ปัญหาชีวิตคู่ เชื่อว่าเจอกันทุกคู่ชีวิต ไม่ว่าจะฐานะใด สัญชาติไหน ไม่มีใครหลีกพ้นสักราย
ก็คิดดูเถอะ คนสองคนที่ภูมิหลังแตกต่างกัน วันหนึ่งเมื่อมาอยู่ร่วมกัน แม้จะมี “ความรัก” ้เป็นตัวจูน แต่หลายครั้งก็พบว่า “รักคำเดียว” นั้นยังไม่พอ คำถามคือเมื่อเกิด ปัญหาชีวิตคู่ ขึ้นมา คนสองคนจะจับมือฟันฝ่ากันไปด้วยวิธีใด
ลิสต์นี้แพรวเวดดิ้งลองไล่เลียงตัวอย่างปัญหาพร้อมแนวทางแก้ไขมาให้ดู หลายคนที่อ่านแค่หัวข้อ อาจเบ้หน้าว่า เบๆ (เบสิค) แต่ปัญหาพื้นๆ อย่างนี้แหละ ถ้าไม่คุย ไม่ปรับ ก็ทำเอาทางใครทางมันมาเยอะแล้ว
1.ไม่ชินกับสถานภาพ “สมรสแล้ว”
อย่างที่เคยได้ยินคนเพิ่งแต่งงานบ่นบ่อยๆ ว่ายังไม่ชินกับความรู้สึกที่ว่า “นี่เราแต่งงานแล้วเหรอ” ความรู้สึกนี้เป็นเรื่องปกติของคนทั้งโลก ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย การจะปรับทัศนคติและปรับตัวให้ชินกับสถานภาพใหม่ย่อมต้องใช้เวลา ต้องลดความรู้สึกแบบคนโสดลง ซึ่งนักจิตวิทยาบอกว่าคู่สมรสอาจต้องใช้เวลาในปีแรกเพื่อปรับตัวไปสู่การใช้ชีวิตคู่ที่แท้จริง
เจ้าสาวป้ายแดงคนหนึ่งเล่าว่า “ช่วงแรกรู้สึกว่าคุณสามียังไม่เคยชินกับการมีอีกคนอยู่ในบ้าน เขาเคยชินกับการทำอะไรคนเดียว จนบางครั้งลืมนึกถึงเรา แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็กระตุ้นต่อมน้อยใจทุกที”
แนวทางแก้ปัญหา
เมื่อไม่ชินกับสถานภาพใหม่ สามี- ภรรยามักมีปัญหาเรื่องความอิหลักอิเหลื่อในบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน ทางที่ดีควรคุยกันให้เข้าใจก่อนว่า หลังแต่งงานแล้ว ใครต้องมีหน้าที่อะไรในบ้านและในความสัมพันธ์ใหม่บ้าง
แนะนำว่าการกำหนดกะเกณฑ์ทุกอย่างจนเป๊ะไปเสียหมดอาจทำให้อีกฝ่ายอึดอัดได้ทั้งที่เพิ่งแต่งงาน จึงควรคุยกันในลักษณะของการวางแผนในจังหวะที่เหมาะสม เช่น ตอนที่ช่วยกันเลือกซื้อของแต่งบ้าน จัดบ้าน นี่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะคุยถึงความชอบและความถนัดของแต่ละคน อาจแจกแจงหน้าที่กันคร่าวๆ ขณะเลือกซื้อของ หรือต่างคนต่างอาสาดูแลในสิ่งที่ตนถนัดก็เป็นวิธีประนีประนอมที่ดีมาก
2.ญาติเพิ่มกะทันหัน!
