สถานการณ์ที่คู่รักต้องรับมือแต่งงานช่วง COVID 19 ว่าที่บ่าวสาวจะไปต่อหรือรอก่อน!?

แต่งงานช่วง COVID 19 ไปต่อหรือรอก่อน!!

ด้วยสภาวะการณ์แบบนี้อาจทำเอาหลายคู่ที่กำลังจะแต่งงานถึงกับช็อกทำอะไรไม่ถูกหากต้อง แต่งงานช่วง COVID 19 บางคู่อาจได้ฤกษ์ดีมาเลยไม่อยากเลื่อนงานแต่งออกไป เพราะกว่าจะได้ฤกษ์ดีฤกษ์ใหม่ก็อาจต้องรอนานอีกเป็นปี แต่ถ้าดันทุรังจะจัดต่อก็ต้องพร้อมรับมือกับความเสี่ยงหลายๆ อย่างที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็น เสี่ยงต่อการติดโรค และเสี่ยงต่อการที่จะไม่มีแขกกล้ามาร่วมงาน แถมการเดินทางข้ามพื้นที่ยังมีความลำบาก เอาเป็นว่าแทนที่ว่าที่บ่าวสาวจะตื่นตระหนกไปกับเหตุการณ์โรคระบาดและงานแต่งงานของตัวเอง แพรวเวดดิ้งขอให้รวบรวมสติแล้วมาวางแผนกันใหม่ดีกว่าว่าเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ยังไง และมีวิธีไหนที่จะช่วยบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวลนี้ลงได้บ้าง แล้วจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้งานแต่งงานครั้งนี้อาจไม่ต้องเลื่อน!

1. ว่าที่บ่าวสาวต้องหยุดการดำเนินการใดๆ ก่อน

หากกำหนดการงานแต่งงานของว่าที่บ่าวสาวจะเริ่มต้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เราขอให้คุณหยุดการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับงานแต่งงานของคุณลงก่อน ไม่ว่าจะเป็น การพิมพ์การ์ดแต่งงาน ของชำร่วย แล้วรีบปรึกษากับผู้จัดงาน เวดดิ้งแพลนเนอร์ โดยเฉพาะสถานที่จัดงานแต่งงาน หรือโรงแรมที่บ่าวสาวจะจัดงานแต่ง เพื่อหารือกันว่าจะเลื่อนหรือยกเลิกไปก่อน

ซึ่งถ้าหากเป็นการเลื่อนงานแต่งงานออกไปแต่ยังใช้เป็นสถานที่เดิม ว่าที่บ่าวสาวต้องสอบถามถึงกำหนดการใหม่ว่าสถานที่ว่างวันไหนบ้าง เพราะอย่าลืมว่าอาจจะไม่ใช่แค่คู่คุณคู่เดียวที่จะเลื่อนงานแต่งงานและเปลี่ยนวันจัดงานใหม่

และหากว่าที่บ่าวสาวพิมพ์การ์ดเชิญและสั่งทำของชำร่วยไปแล้วก็ไม่ต้องตกใจว่าต้องทิ้งแล้วต้องสั่งทำใหม่ทั้งหมด ตราบใดที่ยังไม่ได้ร่อนการ์ดแต่งงาน แพรวเวดดิ้งขอแนะนำให้ทำสติ๊กเกอร์วันจัดงานใหม่แปะทับวันเดิมไปเลย ถึงจะดูไม่สวยงามเท่าไหร่ แต่ก็ประหยัดงบได้นะคะ

2. ว่าที่บ่าวสาวต้องแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องในงานแต่งงานให้ทราบ

หากว่าที่บ่าวสาวตัดสินใจเลื่อนการจัดงานแต่งงานออกไป และได้วันแต่งงานใหม่พร้อมสถานที่เป็นที่เรียบร้อย อย่าลืมแจ้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานแต่งงานของคุณทุกฝ่าย เพื่อแจ้งการเลื่อนหรือยกเลิกไปก่อน แล้วค่อยทำการนัดหมายใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ช่างภาพ ช่างวิดีโอ ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม แคเทอริ่ง วงดนตรี ฯลฯ โดยเฉพาะหากคู่ไหนจ้างช่างภาพ ช่างแต่งหน้า และช่างผมชื่อดังที่จองคิวยากยิ่งต้องรีบแจ้งกำหนดการใหม่ด่วนๆ (หากมี)

เรื่องชุดแต่งงานก็เป็นเรื่องที่ว่าที่บ่าวสาวไม่ควรมองข้าม เพราะถ้าหากคุณมีแผนที่จะเลื่อนงานแต่งงานออกไปช่างอาจจะต้องนัดให้ว่าที่บ่าวสาวไปฟิตติ้งใหม่อีกครั้งเพื่อความพอดีของชุด ฉะนั้นว่าที่บ่าวสาวควรแจ้งกำหนดการใหม่ให้ทางร้านได้ทราบไว้ด้วย

