แต่ก่อนแต่ไรชุดไทยพระราชนิยม 8 แบบเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่เจ้าสาวชาวไทยฝันใฝ่จะได้ใช้ในพิธีแต่งงาน มาในปีหลังๆ กระแสการนำ ชุดแต่งงานไทยโบราณ มาเป็นชุดเจ้าสาวกลับยิ่งมาแรงอย่างน่าอัศจรรย์ใจ แม้จะต้องใช้เวลาแต่งองค์นานนับชั่วโมง สาวๆ ก็สู้ไม่ถอย เพื่อความงามตามแบบฉบับแม่หญิงไทยครั้งหนึ่งในชีวิต
ชุดเจ้าสาวไทยโบราณที่กำลังพูดถึงคือ ชุดไทยตามแบบราชนารีโบราณ และชุดไทยโบราณแบบประยุกต์ ซึ่งทั้งสองแบบนี้เป็นการนำผ้าทั้งผืนมานุ่งห่มบนเรือนร่างเจ้าสาว โดยผ้าซิ่นที่ใช้ทั่วไปมักมีความยาวอยู่ที่ 1.80-2.00 เมตร แต่ถ้าจะใช้สำหรับแต่งชุดเจ้าสาวที่มีการจับจีบด้านหน้า ความยาวไม่ควรต่ำกว่า 3.20 เมตร เพราะจะสามารถทบหน้าได้กลีบเยอะ จับจีบได้สวย เวลานุ่งโจงก็สามารถนำมาเหน็บได้พอดี
สำหรับสไบชั้นใน จากปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีความยาวอยู่ที่ 2.70 เมตร จะขยายเป็น 3เมตร เพื่อเพิ่มความกรุยกรายสวยงาม ส่วนสะพักชั้นนอกไม่ควรเกิน 2.70 เมตร เพราะหลังจากที่แต่งตัวเสร็จแล้ว ผ้าสะพักจะต้องห้อยยาวลงมาประมาณครึ่งน่อง เมื่อได้ผ้าตามต้องการแล้วก็ขอย้อนวันวานกลับไปสวมใส่ชุดไทยโบราณครั้งหนึ่งในชีวิตกันเลย
นุ่งยกห่มตาด
– ชุดแต่งงานตามแบบราชนารีโบราณ –
เป็นการนำรูปแบบการแต่งกายเต็มยศของสตรีไทยชั้นสูงมาใช้กับเจ้าสาวยุคนี้ เรียกลักษณะการแต่งตัวแบบนี้ว่า “นุ่งยกห่มตาด” โดยคำว่า “นุ่งยก” คือการนุ่งผ้ายกแล้วจีบทบผ้าด้านหน้าให้เป็นกลีบ ส่วนคำว่า “ห่มตาด” คือการนำสไบมาห่มตัวแล้วทับด้วยผ้าสะพักตาดทองที่มีการปักประดับตกแต่งด้วยลายและวัสดุต่าง ๆ อีกชั้น ซึ่งจะตรึงทั้งสองชั้นให้แน่นด้วยการใช้ด้ายเย็บติดกัน โดยจุดสำคัญที่ต้องเช็กให้ชัวร์ว่าแน่นหนามีอยู่ด้วยกัน 3 จุด คือ บริเวณชายพก หัวไหล่ และเอว
ลักษณะเด่นของชุดแต่งงานแบบนี้คือ การเลือกใช้สีท่อนล่างกับท่อนบนตัดกัน เพราะในยุคโบราณนิยมนุ่งห่มด้วยผ้านุ่งกับสไบแพรจีบที่มีสีตัดกัน โดยยึดสีมงคลประจำวันตามหลักโหราศาสตร์ เช่น หากจัดงานแต่งในวันพุธ เจ้าสาวมักเลือกนุ่งท่อนล่างด้วยผ้ายกสีเขียว ซึ่งเป็นสีมงคลประจำวัน ส่วนท่อนบนห่มสไบอัดจีบในค่สู ีตรงข้ามอย่างสีแดงทับทิม ก่อนจะห่มทับด้วยผ้าสะพักตาดทอง ข้อควรระวังคือ หากคุณไม่ใช่เจ้าสาวผิวขาวอาจต้องเลือกคู่สีตัดกันให้ถี่ถ้วนสักหน่อย ปัจจุบันจึงหาเจ้าสาวใจกล้าที่เลือกแต่งแบบคู่สีตัดกันได้น้อย แต่ปรับไปเป็นการเลือกใช้คู่สีโทนเดียวกันแทน
โดยคู่สีที่นิยมมากสุดได้แก่สีนุ่มนวลโทนอ่อนอย่างสีฟ้า ชมพู หรือขาว ลักษณะการจับคู่เช่น หากเลือกนุ่งผ้าสีฟ้าอ่อน สไบจีบท่อนบนนิยมเลือกเป็นสีฟ้าสด แล้วเพิ่มความน่าสนใจโดยการห่มทับด้วยสะพักกรองทองบ้าง ปักทองบ้าง ขณะที่เจ้าสาวบางคนชอบสีชมพูก็อาจเลือกผ้านุ่งสีปูนแห้งสไบจีบสีกลีบบัว แล้วห่มสะพักตาดทองทับ
ส่วนเครื่องประดับที่นิยมใช้คู่กันนั้น เนื่องจากนำรูปแบบการแต่งตัวมาจากสตรีชั้นสูง เครื่องประดับที่ใช้จึงต้องสมฐานะ เพื่อแสดงถึงความหรูหราสวยงามตามรสนิยมแบบไทยสมัยก่อน
ดังนั้นหากคุณเลือกแต่งชุดเจ้าสาวแบบราชนารีโบราณ เครื่องประดับที่ขาดไม่ได้คือ ลูกไม้ปลายมือ แหวนนอน แหวนตะแคง ปะวะหล่ำ ทับทรวง จี้ สายสังวาล เป็นต้น
สมัยก่อนการห่มสะพักเป็นธรรมเนียมที่แสดงถึงความสุภาพต่อหน้าธารกำนัล เนื่องจากยังไม่มีชุดชั้นในใช้การห่มสไบจีบเพียงชิ้นเดียวออกงานจึงถือว่าไม่มิดชิดและไม่สุภาพ นอกจากนี้การห่มสะพักยังแสดงถึงสถานะทางสังคมของผู้สวมใส่ด้วย