คนไทยมีความเชื่อที่ว่าทุกที่ทุกทางนั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักดูแลรักษาอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาจะทำกิจกรรมใดๆ บนพื้นนั้นๆ ก็มักจะมีการจุดธูปจุดเทียนเพื่อกราบ ไหว้เจ้าที่ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณนั้นให้รับรู้เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขอพรให้งานนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่เว้นแม้กระทั่งในพิธีแต่งงาน แต่หลายครั้งบ่าวสาวก็มักจะหลงลืมหรือละเลยเรื่องนี้กันไปเพราะความวุ่นวายจากการต้องเตรียมการหลายสิ่ง หรือบางคู่ไม่เลือกที่จะทำเพราะยุ่งยากเกินไปก็มี แต่รู้ไหมคะว่าความจริงแล้วการไหว้เจ้าที่เจ้าทางนั้นง่ายนิดเดียว
“ไหว้เจ้าที่” จำเป็นต้องไหว้ไหมและต้องไหว้ที่ไหนบ้าง ?
คงต้องถามกลับก่อนว่า คุณอยากได้ความสบายใจหรือเปล่า ทั้งคุณสองคนรวมถึงญาติผู้ใหญ่ทุกฝ่าย เพราะอย่างที่บอกไปแล้วค่ะว่า นี่คือเรื่องของความเชื่อของคนไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งถ้าถามว่าจำเป็นไหม ก็ต้องแล้วแต่บ้าน เพียงแต่ทำแล้วดีแน่ๆ อย่างน้อยก็ดีต่อจิตใจ
ส่วนประเด็นที่ว่าจะไหว้ที่ไหนนั้น คำตอบง่ายๆ คือ ถ้าคุณจัดงานบ้านไหนก็ไหว้ที่บ้านนั้น โดยไหว้ในจุดบูชาของแต่ละบ้าน เช่น ห้องพระ ศาลเจ้าที่ ศาลพระภูมิ ศาลบรรพบุรุษ ตี่จู๋เอี๊ยะ (ศาลเจ้าจีน) เป็นต้น โดยควรไหว้แต่เช้าตรู่ หรือก่อนที่จะดำเนินการเริ่มพิธีใดๆ ตั้งแต่ก่อนที่จะเชิญพระมาเข้าพิธีเลยก็ว่าได้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ่าวสาวและงาน แต่ถ้าจัดงานที่โรงแรมก็ให้จัดเครื่องไหว้ที่ศาลพระภูมิของโรงแรม แต่ไม่ว่าจะไหว้ที่ไหน ความหมายของการไหว้เจ้าที่คือ การบอกกล่าวท่านเจ้าที่เจ้าทาง ศาลพระภูมิ ผีบ้านผีเรือน ให้ทราบว่าวันนี้จะมีงานมงคลเกิดขึ้นที่บ้านหรือสถานที่แห่งนี้ คุณขออนุญาตและขอพรให้ทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
นำอะไรมาไหว้บ้าง?
การไหว้เจ้าที่นั้นต้องมีการถวายอาหาร เครื่องเซ่น ซึ่งอาหารมงคลของไทยที่นำมาไหว้ส่วนใหญ่ที่ขาดไม่ได้คือ ข้าวสวย หมู เป็ด หรือไก่ อาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ขนมหวานจำพวกสีทองและขนมน้ำดอกไม้ ผลไม้สด น้ำเปล่า ธูปเทียนและพวงมาลัยอย่างดาวเรือง เป็นต้น แต่จะจัดเป็นชุดเล็กหรือชุดใหญ่ก็แล้วแต่คู่ หรือหากเป็นศาลพระภูมิที่โรงแรม อาจเลือกเพียงพวงมาลัยสวยๆ สักพวงถวายก็ได้ค่ะ
ส่วนอาหารมงคลที่นิยมนำมาไหว้ส่วนใหญ่ก็คือ หมู ไก่ เป็ด และปลา ผลไม้จำพวก ส้ม กล้วย แอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น สับปะรด ขนมมงคลก็เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ซาลาเปา ขนมถ้วยฟู เม็ดบัว ถั่วตัด เกาลัด และธูปเทียน
เริ่มไหว้ได้เลย
เมื่อเตรียมอาหาร และของไหว้เรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงการไหว้ ซึ่งต้องมีการจุดธูป เพราะเป็นการบูชาด้วยเครื่องหอม ส่วนการจุดเทียนเป็นการบูชาด้วยแสงสว่าง โดยมีขั้นตอนดังนี้
