พิธีแต่งงานแบบไทย พร้อมไทม์ไลน์ของแต่ละพิธีแบบครบถ้วน

9.00 น. เจรจาสู่ขอ และนับสินสอด

เมื่อมาถึงบริเวณพิธี คุณแม่เจ้าสาวจะมารับขันหมากแล้วส่งต่อให้คนนำไปวาง โดยพานขันหมาก พานสินสอด พานแหวนหมั้น วางไว้ ณ จุดประกอบพิธี ส่วนพานอื่นๆ วางเรียงยังโต๊ะที่จัดไว้ด้านข้าง (ส่วนต้นกล้วยต้นอ้อยวางไว้หน้าประตูหรือหน้าทางเข้างานได้เลย) จากนั้นจึงเชิญผู้ใหญ่นั่งประจำที่

หลักจากเจรจาสู่ขอกันเป็นที่เรียบร้อยก็เป็นการนับสินสอด ซึ่งส่วนใหญ่จะนับพอเป็นพิธีจึงใช้เวลาไม่นานนัก ปิดท้ายด้วยการโปรยถั่ว งา ข้าวตอก ดอกไม้ลงบนสินสอดเพื่อสื่อถึงความเจริญงอกงาม แล้วรวบห่อสินสอดให้แม่เจ้าสาวแบกขึ้นบ่าด้วยท่าเดินตัวเอียง (ประมาณว่า โอโห สินสอดหนักมากกก) เพื่อนำสินสอดเข้าไปเก็บ จากนั้นจึงส่งคนไปรับตัวเจ้าสาว หรือเจ้าบ่าวจะไปรับเองก็ได้ หรือจะเป็นคุณแม่ไปคนไปรับก็ได้เช่นกัน

งานฉลุยแน่ถ้า…
* มีคนคอยกำกับว่าพานไหนวางไว้ตรงไหน และผู้ใหญ่แต่ละท่านต้องนั่งตรงไหน

9.29 น. สวมแหวนหมั้น

ถ้าฤกษ์สวมแหวนหมั้นคือ 9.29 น. ในเวลา 9.20 น. ควรจะไปรับตัวเจ้าสาวเข้ามายังพิธีแล้ว จะได้มีเวลากราบผู้ใหญ่และจัดท่านั่งให้เรียบร้อยสวยงาม เมื่อถึงฤกษ์ก็ค่อยบรรจงสวมแหวนช้าๆ อย่างมั่นใจ และอย่าลืมสวมค้างไว้สัก 5 วินาที แล้วเอียงมือที่สวมแหวนเข้าหากล้องเล็กน้อย แล้วยิ้มพองาม ก็จะได้ภาพสุดประทับใจแล้ว

9.45 น. พิธีสงฆ์

เป็นการนิมนต์กระสงฆ์มาสวดมนต์ให้พร ถวานภัตตาหารเพลและเครื่องไทยธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ รวมทั้งยังได้เก็บน้ำมนต์ไปผสมน้ำสำหรับใช้ในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายคู่นิยมทำบุญตักบาตรเช้าก่อนเริ่มแห่ขันหมากเพื่อความสะดวกในการจัดงาน และต่อลำดับพิธีการต่อๆ ไป

10.45 น. พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ (รดน้ำสังข์)

เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ โดยหลังจากคล้องมาลัยมงคล เจิมหน้าผาก และสวมมงคลแล้ว จะเป็นการรดน้ำอวยพรโดยผู้ที่มีอาวุโสกว่าบ่าวสาว ซึ่งจะเรียงลำดับตามศักดิ์และความอาวุโสลดหลั่นกันไป โดยระยะเวลาของพิธีนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนแขกที่จะมารดน้ำ

ตามมารยาทแล้ว หากจะให้ผู้ใหญ่ท่านใดทำหน้าที่คล้องมาลัยมงคล เจิม หรือสวมมงคล ควรแจ้งให้ท่านรู้ตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะท่านที่สวมมงคลซึ่งจะต้องอยู่จนจบพิธีเพื่อเป็นผู้ถอดมงคลให้กับบ่าวสาวด้วย (เพื่อความสะดวกอาจจะให้พ่อแม่เป็นผู้สวมก็ได้เช่นกัน)

งานฉลุยแน่ถ้า…
* จดชื่อ – สกุล – ตำแหน่งของแขกผู้ใหญ่ พร้อมการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องให้พิธีกรกล่าวเชิญตามลำดับ
* มีคนเชิญแต่ละท่านตามลำดับพิธีกรขานชื่อ เพราะบางท่านอาจได้ยินไม่ชัดหรือลุก – นั่งไม่สะดวก
* บ่าวสาวควรรู้ลำดับพิธี จะได้รู้คิวว่าตัวเองต้องทำอะไร ตอนไหน เช่น เมื่อถึงตั่งเจ้าสาวต้องนั่งทางซ้ายหรือทางขวาของเจ้าบ่าว เป็นต้น

Recommended