ความเชื่องานแต่งไทยของคนแต่ก่อน ผู้ที่มีคุณสมบัติแบบไหนต้องถือพานอะไร มาส่องกัน

การแต่งงานของแต่ละประเพณีทั่วโลกก็แตกต่างกันออกไป และล้วนมีสิ่งที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ ความเชื่องานแต่งไทย ที่แต่ละครอบครัวก็มีสิ่งที่ทำตามๆ กันมา และนี่คือความเชื่อเกี่ยวกับขบวนขันหมากในพิธีแต่งงานไทยที่ว่าด้วยเรื่อง ผู้ที่มีคุณสมบัติแบบไหนต้องถือพานอะไร และว่าที่เจ้าบ่าวต้องทำอะไรก่อนไปถึงบ้านเจ้าสาวหรือไม่ ซึ่งแพรวเวดดิ้งย่อมาไว้ให้เข้าใจง่ายตามนี้เลย

การจัดขบวนขันหมากจะต้องนำหน้าด้วยคนถือมัดอ้อยหรือหน่อกล้วย 1 คู่ ต่อด้วยเฒ่าแก่ (มาเป็นคู่สามี-ภรรยา) และเจ้าบ่าว บางบ้านอาจให้ถือพานใส่ธูปเทียนแพเพื่อเคารพญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงด้วย

จากนั้นตามด้วย ขบวนขันหมากเอก ซึ่งมักจะเป็นหญิงสาวสะสวยที่เกิดจากพ่อแม่แต่งงานกันถูกต้องตามประเพณี แต่งตัวด้วยชุดไทยเต็มยศ บางตำราบอกว่าหญิงที่ยกขันหมากเอกต้องเป็นสาวพรหมจรรย์ และ บางตำราบอกว่าให้เป็นหญิงที่ออกเรือนมีสามีแล้ว (อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และวิจารณญาณของแต่ละครอบครัวนะคะ) ทั้ง 4 คนจะยกเตียบทั้ง 4 ซึ่งเปรียบเป็นมเหสีของพระอินทร์

ส่วนขันหมากโท เป็นชายหรือหญิงก็ได แต่ห้ามเป็นหญิงหม้าย ส่วนกลองยาว แตรวง และการฟ้อนรำสนุกสนานนำขบวนแล้วแต่ทางเจ้าบ่าวจะจัดหามา แต่ไม่ระบุว่าต้องอยู่ในธรรมเนียม เพราะเป็นเพียงแค่การสร้างความคึกคักเพื่อให้บ้านเจ้าสาวรู้ว่า ขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวกำลังจะมาถึงเท่านั้น

และก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปยังบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องไปจุดธูปเทียนไหว้ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับ และกราบพ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่เพื่อลาไปเข้าพิธีแต่งงาน และแยกเรือนไปอยู่กับฝ่ายหญิง เพราะธรรมเนียมไทยแต่ก่อน ฝ่ายชายจะต้องไปปลูกเรือนหอในที่ของฝ่ายหญิง เมื่อผู้ใหญ่ให้ศีลให้พร เจ้าบ่าวจึงเข้าร่วมขบวนเพื่อเดินหน้าไปยังบ้านเจ้าสาว เพื่อทำพิธีต่างๆ ตามธรรมเนียมไทยต่อไป

ปัจจุบันความเชื่อบางอย่างอาจจะถูกลดทอนลงไปบ้าง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อและวิจารณญาณของแต่ละครอบครัวนะจ๊ะ ส่วนว่าที่บ่าวสาวคู่ไหนที่ยังเริ่มต้นจัดงานแต่งงานไทยกันไม่ได้ ตามไปดู บทความเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงานไทย ที่นี่ได้เลย!!

ภาพเปิด : งานแต่งคุณเอ๊บ & คุณก้อง ถ่ายโดย Box Wedding

Recommended