“นั่นก็ญาติ นี่ก็ญาติ มาจากไหนกันเยอะแยะ!” แน่นอนว่าเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ญาติเขาก็เหมือนเป็นญาติคุณไปด้วย ละครไทยตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์สอนให้ระลึกไว้เสมออยู่แล้วว่า การปรับตัวโดยเฉพาะถ้าต้องย้ายเข้าบ้านที่เป็นบ้านเดิมของครอบครัวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันไม่เคยง่าย การเคารพผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ว่าผู้ใหญ่จะเป็นยังไง สะใภ้หรือเขยที่ดีก็ควรต้องพยายามหาข้อดีและยกยอท่านบ้างในบางโอกาส เพราะหากเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของคุณก็จะราบรื่นไปด้วย
แต่หากแต่งแล้วเจอศึกดราม่ายุงไข่เหมือนในละครไทยหลังข่าว ประมาณว่าโดนพ่อแม่ของอีกฝ่ายเพ่งเล็ง จะทำอะไรก็ไม่มีอิสระ แถมวงวารญาติเครือยังเฮโลมาเป็นทัพหนุน ช่วยออกเสียง (ทั้งที่ไม่ได้ขอ) ในทุกสถานการณ์ ความรู้สึกอ่วมหนักถือเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่ช้าก่อน อย่าเพิ่งปรี๊ดแตกออกมาเชียว
แนวทางแก้ปัญหา
พ่อแม่ของคู่ชีวิตคือคนที่เราควรยกไว้เหนือเหตุผล ไม่ควรวิพากษ์- วิจารณ์ แม้จะไม่ชอบนิสัยหรือทัศนคติบางอย่างของท่านก็ตาม เวลาสามีหรือภรรยาบ่นเรื่องพ่อแม่ของเขา ทางที่ดีที่สุดคือรับฟังและอย่าคอมเมนต์อะไรที่รุนแรง
มองโลกในแง่ดีสักหน่อยว่าท่านก็มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อแม่เรา สนใจไต่ถามเรื่องสุขภาพของท่านบ้าง และที่สำคัญที่สุด ทำให้ท่านมั่นใจว่าท่านยังเป็นคนสำคัญ แม้ว่าลูกของท่านจะมีคุณมาอยู่เคียงข้าง ด้วยการถามความคิดเห็นของท่านอย่างสม่ำเสมอ
ปัญหาทั้งหลายที่พูดกันนั้น หากคุณยอมรับได้ว่าลึกๆ แล้วมันมาจากใจเราเองที่ไม่ยอมรับว่าครอบครัวเราต้องขยายตัวแล้วจึงรู้สึกอึดอัด หากมองอีกมุมว่าบนโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา โชคดีแค่ไหนที่ยังมีอีกครอบครัวที่คอยเป็นกำลังใจ ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แค่กระโดดข้ามกำแพงที่ตั้งไว้ได้ ก็จะพบว่าการอยู่ในสถาบันครอบครัวที่อบอุ่นนั้นเป็นเหมือนกำลังใจในการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้
3.‘ลูกติด’ ‘เมียเก่า’ พันธะจำเป็นที่ต้องทำใจ
หากตัดสินใจแต่งงานกับผู้ชายมีตำหนิ จะเคยหย่าร้างหรือมีลูกติดก็ล้วนมีเรื่องให้ต้องสะกิดใจทั้งนั้น คนที่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยง นอกจากจะต้องใจพระ เลี้ยงและรักลูกติดสามีแล้ว ยังต้องทำใจกว้างเมื่อแม่แท้ๆ ยังต้องติดต่อกับลูกและสามี ไม่ว่าจะมาเยี่ยมหรือมารับก็ล้วนทำให้เกิดความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อทั้งนั้น
เจ้าสาวหมาดๆ คนหนึ่งต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงทันทีหลังแต่งงาน เพราะฝ่ายชายเคยพลาดพลั้งไปมีลูกสมัยยังวัยรุ่น เธอรู้สึกรำคาญใจทุกครั้งที่ “แม่ของเด็ก” กลับมาเยี่ยมลูก แต่ทำได้แค่เพียงวางตัวให้ดี
แต่ถึงสามีจะไม่มีลูกติด ทว่าด้วยธรรมชาตินิสัยของผู้ชายที่เป็นเพศไม่ซับซ้อนเอาซะเลย จึงใจดีเห็นอกเห็นใจภรรยาเก่าจนสร้างแผลในใจให้ภรรยาใหม่ นี่คือเสียงบ่นจากผู้หญิงคนหนึ่งที่มีสามีเป็นคนดีเสียเหลือเกิน
“หย่ากับเมียเก่ามาก็ตั้งนานแล้ว แต่ฝ่ายนั้นโทร.มาให้ช่วยเหลืออะไร สามีก็ยังคอยช่วยตลอด ขาดเหลือเรื่องเงิน ขนาดหาเงินลงทุนยังกล้าโทร.มาขอ สามีก็ไม่เคยปฏิเสธ แม้จะเป็นเงินส่วนตัวของเขา แต่ก็ทำให้หงุดหงิดใจที่สุด”