- จัดอาหารและของถวายๆ ใส่ถาดเป็นชุด และนำไปวางไว้ที่หน้าสิ่งศักดิ์ที่จะไหว้ เช่น หน้าศาลพระภูมิ 1 ชุด หน้ารูปบรรพบุรุษ 1 ชุด หน้าพระพุทธรูป 1 ชุด หรือหน้าเทพเจ้าที่เคารพนับถือ ถ้าไหว้ฟ้าดิน ก็นำโต๊ะมาตั้งแล้วางกลางแจ้ง แต่ถ้าบ้านไหนมี ตี่จู๋เอี๊ยะก็นำอาหารไปถวายด้วยอีก 1 ชุด
- จุดธูปเทียน พร้อมกล่าวคำบูชา ดังนี้
บทสวด : ตั้งนโม 3 จบแล้วกล่าวคำบูชาพระภูมิเจ้าที่ว่า
อิมัสมิง ทิสาภาเค, สันติเทวา มะหิทธิกา, เตปิ อัมเห อะนุรักขันตุ,อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ, สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง, โภชะนัง, ปะริภุญชันตุ, เทวา มะหิทธิกา, สัพพะโทสัง ขะมันตุ, สะทา โสตถี, ภะวันุตุ โน ฯ)
วันนี้เป็นวันฤกษ์งามยามดี นาย… และนางสาว………จะประกอบพิธีมงคลสมรส ในโอกาสนี้ ลูกหลาน-ทั้งสองได้จัดตกแต่งข้าวปลาอาหาร ฯ นำมาเซ่นไหว้ ขอเชิญผีบรรพบุรุษทั้งหลาย ผีบ้านผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา และเทพาอารักษ์ผู้ทรงฤทธิ์ ซึ่งสถิตอารักขาภูมิภาคเขตนี้ ได้โปรดมาพร้อมกัน ณ สถานที่นี้ และรับเครื่องเซ่นกระยาบวชของลูกหลานทั้งสอง ขอผีบรรพบุรุษทั้งหลาย ผีบ้านผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา และเทพาอารักษ์ทั้งหลาย โปรดแผ่บุญญาภินิหาร อภิบาลลูกหลาน ทั้งสองพร้อมทั้งญาติมิตรให้ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยพาลและอุปสรรคนานัป ขอให้ชีวิตสมรสของลูกหลานทั้งสองมีความร่มเย็นเป็นสุข เป็นชีวิตคู่ที่มั่นคงมีความเจริญก้าวหน้า ขอให้มีบุตรธิดาที่มีบุญวาสนามาเกิด มีสติปัญญาเป็นลูกที่ว่านอนสอนง่าย เป็นอภิชาตบุตร และโปรดประทานพรให้ลูกหลานทั้งสองพร้อมทั้งญาติมิตร ประสบแต่สันติสุข และขอให้การประกอบกิจที่ตั้งจิตจำนงไว้ในครั้งนี้ จงสำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนาด้วยเทอญ
ลาตอนไหน?
เมื่อใดก็ตามที่เสร็จสิ้นงานพิธีมงคลเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องมีการลาเจ้าที่เจ้าทาง ถ้าบ่าวสาวไม่ว่างมาลาเอง ก็ให้ผู้ใหญ่ หรือเจ้าพิธีเป็นคนลาให้ แต่ในที่สุดแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาทำการลา โดยลาหลังจากที่เสร็จสิ้นพิธีแล้ว หรือจนกว่าธูปจะหมด พร้อมกล่าวคำว่า “เสสัง มังคะลัง ยาจามิ ฯ” ก็เป็นอันว่าเรียบร้อย
ไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อนเลยใช่ไหมล่ะคะกับการไหว้เจ้าที่เจ้าทาง แต่อย่างไรแล้วบ้านไหนจะมีพิธีการ หรือความเชื่ออย่างใดก็ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความสบายใจและความเป็นสิริมงคลของงานนะคะ
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย!
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Jirayu The Wedding Planner
ภาพ : งานแต่งงานของคุณปลา-ยุพรัตน์ และคุณนุ้ก-คุณาพร ถ่ายโดย Smallroom Studio
www.pinterest.com