ระดับความต้องการทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดปริมาณความต้องการจากค่าของฮอร์โมนในกระแสเลือด เหมือนเวลาเราไปเจาะเลือดหาค่าคลอเรสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ได้
ทั้งนี้ในแต่ละคนจะมีระดับความต้องการทางเพศ มากน้อยต่างกันไป โดยความเหมาะสมของความต้องการของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันอีก
ความต้องการทางเพศควรมีแค่ไหน
คำว่า “พอเหมาะ” ไม่อาจบอกได้ว่าเท่าไหร่ เพราะไม่มีค่าฮอร์โมนหรือสารเคมีวัดได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของตนเองและคู่ครอง ความพอเหมาะของคนหนึ่งอาจน้อยไปหรือมากไปสำหรับคนอื่น ๆ ก็ได้ แต่หากวัดจากการมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้มีลูกง่ายในวัยเจริญพันธุ์ ควรมีความต้องการทางเพศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
ส่วนคนที่มีความต้องการมากทางเพศทุกวัน แต่สามารถควบคุมตนเอง แสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น ช่วยตนเองในสถานที่ส่วนตัว ไม่เป็นปัญหากับการทำงาน หรือการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ก็ยังเรียกว่ามีความต้องการทางเพศในระดับที่พอเหมาะได้เช่นกัน
แต่สำหรับคนที่มีความต้องการที่เข้าข่ายใช้คำว่า “ไม่เหมาะสม” คือ คนที่มีความต้องการทางเพศมากเกินไป หรือที่เรียกว่า Allosexual โดยไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตนเองได้ ชอบแสดงออกในทางผิด จนเลยเถิดถึงขั้นกระทำผิดกฎหมาย เช่น ทำอนาจารผู้อื่น หรือชอบโชว์ (Exhibitionist) กลุ่มนี้ควรได้รับการบำบัดรักษาจากทางแพทย์
เหมาะสมหรือไม่ก็เรื่องหนึ่ง แต่ระดับความต้องการเข้ากันได้รึเปล่า นี่สิที่สำคัญ
ต้องบอกว่าสำหรับคู่ชีวิต ระดับความต้องการทางเพศที่เข้ากันได้ของคนสองคนที่ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากฝ่ายหนึ่งมีความต้องการทางเพศสูง ในขณะที่อีกฝ่ายมีความต้องการทางเพศต่ำ การสานสัมพันธ์คู่รักก็คงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะถ้าฝ่ายหนึ่งมีความรู้สึกว่าการมีเซ็กส์เป็นส่วนสำคัญกับชีวิตคู่ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ต้องการมีเซ็กส์เอาซะเลย
แต่เดี๋ยวก่อน ก่อนที่คุณจะเริ่มจิ๊จ๊ะว่า “คู่ฉันมีปัญหาไหม?” แพรวเวดดิ้งแนะนำว่า คุณกับคู่ของคุณควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความต้องการทางเพศในระดับที่ทัดเทียมกันด้วย
และนี่คือ 5 เช็กสิสต์ความเข้าใจ ที่ทุกคู่รักต้องรู้เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ระดับความต้องการทางเพศ
1.ความเปลี่ยนแปลงของระดับความต้องการทางเพศเป็นเรื่องปกติ
Mayo Clinic ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ความต้องการทางเพศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นผลมาจากช่วงเวลาที่ผ่านไป ผนวกกับปัจจัยแวดล้อมหลาย ๆ อย่างที่อาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง เช่น
ความเครียด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วคราว หรือวิถีชีวิตที่สะสมความเครียดมาเป็นเวลานานก็ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงได้
ปัญหาความสัมพันธ์ การทะเลาะ การนอกใจ และการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจสามารถส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลงได้
แผลใจ ประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงใจในอดีตสามารถส่งผลให้เกิดความเครียดและนำไปสู่ความต้องการทางเพศที่มีระดับผิดปกติได้
อายุ ความต้องการทางเพศอาจเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุได้เช่นกัน โดยทั่วไปความต้องการทางเพศจะลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
ความเปลี่ยนแปลงของระบบฮอร์โมน ช่วงหมดประจำเดือน ช่วงการตั้งครรภ์ และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอื่น ๆ ก็ส่งผลกับความต้องการทางเพศได้
