4 วันสำคัญใน พิธีแต่งงานแบบจีน ที่เราอยากให้บ่าวสาวอาตี๋อาหมวยได้รู้
พิธีแต่งงานแบบจีน แท้ๆ นั้นถือเรื่องฤกษ์ยามยิ่งชีพ และจะมีหลายฤกษ์มาก ตั้งแต่ฤกษ์สู่ขอ วันทำพิธี วันรับตัวเจ้าสาว วันลงกรรไกรตัดชุด วันส่งตัว และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันแม้จะลดความเคร่งลงไปมาก แต่ฤกษ์หลักๆ ก็ยังมีความสำคัญและจำเป็นอยู่ ดังนั้นเมื่อตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกันสิ่งแรกที่บ่าวสาวควรทำคือรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบ เพื่อที่จะได้นำวันเดือนปีเกิดของบ่าวสาว รวมทั้งเวลาเกิดไปดูฤกษ์ดูยามให้ซินแสผูกดวงหาฤกษ์ดีในพิธีต่างๆ ซึ่งแพรว wedding ได้คัด 4 วันสำคัญในพิธีแต่งงานจีนที่มักจะต้องถือฤกษ์ดีมาฝาก ไปดูกันดีกว่ามีวันอะไรบ้าง และบ่าวสาวจะต้องทำอะไรในวันนั้น จะได้เตรียมตัวกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ
วันสู่ขอ
ฝ่ายชายจะเดินทางไปบ้านฝ่ายหญิงตามฤกษ์ที่ได้จากซินแส โดยไปพร้อมกับแม่สื่อ (ถ้ามี) เถ้าแก่ พ่อแม่ และตามมารยาทฝ่ายเจ้าบ่าวควรเตรียมของฝากเล็กๆ น้อยๆ เช่น กระเช้าขนมหรือผลไม้ ไปกำนัลบ้านเจ้าสาวด้วย ซึ่งในวันนี้ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องแจ้งกำหนดการต่างๆ ให้ทางบ้านฝ่ายหญิงรับรู้ รวมไปถึงตกลงกันว่าฝ่ายไหนจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในวันใดบ้าง ซึ่งที่นิยมทำกันก็คือ ฝ่ายหญิงจะดูแลค่าใช้จ่ายในวันหมั้น ส่วนฝ่ายชายจะดูแลค่าใช้จ่ายในวันแต่ง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวกของแต่ละฝ่ายนะคะ เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วก็แยกย้ายกันไปเตรียมข้าวของที่จะต้องใช้ในพิธีต่างๆ
** เครื่องแต่งงานทั้งหมดสามารถหาซื้อได้ที่ร้านขายของมงคลต่างๆ ซึ่งร้านส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ที่ย่านเยาวราช และบ่าวสาวสามารถจ้างกับทางร้านได้เลยว่าต้องการเครื่องแต่งงานชุดเล็กหรือชุดใหญ่
วันพิธี
เมื่อถึงวันพิธีฝ่ายชายจะยกขันหมากมาที่บ้านฝ่ายหญิง จากนั้นทั้งสองฝ่ายจะนำเครื่องขันหมากที่ตกลงกันไว้ในวันสู่ขอมามอบให้กัน โดยฝ่ายหญิงจะมอบเอี๊ยมแดงที่เสียบปิ่นทองไว้ตรงปากกระเป๋า (ฝ่ายชายจะต้องคืนปิ่นทองให้เจ้าสาวนำมาติดผมตอนออกจากบ้านในวันรับตัว) พร้อมมอบส้มเช้ง และคืนขนมแต่งงานกลับไปให้ทางฝ่ายชายครึ่งหนึ่ง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วในวันนี้จะไม่มีพิธีสวมแหวนหมั้นและนับสินสอด แต่บางครอบครัวที่อยากมีพิธีนี้ก็สามารถแทรกไว้ในช่วงก่อนที่จะมอบเครื่องขันหมากตามประเพณีจีน
วันส่งตัว
พิธีส่งตัวเริ่มต้นที่บ้านเจ้าสาว โดยส่วนใหญ่ฤกษ์ในวันนี้มักเป็นเวลากลางคืนจึงเป็นที่มาของคำว่า ‘คืนส่งตัว’ ในวันนี้แม่ของเจ้าสาวจะปักปิ่นทองและเสียบกิ่งทับทิมไว้ที่ผมของเจ้าสาว จากนั้นให้เจ้าสาวทำพิธีไหว้เทพยดาฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ และกินอาหาร 10 อย่างที่พ่อแม่คีบให้ พร้อมฟังคำอวยพรตามหาอาหารมงคลต่างๆ ที่ท่านคีบให้ทาน ก่อนที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะมารับเจ้าสาวที่บ้าน
พร้อมเสิร์ฟ 10 อาหารมงคลที่เจ้าสาวชาวจีนต้องกินก่อนส่งตัว
วันที่เจ้าสาวกลับบ้าน
หลังแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายไปแล้ว 3 วัน (หรือบางครอบครัวอาจจะกำหนดไว้ 12 วัน) เจ้าสาวก็จะได้กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ แต่จะต้องมีน้องชายมารับ (ถ้าเจ้าสาวไม่มีน้องชาย สามารถให้หลานชายหรือญาติผู้ชายที่อายุน้อยกว่ามารับแทนได้) โดยเจ้าสาวจะต้องเตรียมส้ม 12 ผลใส่ถาดกลับบ้านไปด้วย และเมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวแล้วคู่แต่งงานใหม่จะต้องทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติฝ่ายหญิง จากนั้นจึงต่อด้วยงานต้อนรับลูกเขยที่บ้านเจ้าสาวค่ะ
** ปัจจุบันเพื่อความสะดวกและรวดเร็วจะนิยมรวบพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่ และญาติทั้งสองฝ่ายมารวมไว้ในวันเดียวกัน และมักจะจัดไว้ในช่วงท้ายของพิธี ซึ่งจะยกให้ฝ่ายไหนก่อนก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกัน
ภาพ nicholaslauphoto.com