รู้ยัง? แต่งงานแล้วมีสิทธิลดหย่อนภาษีได้เพียบ!

ข้อดีของการแต่งงานมีมากมายหลายอย่างเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น แต่งงานแล้วมีความสุข สุขภาพดี ช่วยกันสร้างเนื้อสร้างตัว มีคู่ชีวิตไว้คอยปรึกษา และอีกหนึ่งประโยชน์ล่าสุดของการ แต่งงาน คือ สิทธิลดหย่อนภาษี คู่สมรส คำนวณกันให้ดีๆ ลดได้ถึง 120,000 บาท!

แต่งงาน กันทั้งทีได้ สิทธิลดหย่อนภาษี คู่สมรสเพียบ

ภาพถ่ายโดย Ketut Subiyanto จาก Pexels

ในปัจจุบันนี้ คู่สมรสที่แต่งงานและจดทะเบียนกันอย่างถูกกฎหมาย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรสได้ โดยมีรายละเอียดการยื่นภาษีและข้อกำหนดสำหรับการลดหย่อนหลักๆ ดังนี้

1. กรณีสามีหรือภรรยา คนใดคนหนึ่งไม่มีรายได้

สำหรับข้อนี้ใครที่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีเงินได้จากการทำงานประจำ เมื่อถึงเวลายื่นแบบภาษี สามีจะนำค่าเลี้ยงดูภรรยามาคำนวณลดหย่อนภาษีได้ถึง 60,000 บาท / ปี ถึงแม้ว่าสามีจะให้เงินภรรยาใช้จ่ายเป็นรายเดือน แต่ในทางกฎหมายก็ยังถือว่าภรรยาเป็นผู้ไม่มีเงินได้

สำหรับภรรยาที่เป็นผู้มีเงินได้ แต่สามีไม่มีเงินได้ กรณีนี้ ภรรยาสามารถหักลดภาษีในฐานะผู้มีเงินได้ 60,000 บาท และหักลดในส่วนของสามีได้อีก 60,000 บาท รวมเป็น 120,000 บาท โดยการยื่นแบบภาษีให้แจ้งสถานะคู่สมรสไม่มีรายได้

ในข้อนี้ยังครอบคลุมไปถึงเงินในรูปแบบดอกเบี้ยเงินฝากและเงินปันผล ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว 15% และ 10% ตามลำดับ โดยไม่มีการนำเงินที่ได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลดังกล่าวมาคำนวณรวมกับเงินได้อื่นๆ กรณีนี้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท เช่นกัน

ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels

2. ลดหย่อนภาษีของบิดามารดาคู่สมรส

ข้อนี้หลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า สามารถลดหย่อนภาษีจากการเลี้ยงดูบิดา-มารดาของตนเองได้ (ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท) แต่รู้หรือไม่ว่า ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดาของคู่สมรส (พ่อตาแม่ยาย) ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน

ในกรณีต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีบิดามารดาคู่สมรส มีเงื่อนไขดังนี้

  • คู่สมรสไม่มีรายได้เลยในปีภาษีนั้น
  • คู่สมรสเป็นลูกแท้ๆ ตามกฎหมายของบิดา-มารดา
  • บิดา-มารดาของคู่สมรสต้องมีอายุครบ 60 ปีแล้วในปีภาษีนั้น (ไม่ใช่ปีที่ยื่นแบบภาษี)
  • บิดา-มารดาของคู่สมรสอยู่ในความดูแลของเราเอง
  • บิดา-มารดาของคู่สมรสมีรายได้ทั้งปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท (รวมถึงเงินบำนาญ, ดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินจากการขายหุ้น)
  • บิดาหรือมารดาต้องอยู่ในประเทศไทยอย่างน้อย 180 วันในปีภาษีนั้น

