ในปัจจุบันมีเครื่องประดับไว้สำหรับสวมใส่กับชุดไทยมากมาย แต่มีอีกหนึ่งประเภทเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือ เครื่องประดับลงยา บ่าวสาวพอจะคุ้นๆ ชื่อกันใช่ไหมคะ ส่วนใครที่ไม่คุ้น เอาเป็นว่า แพรว Wedding จะพามาทำความรู้จักเครื่องประดับลงยาให้มากยิ่งขึ้นกันค่ะ
การลงยาในเครื่องประดับนั้นมีมาตั้งแต่อดีตกาล ในสมัยกรีกโบราณ อียิปต์ โรมัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และเข้ามาสู่ประเทศไทยในช่วงยุคกรุงศรีอยุธยา โดยพ่อค้าคนจีนเป็นผู้นำเข้ามานั่นเองค่ะ การลงยามีหลากหลายวิธี และคนไทยได้รับความรู้การลงยาจากชาวเปอร์เซียร์ โดยนำเครื่องโลหะ เช่น ทองคำ ไปทุบให้เป็นช่อง นำสีต่างๆ เช่น แดง เขียว น้ำเงิน ขาว หยอดลงไปให้เป็นลวดลาย แล้วนำไปอบด้วยอุณหภูมิที่สูง
สมัยกรุงศรีอยุธยาจะนิยมใช้เครื่องประดับมาแต่งตัวเป็นอย่างมาก และนิยมในหมู่ข้าราชการและชนชั้นสูง ไม่ว่าจะนำมาประดับเป็นแหวน สร้อย หรือแม้แต่เครื่องใช้ต่างๆ ก็ล้วนนำมาลงยาทั้งสิ้น และได้รับความนิยมมาจนถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์เลยนะคะ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้นำเครื่องประดับ รวมไปถึงเครื่องใช้มาทำการลงยาสีน้ำเงิน หรือเรียกว่าการลงยาราชาวดีนั่นเอง
นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าการลงยา เป็นการเพิ่มสีสัน ความสวยงามให้กับเครื่องประดับ ที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน และเจ้าสาวสามารถเลือกเครื่องประดับที่ใช้การลงยามาประดับร่างกายควบคู่กับการแต่งชุดไทยได้นะคะ เพราะจะช่วยส่งให้เจ้าสาวดูสง่างาม ราวกับหญิงสาวในราชสำนักโบราณ และด้วยการลงยาที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ก็จะช่วยส่งให้เครื่องประดับและผู้สวมใส่มีออร่ามากยิ่งขึ้นด้วย
และเครื่องประดับลงยาที่เหมาะกับว่าที่บ่าวสาวเป็นอย่างมากก็คือ แหวนลงยา นั่นเอง ซึ่งสามารถทำเป็นแหวนพิรอด นพเก้าลงยาก็ได้นะจ๊ะ เพราะด้วยความหมายที่ดีเริดบวกกับรูปทรงที่ดูงดงาม ก็จะทำให้แหวนหมั้นของบ่าวสาวดูโดดเด่นและน่าสนใจ สง่างาม แถมยังไม่เหมือนใครอีกต่างหากนะคะ
Read More : แหวนนพเก้า อัญมณีมงคล อีกหนึ่งแหวนหมั้นโบราณที่สวยไม่สร่าง
ภาพจาก : Pinterest.com , tongboranpetburi.com