (ในวันนี้บางบ้านอาจนิมนต์พระมาทำบุญตักบาตรตอนเช้าก่อนด้วย)

“ผูกข้อมือ” รับขวัญสะใภ้

ธรรมเนียมของชาวอีสานใต้นั้น หลังเสร็จพิธีที่บ้านฝ่ายหญิงแล้ว ต้องไปทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญสะใภ้ที่บ้านฝ่ายชายในวันเดียวกัน (เลี่ยงเวลาบ่ายโมงเพราะถือว่าเป็นเวลาผีออกป่า) เมื่อเดินทางใกล้ถึงบ้านเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนเดินเข้าบ้าน ซึ่งเจ้าสาวต้องเตรียมซองไว้ให้คนกั้นประตูเงินประตูทองด้วย จากนั้นญาติผู้น้องของเจ้าบ่าวจะมาจูงนิ้วก้อยของเจ้าสาวไปทำพิธีล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน ซึ่งพ่อแม่ของเจ้าบ่าวจะเตรียมโสร่งและผ้าซิ่นรอไว้นุ่งให้บ่าวสาวเพื่อเป็นการรับขวัญสะใภ้ ก่อนจะจบด้วยการอวยพรผูกข้อไม้ข้อมือพร้อมเงิน สำหรับบางคนที่ให้เงินกับมือ บ่าวสาวก็จะรับมาใส่ขันเงินที่เตรียมไว้แล้วมอบหมากพลูกลับไป เสร็จแล้วจึงนับเงินและประกาศว่าบ้านนี้รับขวัญสะใภ้เงินเท่าไหร่แล้วจึงเลี้ยงรับรอง (หากบ้านเจ้าบ่าวไกลมากอาจงดพิธีนี้ได้)

ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่หรือบางครอบครัวอาจมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันไป บทความนี้เป็นเพียงการสะท้อนภาพขนบธรรมเนียมของชาวอีสานในท้องถิ่นหนึ่งที่นับวันจะค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลา

อ่าน พิธีแต่งงานภาคเหนือ ได้ที่นี่เลย

ภาพเปิด งานแต่งคุณตุ๊กกี้-สุดารัตน์ บุตรพรหม และคุณบูบู้-กำธร โพธิ์น้ำคำ ถ่ายภาพโดย Photo Painter (HD e-lee studio)
ภาพประกอบ kapook.com

Recommended