สำหรับใครที่ต้องการยื่นขอลดหย่อนภาษีทั้งพ่อแม่ของเราเอง และพ่อตาแม่ยาย ในกรณีนี้ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ท่านละ 30,000 บาท ถ้าเราใช้สิทธิลดหย่อนของทุกคน ก็จะลดได้ถึง 120,000 บาท แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง คือ ถ้าคุณมีพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ต้องแบ่งค่าลดหย่อนกันให้ลงตัว เพราะบิดาและมารดาจะคิดเป็น 1 คน 1 สิทธิ และสามารถนำไปใช้สิทธิได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น เช่น ในปีภาษีนี้น้องสาวของคุณใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของพ่อ คุณจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของแม่ได้เท่านั้น โดยใช้หลักการเดียวกันนี้กับบิดา-มารดาของคู่สมรสด้วย ระวังอย่าให้มีการใช้สิทธิซ้ำกัน เพราะจะไม่มีใครได้สิทธิลดหย่อนภาษีเลย

3. ลดหย่อนค่าประกันสุขภาพของบิดา-มารดาคู่สมรส

นอกจากจะสามารถลดหย่อนค่าประกันสุขภาพของพ่อแม่ตัวเองได้แล้ว หากคุณซื้อประกันสุขภาพให้พ่อตาแม่ยาย ก็สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยสามารถลดได้ตามที่จ่ายจริง และไม่เกิน 15,000 บาท รวมถึงใช้เงื่อนไขเดียวกันกับการลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดาตามในข้อ 2

ภาพถ่ายโดย Emma Bauso จาก Pexels

4. ลดหย่อนภาษีของบุตร

ข้อนี้เฉพาะเจาะจงสำหรับคู่สมรสที่มีลูก สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีบุตรได้คนละ 30,000 บาท หากบุตรคนที่สองเป็นต้นไปเกิดในปีพ.ศ. 2561 หรือหลังจากนั้น จะได้สิทธิลดหย่อนคนละ 60,000 บาท / ปี

ในกรณีมีบุตรบุญธรรมที่เซ็นรับรองตามกฎหมาย สามารถนำมาใช้ขอสิทธิลดหย่อนทางภาษีได้เช่นกัน ซึ่งลดได้คนละ 30,000 บาท อย่างไรก็ตาม ถ้าคู่สมรสมีทั้งลูกแท้ๆ และลูกบุญธรรม จะสามารถขอลดหย่อนภาษีบุตรได้ไม่เกิน 3 คน และจะต้องนับลูกแท้ๆ ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีก่อน กล่าวคือ มีลูกแท้ๆ 2 คน ลูกบุญธรรม 1 คน แบบนี้ยังสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของบุตรได้ครบทั้งหมด แต่ถ้ามีลูกแท้ๆ 3 คน ลูกบุญธรรม 1 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนของลูกบุญธรรมได้

เงื่อนไขการยื่นขอลดหย่อนภาษีบุตรมีดังนี้

  • บุตรอายุไม่ถึง 20 ปี หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  • อายุ 20-25 ปี หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่ยังอยู่ในวัยเรียนระดับอนุปริญญาหรือระดับปริญญาตรีขึ้นไป
  • อายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่มีคำสั่งศาลให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  • บุตรที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ต้องไม่มีรายได้ หรือหากมีรายได้ต้องไม่ถึง 30,000 บาท

สิทธิประโยชน์สำหรับคนมีคู่แบบนี้เหมือนได้โปรโมชั่น ลดสนั่น กระหน่ำเซลล์ รู้แบบนี้แล้วหนุ่มสาวคนไหนที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำแต่ยังไม่ได้แต่งงาน รีบชวนหวานใจมาจัดงานแต่งและจดทะเบียนสมรสกันให้เรียบร้อย จะได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี เก็บเงินส่วนนั้นไว้เป็นสร้างรากฐานครอบครัวที่มั่นคงกันเถอะจ้า

ยังมีข้อดีจากการแต่งงานอีกมากมาย ตามไปอ่านกันได้ เผื่อคู่รักคู่ไหนจะเปลี่ยนใจมาแต่งงานกันเร็วขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : itax.in.th, rd.go.th (กรมสรรพากร)

Recommended