เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมในงานแต่งต้องมี เค้กแต่งงาน ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่กลางห้องเสมอ ไม่ว่าจะงานเล็ก งานใหญ่ หรืองานเอ้าท์ดอร์ก็จะขาดของหวานชนิดนี้ไปไม่ได้เลย สำหรับใครที่สงสัยและใคร่รู้ แพรว wedding มีคำตอบมาให้แล้วค่ะ ว่าเค้กแต่งงานนั้นมีไว้เพื่ออะไร
ย้อนเวลากลับไปราวๆ 1,900 ปีที่แล้ว ชาวโรมันในสมัยนั้นนิยมนำข้าวสาลีอันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์มาอบกับเกลือให้เป็นเค้กชิ้นเล็กๆ สำหรับรับประทานในงานแต่ง แต่ว่าเขาจะไม่ได้ใช้มีดตัดแบบในปัจจุบันนะคะ แต่วิธีการในสมัยนั้นคือ เจ้าบ่าวจะต้องกินในส่วนหัวหรือส่วนด้านบนของเค้ก จากนั้นก็หักแบ่งออกมาแล้วนำไปโปรยลงบนหัวของเจ้าสาว (ก่อนหน้านี้ใช้ปาใส่เจ้าสาว แหมโหดอะไรเบอร์นั้น) เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชีวิตคู่ที่ยืนยาว มีความสุข และถือเป็นการอวยพรให้เจ้าสาวแข็งแรง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ส่วนแขกที่มาในงานก็จะได้รับแบ่งเค้กไปด้วยคนละนิดละหน่อย เนื่องจากเชื่อกันว่าจะได้มีชีวิตที่ดี มีความสุข และประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับบ่าวสาวนั่นเอง
แต่ถ้าใครคิดว่าเค้กแต่งงานจะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของการมีชีวิตคู่ที่มีความสุขล่ะก็ บอกเลยค่ะว่า ไม่ใช่เพียงแค่นั้น เพราะอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเค้กแต่งงานก็คือ “การเปิดบริสุทธิ์ของเจ้าสาว” เพราะชาวโรมันเชื่อว่าการหักขนมปังเปรียบเสมือนกับการที่เจ้าสาวยอมสละพรหมจรรย์ และแสดงให้เห็นว่าเธอนั้นมีชายหนุ่มตีตราจองและมีพันธะทางครอบครัวอย่างเป็นทางการ
คราวนี้เขยิบจากฝั่งโรมันมาทางเกาะอังกฤษกันบ้าง ในสมัยนั้นเค้กแต่งงานยังเป็นเพียงแค่ก้อนแป้งจืดๆ ไม่มีความหวานใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเค้กเหล่านั้นจะถูกนำมาวางซ้อนกันหลายๆ ชั้น ยิ่งสูงเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ความเจริญรุ่งเรืองของคู่บ่าวสาว จากนั้นจะให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมาจูบกันเหนือยอดเค้ก หากเค้กไม่ล้มคว่ำลงมา แสดงว่าทั้งคู่จะมีชีวิตคู่ที่ยั่งยืนและมีความสุข แน่นอนว่ายิ่งสูงเท่าไหร่บ่าวสาวจะจูบกันได้ยากเท่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาของตุ๊กตาตัวแทนบ่าวสาวที่ยืนจูบกันอยู่บนยอดเค้กแทน
และสำหรับเค้กเป็นชั้นๆ ที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 1660 ในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 มีเชฟชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งเดินทางไปที่ลอนดอน และได้เห็นประเพณีการวางเค้กซ้อนๆ กันแล้วพังครืนลงมา เขาจึงเริ่มคิดสูตรทำเค้กแยกออกมาเป็นชั้นๆ ซึ่งจะต้องเตรียมล่วงหน้าก่อนวันใช้งานจริงหลายวัน และเนื่องจากสมัยนั้นไม่มีตู้เย็น วีธีการถนอมเค้กให้อยู่ได้นานก็คือ ใช้มันหมูเคลือบเค้กให้แข็งเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเค้กแห้งและล้มลง เมื่อถึงวันแต่งงานก็แค่ขูดเอามันหมูออก แล้วจึงเสิร์ฟให้แขกรับประทาน ใช่ค่ะ ถูกอย่างที่คุณกำลังคิดว่า แล้วใครจะไปกินลง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนจากมันหมูมาใช้เป็นน้ำตาลแทน นอกจากจะไม่เหม็นแล้วยังหวานน่ารักประทานอีกด้วย
หวังว่าหลายคนคงจะหายสงสัยกันแล้วนะคะว่าทำไมงานแต่งถึงต้องมีเค้กกับเขาด้วย หลังจากนี้เห็นเค้กแต่งงานที่ไหนคงไม่ได้มองแค่ความสวยงามน่าทานแล้ว แต่คงต้องนึกไปถึงความหมายและสัญลักษณ์ต่างๆ ตามแบบประเพณีดั้งเดิมด้วย หรือบ่าวสาวคู่ไหนอยากจะลองจูบกันจริงๆ เหนือยอดเค้กก็ได้นะคะ แล้วอย่าลืมมาเล่าให้เราฟังด้วยว่าสำเร็จหรือไม่
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวความเชื่อต่างๆ ในเรื่องงานแต่งเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!
ภาพเค้กแต่งงานของคุณนก & คุณมิค ถ่ายโดย Punnakanfoto และงานแต่งงานคุณอูน & คุณแพ็ค ถ่ายโดย OAT-CHAIYASITH’s team