สมัยนี้คนไทยแท้กับคนไทยเชื้อสายจีนแต่งงานกันกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะอาป๊าอาม้าอาม่าอากงไม่ได้เคร่งครัดธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเราจึงได้เห็น งานแต่งไทยผสมจีน กันมากขึ้นในปัจจุบัน
นั่นก็คือการผสมผสานพิธีแต่งงาน 2 ประเพณีเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยพิธีไทย คือมีพิธีสงฆ์ พิธีแห่ขันหมาก พิธีหมั้น พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และงานเลี้ยงกลางวัน แล้วผสานความเป็นจีนเข้าไปในบางช่วงเพื่อความสะดวก ซึ่งลำดับพิธีการมักเป็นไปตามต่อไปนี้
– ขันหมากไทยผสมจีน ในขบวนขันหมากจะมีการแทรกขันหมากจีนเข้าไปด้วย เช่น มีถาดส้มเช้ง และผลไม้ติดอักษรจีน “ซังฮี้” ถามขนมงานแต่ง ถาดหมูชุด ฯลฯ (ดูขันหมากเจ้าบ่าวจีนเพิ่มเติม คลิก)
– ขันหมากฝ่ายเจ้าสาว บางบ้านอาจเตรียมขันหมากฝ่ายเจ้าสาวเอาไว้ตามธรรมเนียมจีนด้วย เช่น ต้นชุนเช่า ส้ม กล้วย อ้อย ขนมมงคล ฯลฯ โดยจัดวางเตรียมไว้ใกล้จุดประกอบพิธี แต่แยกจากขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าว หลังเสร็จพิธีจะต้องแบ่งผลไม้และขนมขันหมากจากทั้งสองฝ่ายมามอบให้ทางฝ่ายเจ้าบ่าวนำกลับไปด้วย (ดูขันหมากเจ้าสาวจีนเพิ่มเติม คลิก)
– พิธีหมั้น เมื่อขันหมากฝ่ายชายมาถึงก็เป็นการสู่ขอ จากนั้นจึงไปรับตัวเจ้าสาวเพื่อมาทำพิธีหมั้น และทำพิธีสวมแหวน
– ป้อนขนมอี๊ หลังจากสวมแหวนแล้วอาจแทรกการป้อนขนมอี๊ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความกลมเกลียว
– พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีหมั้น และการป้อนขนมอี๊แล้ว ก็จะเป็นการรดน้ำสังข์ตามประเพณีไทย
– พิธียกน้ำชา ตามธรรมเนียมดั้งเดิม เมื่อเจ้าสาวไปถึงบ้านเจ้าบ่าว เจ้าสาวจะต้องยกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติของเจ้าบ่าวดื่ม แต่ครอบครัวไหนที่ไม่เคร่งมากอย่างเช่น คู่ไทย-จีน ก็อาจจะนำพิธีนี้มาไว้ก่อนหรือหลังพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ก็ได้ แล้วเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว หรือจะเชิญผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายขึ้นมารับน้ำชาแทนพิธีรับไหว้ไปเลยก็ได้ เพราะทั้งสองพิธีนี้มีจุดประสงค์เดียวกัน เพียงแค่เปลี่ยนจากพานธูปเทียนแพมาเป็นการยกน้ำชาแทน จากนั้นผู้ใหญ่จะให้ของรับไหว้เป็นเงินทองหรือของมีค่า ส่วนบ่าวสาวก็มอบของขวัญคืนให้แก่ผู้ใหญ่เพื่อเป็นการขอบคุณ
picture : pinterest