ใส่ชุดไทยทั้งทีก็ต้องงามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า และถึงแม้ว่าชุดไทยของคุณจะยาวจนลากพื้น แต่ รองเท้าเจ้าสาว ที่จะใส่ก็ต้องเลือกกันแบบพิถีพิถันสักนิด ใครที่ไม่รู้ว่าจะเลือกอย่างไรให้เข้ากับชุด แพรว wedding มีเทคนิคการจับคู่ รองเท้าชุดไทย มาฝากจ้า
1. เลือกสีรองเท้าให้เข้ากับสีชุด
สิ่งแรกที่คุณว่าที่เจ้าสาวจะต้องทำคือ ดูว่าคุณเลือกใส่ชุดไทยสีอะไร เช่น ถ้าชุดเป็นสีทอง สีน้ำตาล หรือสีโทนอ่อน อาจเลือกสีรองเท้าสีเดียวกันกับชุด หรือรองเท้าสีทองที่เป็นสีกลางๆ ก็ยังเข้ากันได้ แต่ถ้าคุณเลือกใส่ชุดสีโทนเย็น เราแนะนำให้คุณเลือกรองเท้าที่สีเดียวกับชุดเลยจะดีที่สุด ถ้าหาไม่ได้แนะนำให้สแตนบายด์รองเท้าสีกลางๆ อย่าง สีเงิน สีขาว สีเบจ สีครีม หรือสีเนื้ออ่อนไว้ก่อนก็ได้นะคะ
2. ปิดปลายเท้าจะดีกว่า
ใครที่เลือกชุดไทยที่ผ้านุ่งยาวแค่ข้อเท้าหรือหน้าเท้า ไม่ได้กรอมพื้นปิดไปทั้งหมด เราแนะนำว่าให้เลือกรองเท้าที่ปิดหน้าเท้าจะดูสวยและสุภาพมากกว่า โดยสามารถเลือกได้ทั้งแบบหัวแหลมหรือหัวมน ลองดูว่าคุณใส่แบบไหนแล้วไม่เจ็บนิ้วเท้า เดินสบาย ไม่ทรมาน ก็จัดไปเลยค่ะ หรือหากสวมชุดแบบโจงกระเบนก็ควรเลือกรองเท้าแบบหัวปิดเพราะดูสวยและเป็นทางการเข้ากับชุดมากกว่า
หรือหากเจ้าสาวคนไหนที่สวมผ้านุ่งแล้วกังวลในเรื่องรูปร่างกลัวว่าตัวจะดูตันเพราะปิดไปหมด ก็อาจจะเลือกเป็นรองเท้าแบบหัวเปิดก็ได้เพื่อช่วยให้เจ้าสาวดูโปร่งและสง่าขึ้น
3. รองเท้าสีขาว/สีทองกับชุดไทยสมัย ร.5
ชุดไทยสไตล์แขนหมูแฮมพองๆ นุ่งคู่กับโจงกระเบนหลากสี เห็นทีรองเท้าที่จะเข้ากับชุดมากที่สุดคงหนีไม่พ้นรองเท้าส้นสูงสีขาว จะเป็นแบบรัดข้อเท้า คัทชู หัวแหลม หัวมน หรือจะใส่แบบเปิดปลายเท้าให้นิ้วเท้าได้หายใจก็ยังได้ แต่แนะนำว่าอย่าลืมของสำคัญอย่างถุงน่องสีขาวนำมาใส่คู่กันให้ดูสวยเพอร์เฟ็กต์ให้สมกับความเป็นแม่หญิงในยุคนั้นด้วยนะคะ
4. อย่าให้รองเท้าเด่นเกิน
ว่าที่เจ้าสาวต้องตระหนักไว้เสมอว่า ชุดไทยของบ้านเรานั้นมีความเลื่อมลายวิบวับมากอยู่แล้ว ไหนจะดิ้นเงินดิ้นทองที่กระหน่ำปักลงไป ไหนจะลูกไม้ลายพร้อย และเครื่องประดับทองเต็มตัว ฉะนั้นคุณควรเลือกรองเท้าแบบเรียบๆ ไม่ต้องตกแต่งคริสตัลหรือโรยกากเพชรจนเด่นขึ้นมา มิเช่นนั้นคุณจะกลายเป็นเจ้าสาวที่ดูเยอะไปทุกสัดส่วน ระวังคนจะทักว่าไปเล่นลิเกที่ไหนจ๊ะน้องสาว!
