ไขข้อข้องใจเรื่อง “ค่าน้ำนม” ส่วนต่างใน สินสอด ที่ใครหลายคนสงสัยทำไมต้องจ่าย

“ค่าน้ำนม” ที่รวมอยู่ใน สินสอด คืออะไร? เหตุไฉนทำไมต้องจ่ายกันนะ?

หนึ่งใน สินสอด ที่เรามักจะได้ยินก็คือ เงินค่าน้ำนม แต่คุณเคยสงสัยกันไหมว่าเงินส่วนนี้คือเงินอะไร แล้วเงินค่าน้ำนมที่ว่านี้มีทั้งในประเพณีแต่งงานไทยและจีนหรือเปล่า หากว่าที่บ่าวสาวคู่ไหนสนใจใคร่รู้เหมือนกันละก็ เราเสิร์ชและสรุปมาให้กระจ่างแล้ว

ความหมายของเงินค่าน้ำนม

ขอเริ่มต้นอย่างเป็นทางการกับคำว่า “ค่าน้ำนม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ 2554 ที่ได้ให้ความหมายไว้ว่า “เป็นเงินที่ฝ่ายชายต้องจ่ายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงในการสู่ขอเพื่อตอบแทนเป็นค่าที่ได้เลี้ยงดูมา” นอกจากนี้ยังระบุว่าคนไทยมักนิยมใช้คำว่า “ค่าน้ำนม” เข้าคู่กับคำว่า ข้าวป้อน เป็น ค่าน้ำนมข้าวป้อน ดังคำโบราณที่ว่า ให้คิดเอาค่าน้ำนมข้าวป้อน ค่าเลี้ยงรักษาแก่มันแลชายซึ่งภาเอาหญิงไปเลี้ยงนั้นให้มันช่วยหญิงเสียกึ่ง

แต่ในปัจจุบัน เงินค่าน้ำนม หมายถึง เงินที่ฝ่ายชายต้องจ่ายให้กับพ่อ-แม่ของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นการตอบแทนค่าน้ำนมที่ใช้เลี้ยงว่าที่ภรรยามาจนเติบใหญ่นั่นเอง ส่วนการให้ในแต่ละประเพณีจะแตกต่างกันอย่างไร มาดูกันจ้า

ความแตกต่างของเงินค่าน้ำนมในประเพณีไทยและจีน

ในการแต่งงานของคนไทย ค่าน้ำนม จะเรียกรวมอยู่กับเงินสินสอด เพื่อเป็นการให้เกียรติพ่อ-แม่ฝ่ายหญิง ซึ่งในอดีตมักจะเรียกค่าสินสอดกันประมาณ 30 หรือ 40 บาท พอเป็นพิธี เพราะหากเรียกมากกว่านั้นอาจถูกชาวบ้านนินทาได้ว่า บ้านนี้ขายลูกสาวกิน! และพ่อ-แม่จะมอบคืนให้กับคู่แต่งงาน เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับสร้างครอบครัวต่อไป ซึ่งในปัจจุบันเงินค่าน้ำนมของคนไทยจะให้กันตามเห็นแต่สมควรตามกำลังจะให้ได้หรือตกลงกันทั้งสองฝ่าย ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป โดยส่วนใหญ่ที่เห็นก็หลักใกล้หมื่นถึงหมื่นขึ้นไป หากบ้านไหนมีฐานะก็อาจให้มากกว่านั้นก็ได้

สำหรับประเพณีจีน ความหมายของเงินค่าน้ำนมมีความเหมือนกันกับของคนไทย แต่จะต่างกันตรงที่มีการแยกเงินค่าน้ำนมออกจากเงินสินสอดอย่างชัดเจน โดยจำนวนเงินจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันของพ่อ-แม่ทั้งสองฝ่าย ซึ่งพ่อ-แม่ของเจ้าบ่าวจะเป็นฝ่ายทำการจัดซองแดง 4 ซอง สำหรับมอบให้กับพ่อ-แม่เจ้าสาวโดยเฉพาะ ได้แก่

  • ซองสำหรับค่าน้ำนม
  • ซองสำหรับค่าเสื้อผ้า
  • ซองสำหรับค่าเสริมสวย
  • ซองสำหรับเป็นทุนตั้งตัว

ซึ่งเราขอแอบกระซิบบอกบ่าว-สาวว่าเงินทั้ง 4 ซองนี้ จะได้คืนเป็นขวัญถุงหรือไม่ขึ้นอยู่กับความปราณีของพ่อ-แม่เจ้าสาวเท่านั้นนะจ๊ะ

ทั้งหมดนี้เราจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นเงินค่าน้ำนมของไทยหรือจีน ก็มีความหมายที่เหมือนๆ กัน แต่จะแตกต่างกันก็เพียงแค่วิธีการให้เท่านั้น จึงทำให้ใครหลายๆ คนมักตีความเหมารวมว่ามันคือเงินส่วนเดียวกันนั่นเองจ้า

เมื่อทราบถึงที่มาที่ไปของค่าน้ำนมในสินสอดแล้ว ก็ต้องเตรียม >>> สคริปต์งานไทย 2 ภาษาจัดเต็มทั้ง เจรจา สู่ขอ นับสินสอด และสวมแหวน

ขอบคุณภาพและเนื้อหาจาก : www.luckpermpoon.com, dictionary.sanook.com

Recommended