การใช้ยา ยารักษาโรคหลายชนิดมีผลข้างเคียงที่ส่งผลต่อความต้องการทางเพศ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาความดัน และยารักษาภูมิแพ้ เป็นต้น
โรคประจำตัวบางอย่าง ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความดัน มะเร็ง อาจส่งผลทำให้ความต้องการทางเพศลดต่ำลงได้
อย่างไรก็ตามปัญหาความต้องการทางเพศต่ำจากอาการเจ็บป่วยนั้น โดยปกติแล้วสามารถรักษาให้หายได้ โดยคุณอาจพบว่าความต้องการทางเพศของคุณกลับสู่ระดับปกติเมื่อเวลาผ่านไปหลังทำการรักษา นอกจากนี้ยังมีวิธีทางธรรมชาติอีกหลายทางที่ช่วยเพิ่มระดับความต้องการทางเพศของคุณได้
2.สารสื่อประสาทในสมอง อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลกับความต้องการทางเพศ
หากพบว่ามีสารซีโรโทนิน (Serotonin ) สูง จะมีความต้องการทางเพศลดลง แต่ถ้ามีสารโดปามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ในสมองสูง ความต้องการทางเพศจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความแข็งแรงของระบบประสาทสมอง ระบบไหลเวียนโลหิต ก็มีผลต่อระดับความต้องการทางเพศเช่นกัน
3.เชื้อชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และวัฒนธรรม ตัวแปรสำคัญของความต้องการทางเพศ
ในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มงวดเรื่องการแสดงความต้องการทางเพศ อาจทำให้ผู้ที่โตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมดังกล่าวมีความต้องการทางเพศที่ลดลง แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งกระตุ้นทางเพศมาก ก็จะทำให้มีความต้องการทางเพศสูง
เพราะฉะนั้นในคู่ที่เป็นคู่รักข้ามชาติ รักข้ามพรมแดน การจูนความต้องการทางเพศจึงต้องคิดถึงปัจจัยข้อนี้พ่วงเข้าไปด้วย
4.ต้องเข้าใจว่าระดับความต้องการทางเพศที่ไม่เท่ากันสามารถส่งผลกับชีวิตคู่ในระยะยาวได้จริงๆ
บางคู่อาจยอมรอให้คู่รักฟื้นความต้องการทางเพศจนพร้อมจะกลับมาสานสัมพันธ์กันได้ ขณะที่บางคู่อาจยอมอดทนกับคนรักที่มีความต้องการทางเพศต่ำจนแทบจะไม่มีกันเซ็กส์เลย บางคู่อาจเผชิญอุปสรรคในชีวิตจากการไม่มีเซ็กส์เป็นเวลานาน ซึ่งการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก ถ้าเซ็กส์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ แต่ไม่ใช่สิ่งที่คู่ของคุณต้องการ
ดังนั้น หากว่าคุณกับคู่ของคุณมีระดับความต้องการทางเพศที่ไม่ตรงกัน การพูดคุยเพื่อปรับตัวและทำความเข้าใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่อาจช่วยให้ความสัมพันธ์ของคุณดีขึ้นได้โดยที่ไม่มีใครต้องเสียใจ
5.ถ้าคุณรู้สึกว่าการมีเซ็กส์กับคู่ของคุณมีบางอย่างไม่เหมือนเดิมต้องพูดออกมา
การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญในการสานสัมพันธ์รัก โดยเฉพาะเมื่อความต้องการทางเพศของคุณเปลี่ยนไป คุณอาจจะลองเปิดประเด็นด้วยประโยคต่อไปนี้:
“ช่วงนี้ฉันรู้สึกว่าความอยากทำการบ้านเปลี่ยนไป และฉันอยากคุยกับคุณเรื่องนี้สักหน่อย”
“ถ้าคุณรู้สึกว่าฉันไม่เหมือนเดิมตอนที่เรามีอะไรกัน คุณไม่ต้องคิดมากนะ คือสาเหตุมันเป็นเพราะ…..”
“ช่วงหลัง ๆ นี้ฉันรู้สึกไม่ค่อยตื่นเต้นเลย เรามาลองอะไรใหม่ ๆ กันหน่อยมั้ย?”
“ฉันรู้สึกว่าช่วงนี้คุณไม่ค่อยอยากจู๋จี๋กันเท่าไหร่ คุณอยากคุยกันหน่อยมั้ย?”
“เราไม่ได้มีอะไรกันบ่อยเหมือนเมื่อก่อน และฉันอยากให้เรากลับไปเป็นเหมือนเดิม คุณคิดว่ายังไง?”
แต่ถ้าคุณคิดว่าการพูดคุยตรง ๆ ยากเกินไป ลองปรึกษากับที่ปรึกษาครอบครัวหรือนักบำบัดทางเพศดู พวกเขาอาจช่วยให้คุณพูดคุยกับคู่รักและหาทางออกร่วมกันได้ง่ายขึ้น
บางครั้ง ถ้าคุณรู้สึกว่าการมีเซ็กส์มันไม่รู้สึกดีเหมือนเก่าอย่างบอกไม่ถูก การลองทำอะไรใหม่ ๆ เช่น การเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการเดทสุดสัปดาห์ การลองท่าร่วมรักที่ไม่เคยลอง หรือการลองของเล่นใหม่ก็อาจช่วยได้เหมือนกัน