หนึ่งในองค์ประกอบของงานแต่งงานที่จะขาดไม่ได้คือ ช่วงเวลาที่พร้อมใจกันยกแก้วร้องไชโยดื่มฉลองให้แก่บ่าวสาว หลังจบ เพลงมหาฤกษ์ ซึ่งเป็นเพลงเกียรติยศตามมาตรฐานของงานแต่งที่เมื่อประธานกล่าวอวยพรจบเป็นต้องเปิด แต่นอกจากเพลงนี้ ยังมีอีก 2 เพลงเกียรติยศที่ใช้ในพิธีแต่งงานซึ่งบ่าวสาวควรรู้ไว้จะได้ใช้ถูก
เพลงเกียรติยศอีก 2 เพลงที่ว่า ได้แก่ เพลงสรรเสริญพระบารมี และ เพลงมหาชัย ซึ่งหากบ่าวสาวต้องการนำไปใช้ในพิธีฉลองมงคลสมรสก็ควรใส่ใจกับความถูกต้องในการใช้งานให้มากที่สุด เพราะแต่ละเพลงสร้างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้กับบุคคลและโอกาสที่ต่างกัน เทคนิคง่าย ๆ ในการใช้เพลงเกียรติยศให้ถูกต้องคือ ยึดหลักการเลือกใช้เพลงตามบุคคลที่มาเป็นประธานในพิธี ดังนี้
เพลงสรรเสริญพระบารมี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีทั้งรับและส่งเสด็จ
สำหรับการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีหลังจากจบคำกล่าวถวายพระพรชัยมงคลในงานเลี้ยงฉลองสมรสทั่วไป (ไม่ใช่งานสมรสพระราชทาน) นั้นสามารถทำได้ เพราะถือเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระประมุขของชาติที่ทุกคนมีสิทธิ์ทำได้ แต่ควรระมัดระวังให้เป็นไปโดยสมควรแก่พระเกียรติยศ ซึ่งควรเชิญชวนให้ดื่มถวายพระพรชัยมงคลเฉพาะในงานที่จัดขึ้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นงานที่มีเกียรติรวมถึงผู้ร่วมงานแต่งกายสุภาพเท่านั้น
ส่วนการเปล่งเสียงไชโยปิดท้าย ถ้าเป็นงานพระราชพิธีหรืองานเสด็จพระราชดำเนินก็ไม่ควรเปล่งเสียงใด ๆ แต่ในโอกาสทั่วไปสามารถเปล่งเสียงไชโยถวายพระพรชัยมงคล หลังจากเพลงสรรเสริญพระบารมีจบแล้วได้
สิ่งหนึ่งที่ควรจำสำหรับงานเลี้ยงฉลองสมรสพระราชทานคือ เมื่อจบการดื่มถวายพระพรชัยมงคลแล้ว ประธานในพิธีไม่ควรกล่าวให้โอวาทใด ๆ ต่อ แต่สามารถเชิญแขกดื่มแสดงความยินดีให้แก่บ่าวสาวได้ เนื่องจากคู่สมรสได้รับพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชทานพรแล้ว
เพลงมหาชัย
หากผู้ที่เสด็จมาคือสมเด็จพระบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบรมราชวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า หรือพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯเสด็จเป็นประธาน ต้องเปิดเพลงมหาชัยทั้งรับและส่งเสด็จ
นอกจากนี้หากเป็นพิธีการที่มีผู้แทนพระองค์ มีระเบียบการใช้คือ หากผู้แทนพระองค์คือสมเด็จพระบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบรมราชวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า หรือพระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อผู้แทนพระองค์เสด็จมาถึง ต้องบรรเลงเพลงมหาชัยและเมื่อผู้แทนพระองค์ประทับเรียบร้อยแล้วจึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเปิดงาน เมื่อปิดงานให้บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี และเมื่อเสด็จกลับจึงใช้เพลงมหาชัยต่อท้าย แต่ในกรณีที่ผู้แทนพระองค์เป็นบุคคลอื่นก็ไม่ต้องบรรเลงเพลงใด ๆ จนเมื่อผู้แทนพระองค์นั่งเรียบร้อยแล้วจึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นการเปิดงาน เมื่อปิดงานบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเมื่อผู้แทนพระองค์กลับไม่ต้องบรรเลงเพลงใดๆ
เพลงมหาฤกษ์
ใช้สำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งโอกาสในการใช้เพลงมหาฤกษ์นั้นมีเพียงโอกาสเดียวคือ ในกรณีที่เกี่ยวกับฤกษ์ เช่น ในการเปิดงาน การวางศิลาฤกษ์ อาคาร พิธีฉลองมงคลสมรส เป็นต้น
3 เพลงที่กล่าวมาแม้จะใช้ต่างวาระและโอกาส แต่เชื่อว่าต่อไปนี้บ่าวสาวต้องใช้กันถูกที่ถูกเวลาอย่างแน่นอน