3. ว่าที่บ่าวสาวต้องดูเอกสารการเซ็นสัญญาการจ่ายเงินใหม่

ในกรณีที่ว่าที่บ่าวสาวต้องเลื่อนกำหนดการจัดงานแต่งงานออกไป สิ่งสำคัญที่สุดคือการเซ็นสัญญากับผู้ที่มีความเกี่ยวข้องใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น สถานที่จัดงานหรือโรงแรม เวดดิ้งแพลนเนอร์ แคเทอริ่ง ช่างภาพและช่างวิดีโอ ร้านชุดแต่งงาน ฯลฯ หรือผู้ที่มีความเกี่ยวข้องอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ที่ว่าที่บ่าวสาวได้เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ เพื่อแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลจากสัญญาเดิม หรือการรับประกันเรื่องอื่นๆ เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของทั้งสองฝ่าย โดยจะต้องลงข้อมูลอย่างละเอียดถึงสาเหตุการเลื่อน กำหนดการใหม่ และจำนวนเงินมัดจำที่จ่ายไปแล้ว รวมถึงจำนวนเงินที่ยังคงเหลือจ่ายว่าจะมีการเลื่อนกำหนดจ่ายจากวันเดิมออกไปหรือไม่ หรือต้องจ่ายค่าปรับตามสัญญาอย่างไรบ้าง อย่าลืมอ่านให้ละเอียดก่อนเซ็นใหม่กันด้วยนะคะ

4. ว่าที่บ่าวสาวอย่าลืมแจ้งให้แขกทราบ

หากว่าที่บ่าวสาวตกลงกันอย่างชัดเจนแล้วว่าจะเลื่อนงานแต่งงานออกไป อย่าลืมแจ้งให้แขกทุกคนที่บ่าวสาวเชิญให้มาร่วมงานได้ทราบ โดยเฉพาะแขกที่อาจจะต้องเดินทางมาจากพื้นที่อื่นที่จองห้องพักเอาไว้เพื่อมาร่วมงานแต่งงานของคุณเพื่อที่แขกจะได้มีเวลาในการจัดการยกเลิกแผนการเดินทางและห้องพักที่จองไว้ และอย่าลืมแจ้งกำหนดการใหม่และสถานที่ให้แขกได้ทราบด้วย งานนี้ทั้งเจ้าบ่าว เจ้าสาว ครอบครัวของทั้งสองฝ่าย และบรรดาเพื่อนๆ อาจจะต้องช่วยกันกระจายข่าวกันหน่อยนะจ๊ะ ไม่ว่าจะด้วย การประกาศผ่านหน้าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม การยกหูโทรหา หรือวิธีใดๆ ก็ตามที่จะทำให้แขกทราบการเปลี่ยนกำหนดการวันแต่งงานได้เร็วที่สุด

5. ว่าที่บ่าวสาวที่ตัดสินใจจะจัดงานแต่งงานต่อ!

หากว่าที่บ่าวสาวมีความจำเป็นต้องจัดงานแต่งงานจริงๆ และวางแผนไว้ว่าจะมีทั้งงานหมั้นและงานฉลองมงคลสมรส และสถานที่จัดงานหรือโรงแรมไม่มีปัญหาใดๆ งานนี้ว่าที่บ่าวสาวและครอบครัวของทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องมานั่งคุยกันอย่างจริงจังถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน เช่น ลดขนาดของสถานที่จัดงานแต่งงาน และงดการจัดอาฟเตอร์ปาร์ตี้เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

โดยเฉพาะการลดจำนวนแขกให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งแขกที่มาร่วมงานจะต้องเป็นแขกที่มีความสำคัญจริงๆ เท่านั้น และว่าที่บ่าวสาวจะต้องเตรียมความพร้อมในการจัดงานให้ดี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ

  • การคัดกรองแขกที่จะมาร่วมงานว่าเคยไปพื้นเสี่ยงหรือไม่
  • มีการวัดไข้ของผู้ที่จะเข้างาน
    ** หากแขกคนใดเคยไปยังพื้นที่เสี่ยง และมีไข้เกินที่กำหนด ว่าที่บ่าวสาวอาจจะต้องขออนุญาตให้แขกคนนั้นงดเข้างาน
  • มีจุดแอลกอฮอล์ล้างมือไว้ตามที่ต่างๆ
  • ดูแลความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่มที่จะเตรียมให้แขก
  • จัดให้มีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนวันแต่งงาน
  • การรักษาระยะห่าง Social distancing

แต่หากตัดใครไม่ลงแพรวเวดดิ้งขอให้ลองพิจารณาเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อนจะดีที่สุดนะคะ

ส่วนคู่ไหนที่ต้องเดินทางไปจัดงานแต่งงานที่ต่างจังหวัดอาจจะต้องมีความจำเป็นในการเลื่อนงานแต่งงานออกไปก่อนแทนที่จะดื้อรั้นยืนยันจัดงานแต่งงานต่อไปนะคะ แพรวเวดดิ้งทราบว่าเป็นเรื่องยากที่หลายคู่จะต้องรับมือ และยากที่จะคาดการณ์ว่าจะอีกนานเท่าไหร่สถานการณ์ถึงจะเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของทั้งตัวบ่าวสาวและแขกที่จะมาร่วมงานด้วย

สุดท้ายนี้แพรวเวดดิ้งขอให้ว่าที่บ่าวสาวทำใจให้ดี รักษาสุขภาพ และคิดบวกเข้าไว้นะคะ อดทนอีกนิด รักษาสุขภาพให้แข็งแรงเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายเมื่อไหร่จะได้มีแรงกำลังมาลุยจัดงานแต่งงานกันได้อย่างเต็มที่ แพรวเวดดิ้งขอเป็นกำลังใจให้ทุกคู่รักนะคะ

>> อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับการวางแผนจัดงานแต่งงานและดูไอเดียงานแต่งเพิ่มเติมได้ที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย <<

Recommended