แนวทางแก้ปัญหา
ปัญหานี้จัดว่าใหญ่หลวงทีเดียว เพราะมีอีกบุคคลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ทางเดียวที่ทำได้คือทำความเข้าใจกับคนของเราว่าการดูแลหรือปฏิสัมพันธ์นั้นต้องมีขอบเขต และเรายอมรับได้ในระดับไหน เมื่อเป็นข้อตกลงร่วมกัน สามีก็ควรให้อีกฝ่ายทราบข้อตกลงนี้ด้วย
หากคิดว่ามีภาระที่อาจวุ่นวายในภายหลังก็ควรปรึกษาผู้ใหญ่ในครอบครัว ท่านจะเข้าใจนิสัยใจคอของทุกฝ่ายได้ดีกว่า อาจจะมีคำแนะนำที่ดีทั้งสำหรับเราและสามีเรื่องการวางตัวและขอบเขตที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งช่วยคุยหรือแนะนำให้อีกฝ่าย (ในอดีต) ได้เข้าใจด้วย
4.เงินทองของนอกกาย (แต่ถ้ายังไม่ตายก็ต้องเอาให้เคลียร์)
แม้เงินทองจะเป็นของนอกกาย แต่ขาดเงินเมื่อไร ปัญหาก็เกิดเมื่อนั้น เรื่องการเงินเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตครอบครัว เพราะฉะนั้นควรพูดคุยตกลงกันเสียตั้งแต่ก่อนแต่งว่าจะจัดการอย่างไร
บ่าว- สาวคู่หนึ่งตัดสินใจเก็บเงินร่วมกันตั้งแต่ตกลงจะแต่งงาน โดยเจ้าสาวและเจ้าบ่าวต่างแบ่งเงินรายเดือนจำนวนหนึ่ง (ไม่เท่ากันเพราะเจ้าบ่าวได้เงินเดือนเยอะกว่า) ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแต่งงาน ซึ่งก็ครอบคลุมและยังมีเงินส่วนที่เหลือบวกกับเงินใส่ซองนำมาใช้เป็นเงินกองกลาง
หลังจากแต่งงานแล้วทั้งคู่ยังเก็บเงินรายเดือนร่วมกันในจำนวนเท่าเดิม เงินเดือนส่วนที่เหลือก็แยกกันใช้จ่าย ฟังดูก็โอเคดีใช่ไหมคะ ไม่น่าจะมีปัญหา แต่คุณๆ คงเคยได้ยินวลีที่ว่า “ซุกปัญหาไว้ใต้พรม” มาบ้าง ยิ่งกับค่านิยมไทยๆ ที่ฝ่ายหญิงยังคาดหวังว่าฝ่ายชายมีหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว จึงอดไม่ได้ที่จะคิดว่าไม่ควรจะแบ่งแยก “เงินเขา-เงินเรา” ชัดเจนขนาดนี้
แนวทางแก้ปัญหา
ใจเขาใจเราค่ะ โลกหมุนมาถึงสองพันกว่าปีแล้ว ผู้หญิงก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเงินทองได้แล้วเหมือนกัน แต่หากปรับแล้วยังรู้สึกตะหงิดๆ เหมือนมีอะไรติดค้างคาใจอยู่ ก็ต้องคุยกันให้เคลียร์ เพราะเรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและบั่นทอนทุกความสัมพันธ์ของชีวิตคู่มานักต่อนักแล้ว
การจัดสรรปันส่วนเรื่องรายรับรายจ่ายแท้จริงแล้วถือว่ามีความสำคัญมากกับการสร้างครอบครัว ยิ่งถ้าสามีหรือภรรยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับภาระดูแลครอบครัวของตัวเองด้วยแล้วจะยิ่งยุ่งยาก การพูดคุยในส่วนนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ดีกว่าปล่อยให้เกิดปัญหาหรือระแวงกันภายหลัง
การแยกรายจ่ายหลักๆ ของแต่ละฝ่าย โดยเฉพาะภาระหนี้สินเดิม (จะได้รู้ศักยภาพว่าเราควรมีหนี้ใหม่หรือไม่) เป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะเมื่อทราบรายจ่ายแน่นอนก็จะประเมินรายจ่ายของครอบครัวที่กำลังจะสร้างร่วมกันได้ จากนั้นจะได้ประเมินรายรับของทั้งคู่ว่าเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตในระดับไหน
ทุกเดือนเมื่อมีรายรับเข้ามา ควรแยกส่วนเงินออมไว้ก่อน ตามด้วยรายจ่ายและภาระทั้งหลาย จากนั้นจะเหลือส่วนที่สามารถใช้สำหรับความบันเทิงของชีวิตคู่ก็ย่อมได้ ถือเป็นการยึดหลักการใช้จ่ายอย่างถูกวิธีและยังสุขในแบบข้าวใหม่ปลามันได้ด้วย
ส่วนคู่ไหนที่มีปัญหานอกเหนือจากนี้ แล้วอยากแชร์พร้อมแนะวิธีแก้ เชิญคอมเม้นต์มาได้ในกล่องใต้ล่างนี้ได้เลยค่ะ
ที่มาภาพ: Pixabay