พิธีแต่งงานจีนแบบประยุกต์ ถึงจะเป็นงานแต่งลูกผสมแต่ก็เต็มไปด้วยความเป็นสิริงคลอย่างเต็มเปี่ยม
ในยุคจีนรุ่นเหลนอย่างเราที่เหลือคนรุ่นเก่าเคร่งธรรมเนียมในตระกูลน้อยเต็มที อาม้าอาป๊าก็เป็นลูกครึ่งจีนที่ไม่เป๊ะเท่าไรนัก หลายบ้านจึงนิยมลดทอนพิธีแต่งงานลงเพื่อความสะดวก ยิ่งเมื่อแต่งกับคนไทยด้วยแล้วบางบ้านอาจจัดงานควบรวมกับพิธีไทยไปเลย เราจึงนำเสนอ พิธีแต่งงานจีนแบบประยุกต์ ที่เคยเห็นมาเพื่อเป็นแนวทางให้ลูกหลานจีนที่พบรักกับคนไทย ส่วนจะคงความเป็นจีนเข้มข้นหรือเจือจางกว่านี้ก็แล้วแต่ความเคร่งของแต่ละบ้าน
สู่ขอ
ก่อนกระทำการทุกอย่างคนจีนจะให้ซินแสดูฤกษ์รอไว้ เมื่อถึงฤกษ์สู่ขอ ฝ่ายชายพร้อมคณะคือพ่อแม่และเถ้าแก่ (เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีแม่สื่ออย่างเป็นทางการแล้ว) จะนำกระเช้าผลไม้หรือขนมติดไม้ติดมือไปยังบ้านฝ่ายหญิงเพื่อพูดคุยสู่ขอ คุยเรื่องสินสอด และกำหนดการจัดพิธีต่าง ๆ รวมทั้งตกลงว่าใครจะดูแลค่าใช้จ่ายส่วนไหน ปกติแล้วฝ่ายหญิงจะรับผิดชอบงานหมั่น ฝ่ายชายจะรับผิดชอบงานแต่ง แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะ
เทียบเชิญ
การเชิญแขกผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมไทยและจีนจะคล้ายกัน คือ บ่าว – สาวควรไปเชิญด้วยตัวเอง แต่ตามธรรมเนียมจีนจะต้องเตรียมขนมติดไม้ติดมือไปมอบให้ผู้ใหญ่ด้วย เช่น ขนมจันอับ คุกกี้ ฯลฯ
หมั้น – รดน้ำ – ยกน้ำชา
ในวันงานส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยพิธีแบบไทยตามปกติ คือ มีพิธีสงฆ์ แห่ขันหมาก พิธีหมั้น หลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และเลี้ยงอาหารกลางวัน แต่อาจมีการผสมผสานความเป็นจีนเข้าไปในบางช่วง
- ขันหมากไทยผสมจีน ในขบวนขันหมากจะมีการแทรกขันหมากจีนเข้าไปด้วย เช่น มีถาดส้มเช้งและผลไม้ติดอักษรจีน “ซังฮี่” ถาดขนมแต่งงาน ถาดชุดหมู ฯลฯ สังเกตได้ไม่ยาก เพราะจะมีสีแดงหรือชมพูโดดเด่นตัดกับชุดขันหมากใบตองแบบไทย
- ขันหมากฝ่ายเจ้าสาว บางบ้านอาจเตรียมขันหมากฝ่ายเจ้าสาวไว้ตามธรรมเนียมจีน เช่น ต้นชุงเช่า (ต้นเมียหลวง) ส้ม กล้วย อ้อย ขนมมงคล ฯลฯ โดยจัดวางเตรียมไว้ใกล้จุดประกอบพิธีแยกจากขันหมากของเจ้าบ่าว โดยหลังเสร็จพิธีจะต้องแบ่งผลไม้และขนมขันหมากจากทั้งสองฝ่ายมาผสมกันและมอบให้ทางฝั่งเจ้าบ่าวนำกลับไปด้วย
- พิธีหมั้น เมื่อขันหมากฝ่ายชายมาถึงก็เป็นการสู่ขอ ไปรับตัวเจ้าสาวลงมาเข้าพิธีหมั้น และสวมแหวนหมั้น
- ป้อนขนมอี๊ หลังจากสวมแหวนแล้วอาจแทรกการป้อนขนมอี๊เข้ามา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและกลมเกลียว
- พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ หลังพิธีหมั้นจะต่อด้วยพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ตามปกติ