5. ส้นเข็มหรือส้นหนา
ลำพังการใส่กระโปรงแล้วเดินบนรองเท้าส้นสูงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย (สำหรับใครที่ไม่ได้ใส่ทุกวัน) แล้วนี่ยังจะต้องมานุ่งผ้าถุงแคบๆ พอดีตัวยิ่งเดินยากเข้าไปใหญ่ เราขอแนะนำให้คุณเลือกส้นรองเท้าที่คุณเดินสะดวก ช่วยให้ทรงตัวได้ดี อาจจะดูเป็นรองเท้าส้นหน้า (แบบรองเท้ารับปริญญา) ก็จะช่วยให้เดินง่ายมากขึ้น แต่ถ้าใครอยากใส่ส้นเข็มแล้วมั่นใจว่าเดินได้ เราก็แนะนำให้ซ้อมเดินซ้อมก้าวให้ชิน ส่วนใครที่คิดจะใส่ส้นตึกคงต้องยอมรับสักหน่อยว่ามันไม่ค่อยจะเข้ากับชุดไทยเท่าไหร่นัก แต่ถ้าผ้านุ่งของคุณยาวจนกร่อมพื้นปิดเท้าทั้งหมดก็อนุโลมให้ใส่ได้
6. เช็คพื้นรองเท้าสักนิด
พิธีไทยในตอนเช้าคุณจะต้องยืน เดิน ลุก และที่สำคัญคือ นั่งพับเพียบ ซึ่งจะทำให้คุณเผยพื้นรองเท้าแบบไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเราแนะนำให้คุณตรวจสอบพื้นรองเท้าเสียก่อนว่า เรียบไหม ขรุขระดูไม่งามหรือเปล่า พื้นเปิดหรือชำรุดตรงไหน หรือแม้แต่ป้ายราคายังโชว์หราอยู่ไหม อย่าลืมเอาออกแล้วแก้ไขให้เสร็จก่อนวันงานนะจ๊ะ ไม่อย่างนั้นมาตกม้าตายตอนจบก็หมดสวยกันพอดี
7. เลือกรองเท้าที่ใช้ต่อได้
เราเชื่อว่าจะซื้อรองเท้าทั้งทีคงไม่มีใครอยากซื้อมาใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งให้เสียดายเงินหรอกใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้นเราแนะนำให้เลือกรองเท้าสีกลางๆ ที่นอกจากจะแมทช์เข้ากับชุดไทยได้แล้ว หลังเสร็จงานคุณยังสามารถนำไปแมทช์ใส่เข้ากับชุดอื่นๆ ได้ด้วย แบบนี้ก็ถือว่าประหยัดและคุ้มค่าสุดๆ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวไปอีก
7 เทคนิคข้างต้นเราแนะนำมาไว้ให้สำหรับเจ้าสาวคนไหนที่กำลังตัดสินใจเลือกรองเท้าที่จะใส่คู่กับชุดไทย ก็อย่าลืมลองดูด้วยนะคะว่าชุดไทยที่คุณเลือกเป็นชุดสไตล์ไหน สีอะไร และความยาวของผ้านุ่งอยู่ที่ระดับไหน แล้วค่อยออกไปช้อปเลือกคู่ที่ใส่แล้วสวย ใส่แล้วสบาย นิ้วเท้าจะได้ไม่ชาเนอะ แต่ๆ…งานนี้ไม่ได้สงวนไว้แค่เจ้าสาวน้า สำหรับแก๊งเพื่อนเจ้าสาวที่ใส่ชุดไทยก็สามารถนำไปทำตามได้ด้วย
ภาพเปิด : ชุดแต่งงานจากร้านบางแสนมายเลิฟ เวดดิ้งสตูดิโอ จ.ชลบุรี
อ่านบทความเพิ่มเติม
ไอซ์ อามีนา กับแฟชั่นชุดไทยสวยหรู ได้ลุคเป็นเจ้าสาวสวยสง่าในวันแต่งงาน
มาทำความรู้จัก 14 ช่วงบนของชุดเจ้าสาวก่อนตัดสินใจเลือกกันดีกว่า
10 จุดว่าที่เจ้าสาวต้องเช็คชุดแต่งงานให้ชัวร์ก่อนรับมาใส่ในวันแต่งงาน