แค่คิดว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้างในขบวนขันหมากไม่ให้ตกหล่นก็ว่ายากแล้ว แต่การจัดขบวนขันหมากให้ถูกต้องนี่สิกลับยากกว่า กว่าจะลงตัวว่าใครต้องยืนตรงไหนอะไรยังไง เก้ๆ กังๆ กันอยู่พักใหญ่เกือบไม่ทันฤกษ์แห่ก็มี แพรว wedding เลยอยากให้บ่าวสาวได้เตรียมตัวก่อนเนิ่นๆ จึงได้จัดข้อมูลมาให้แบบ One Stop Service กับ ผังขบวนขันหมาก ไทยที่ระบุตำแหน่งบุคคลพร้อม ข้าวของที่ต้องเตรียม แค่เซฟ ปริ้นต์ แล้วแจก รับรองเป๊ะทันฤกษ์แน่นอน
ตำแหน่งที่ 1 เถ้าแก่ + ซองเงิน
หัวขบวนจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก เถ้าแก่ ผู้ถือซองเงินสำหรับเป็นค่าผ่านประตูและค่าสินน้ำใจต่างๆ เอาไว้เบิกทางให้เจ้าบ่าวไปเจอกับเจ้าสาวได้สะดวกๆ
ตำแหน่งที่ 2 เจ้าบ่าว (ขนาบข้างด้วยพ่อแม่) + พานธูปเทียนแพ
ต่อมาก็เป็นเจ้าบ่าว พระเอกของขบวนขันหมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตำแหน่งจะอยู่หลังเถ้าแก่มาสักหน่อย พร้อมเคียงข้างซ้ายขวาด้วยคุณพ่อคุณแม่ หรือบางครั้งบางทีเจ้าบ่าวก็อาจจะเขยิบขึ้นไปข้างหน้าเดินเคียงกับเถ้าแก่ ที่สำคัญและขาดไม่ได้ก็คือ เจ้าบ่าวต้องถือพานธูปเทียนแพด้วยนะคะ
ตำแหน่งที่ 3 เพื่อนเจ้าบ่าว 2 คน (ญาติผู้ชาย) + พานต้นกล้วย และ พานต้นอ้อย
ถัดลงมาก็เป็นเพื่อนเจ้าบ่าว 2 คน หรือจะเป็นญาติผู้ชายก็ได้เช่นกัน ทำหน้าที่ถือพานต้นกล้วยและพานต้นอ้อยคนละพาน ที่ต้องเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวก็เพราะว่าสองพานนี้ค่อนข้างหนัก แต่! เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว สองพานนี้จะต้องถอยไปอยู่ด้านหลังคู่พานขนมมงคล (บางบ้านก็ให้อยู่ด้านหลังตั้งแต่แรก) เพื่อที่จะให้พานอื่นๆ เข้าไปวางเรียงในบ้าน ส่วนพานต้นกล้วยและพานต้นอ้อยจะวางไว้หน้าบ้านแทน
ตำแหน่งที่ 4 ญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนสนิท 2 คน + พานขันหมากเอก และ พานขันหมากโท
ต่อมาก็เป็นตำแหน่งที่สำคัญเช่นกัน โดยจะให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือเพื่อนสนิทเป็นผู้ถือพานขันหมากเอก และพานขันหมากโท (พานละ 1 คน)
ตำแหน่งที่ 5 พานแหวนหมั้น
พานแหวนหมั้นจะอยู่ถัดจากพานขันหมากเอกและขันหมากโทลงมาหนึ่งสเต็ป ซึ่งหากว่างานของใครไม่มีขันหมากโท จะขยับให้พานแหวนหมั้นขึ้นไปเดินเคียงข้างพานขันหมากเอกก็ได้เช่นกัน
ตำแหน่งที่ 6 คู่พานสินสอด
ของสำคัญมูลค่าเยอะอย่างพานสินสอด ถ้ามีมาก (เจ้าบ่าวรวย!) ก็อาจจะแบ่งๆ ให้ญาติสนิทมิตรสหายช่วยถือ แต่เรื่องสำคัญที่ต้องจำให้ขึ้นใจก็คือ “ต้องเป็นคนที่ไว้ใจได้” ไม่เช่นนั้นระวังตอนนับสินสอดจะไม่ครบนะจ๊ะ
ตำแหน่งที่ 7 คู่พานผลไม้มงคล
ตำแหน่งนี้ก็อาจแบ่งกันไปหลายๆ คน หลายๆ พาน เพราะผลไม้มงคลส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักมาก เช่น มะพร้าว ส้มโอ ทับทิม องุ่น ส้มสายน้ำผึ้ง ซึ่งสามารถแบ่งให้ชายหญิงถือได้ตามความเหมาะสม
ตำแหน่ง 8 คู่พานขนมมงคล 9 ชนิด
พานขนมมงคลทั้ง 9 ชนิด ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น ทองเอก จ่ามงกุฎ เสน่าจันทร์ ถ้วยฟู และเม็ดขนุน โดยจะหนักหรือเบา เยอะหรือน้อย และจะมีกี่พานก็แล้วแต่ว่าเจ้าภาพจะจัดมาเยอะแค่ไหน แล้วจึงจัดคนให้เท่ากับจำนวนพานขนมที่มี
>> อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี คลิกเลย <<