- พิธียกน้ำชา ตามธรรมเนียมดั้งเดิมเมื่อเจ้าสาวไปถึงบ้านเจ้าบ่าวจะยกน้ำชาให้ญาติเจ้าบ่าวดื่ม โดยจะต้องเตรียมน้ำชาใส่น้ำตาลกรวดเล็กน้อยเพื่อเป็นเคล็ดว่าผู้ใหญ่ดื่มแล้วจะรักและเอ็นดู แต่ในคู่ที่ไม่เคร่งครัดนักอย่างคู่ผสมไทย – จีนก็อาจนำพิธีนี้มาไว้ก่อนหรือหลังพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และเชิญผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายมารับน้ำชาแทนพิธีรับไหว้ไปเลยเพราะมีจุดประสงค์เดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากพานธูปเทียนแพมาเป็นยกน้ำชา จากนั้นผู้ใหญ่จะให้ของรับไหว้เป็นเงินทองของมีค่าและบ่าว – สาวมอบของขวัญขอบคุณ เช่น ผ้า ขนม ฯลฯ ตามธรรมเนียมไทยและจีน
ส่งตัว
มีทั้งส่งตัวในคืนแต่งงานและหลังจากนั้นอีกหลายวันตามแต่ฤกษ์ส่งตัวที่ได้มา ถ้าได้ฤกษ์ส่งตัวในวันแต่งงานส่วนใหญ่จะสมมติว่าห้องใดห้องหนึ่งในโรงแรมเป็นเสมือนบ้านของฝ่ายหญิง จากนั้น
- คุณแม่เจ้าสาวจะติดปิ่นทองและทับทิมให้เจ้าสาว ก่อนที่เจ้าสาวจะกินอาหารมงคล 10 อย่างที่คุณพ่อคุณแม่คีบให้ พร้อมรับฟังคำอวยพรที่ช่วยกัน เอ่ยตามความหมายของอาหารมงคลแต่ละชนิด (1. วุ้นเส้น 2. เห็ดหอม 3. กุยช่าย 4. ผักเกาฮะฉ่าย 5. หัวใจหมู 6. ปลา 7. ปู 8. ไก่ และ 9. – 10. ให้เลือก 2 อย่างระหว่าง “ตับ – ไส้ – กระเพาะหมู”)
- เจ้าบ่าวมารับตัว เจ้าสาวที่ถือพัดแดงนั่งคอยอยู่ จากนั้นกินขนมอี๊ด้วยกัน (บางบ้านที่ไม่ได้ส่งตัวแบบจีนอาจไปป้อนกันหลังสวมแหวนหมั้น) ลาพ่อแม่แล้วขึ้นรถแต่งงานไปบ้านเจ้าบ่าว โดยมีญาติผู้ชายฝ่ายเจ้าสาวที่อายุน้อยกว่าถือตะเกียงนำไปจนถึงที่หมายเพื่อเป็นเคล็ดว่าบ่าว – สาวจะมีลูกชายสืบสกุล ทั้งนี้ในรถแต่งงานหรือรถในขบวนจะต้องขนกระเป๋าเสื้อผ้า ทรัพย์สิน และของติดตัวที่พ่อแม่ให้มาไปพร้อมกันด้วย
- พิธีไหว้ฟ้าดิน เม่อื ถึงบ้านเจ้าบ่าว บ่าว – สาวต้องทำพิธีไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ไหว้บรรพบุรุษเพื่อแจ้งให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รู้ว่าครอบครัวนี้กำลังจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม และเพื่อขอพรให้อยู่กันอย่างราบรื่น จากนั้นจะผลัดกันป้อนขนมอี๊อีกครั้ง
สำหรับคู่ที่ได้ฤกษ์ส่งตัวเป็นอีกวันหนึ่ง เจ้าบ่าวก็จะไปรับเจ้าสาวที่บ้าน โดยเจ้าสาวจะต้องทำพิธีไหว้เทพยดาฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ และไหว้บรรพบุรุษก่อนที่จะกินอาหารมงคล 10 อย่างกับพ่อแม่ จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนตามปกติ
อ่านเพิ่มเติม >>> รวบตึงมาให้กับพิธีรับตัวเจ้าสาว จีน-ไทย อ่านง่ายเข้าใจทุกขั้นตอน <<< คลิกเลย!
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก Dovids Photogropher
ภาพเปิด www.promessastudios.com