สูตินรีแพทย์ตัวจริง มาให้คำตอบเกี่ยวกับการเตรียมสุขภาพผู้หญิงก่อนแต่งงาน พร้อมทั้งข้อเท็จจริงของการตรวจ มะเร็งปากมดลูก ที่หลายคนยังเข้าใจผิด
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน เป็นสิ่งจำเป็นที่คู่รักควรจะต้องทำก่อนจูงมือกันเข้าพิธีวิวาห์และเข้าเรือนหอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่กำลังจะเตรียมตัวตั้งครรภ์หลังแต่งงาน เพราะนอกจากสุขภาพโดยทั่วไปของเราแล้ว สุขภาพระบบสืบพันธุ์ของเรายังเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการเตรียมพร้อมเป็นคุณแม่หลังแต่งงานด้วยจริงไหมคะ? ซึ่งการตรวจระบบสืบพันธุ์เพื่อการเตรียมตัวมีครอบครัวนั้น หนีไม่พ้นการตรวจคัดกรอง มะเร็งปากมดลูก ซึ่งถือเป็นการตรวจที่สำคัญสำหรับสาวๆ แต่เรากลับพบว่ายังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกในหมู่ผู้หญิงอยู่มาก เราก็เลยยกหูขอสัมภาษณ์คุณหมอผู้เชี่ยวชาญ น.พ. กษิติ แสงจันทร์ แพทย์สูติ–นรีเวช เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในการตรวจมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงเพื่อเตรียมตัวมีครอบครัว รวมทั้งวิธีการดูแลสุขภาพก่อนแต่งงานเพื่อจะเตรียมตัวเป็นคุณแม่ในอนาคตค่ะ
ทำไมเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการตรวจมะเร็งปากมดลูก?
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมดในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านม แต่ในปัจจุบันนี้พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ และอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2555 คือ 14 คน ต่อวันเลยทีเดียว
ใครบ้างที่ควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก?
ผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว สามารถไปตรวจคัดกรองหมด ไม่ว่าจะอายุเท่าไร และไม่ต้องรอให้มีแผนจะแต่งงานหรือมีบุตรก่อนก็สามารถมาตรวจได้เลยครับ
วิธีการตรวจคัดกรองในปัจจุบันนี้ใช้วิธีอะไร เจ็บไหมคะ?
มีสองวิธีหลักๆ วิธีแรก เรียกว่า Pap Smear แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดผ่านคลอด จากนั้นจะทำการป้ายเซลล์จากมดลูกส่งตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ซึ่งถือเป็นวิธีที่นิยมใช้เนื่องจากทำได้ง่ายและราคาถูก และเนื่องจากปัจจุบันทราบแล้วว่าสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ HPV จึงเป็นที่มาของการตรวจอีกวิธีหนึ่งเรียกว่า การตรวจ HPV DNA test(การตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสเอชพีวี) ซึ่งวิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายก็จะสูงกว่า ทั้งสองวิธีไม่เจ็บครับ
สิ่งที่ผู้หญิงมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คืออะไรคะ?
–ข้อแรกคือ ไม่รู้ว่าควรจะมาตรวจหากผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว และเมื่ออายุมากกว่า 21 ปี ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้องรอให้อายุมากๆก่อนค่อยมาตรวจ
–ข้อที่สองคือ เข้าใจว่ามะเร็งปากมดลูกสืบต่อกันทางพันธุกรรมเหมือนมะเร็งชนิดอื่นๆ คือถ้าในครอบครัวไม่มีประวัติก็คิดว่าตัวเองไม่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้วคือ หากเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว ถือว่ามีความเสี่ยงครับ
–ข้อที่สามคือ คิดว่า หากไม่มีอะไรผิดปกติอะไรก็ไม่ต้องมาตรวจ แต่ที่จริงแล้วมะเร็งปากมดลูกใช้เวลานานกว่า 10 ปีกว่าจะแสดงอาการ นั่นหมายความว่าหากคนไข้มีอาการ แสดงว่าอยู่ในระยะท้ายๆของโรคแล้วครับ
แล้วอาการที่จะสงสัยได้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก มีอะไรบ้างคะ?
–มีตกขาวผิดปกติ ไม่ว่าจะเยอะเกินไป หรือมีสี/ กลิ่น ที่ไม่ปกติ
–เลือดออกกระปิดกระปรอยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
–เลือดออกกระปิดกระปรอย แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน
หากมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวิเคราะห์อย่างละเอียดครับ
ข้อสุดท้าย แล้วถ้าเรายังเป็นผู้หญิงบริสุทธิ์ เราสามารถทำอะไรเพื่อป้องกันได้บ้างคะ?
แนะนำให้เข้ามารับวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก เพราะวัคซีนชนิดนี้จะทำงานได้ดีที่สุดในผู้หญิงที่ไม่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นจนถึง 26 ปีไปก็สามารถเข้ามารับวัคซีนได้ แต่ผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว, อายุมากกว่า26ปีหรือเคยมีประวัติการติดเชื้อHPV มาแล้ว ก็สามารถรับวัคซีนได้เช่นกันครับ แต่ประโยชน์ของวัคซีนอาจจะลดลง
ได้ความรู้กันแบบเต็มๆ สำหรับการป้องกันตัวเองจากมะเร็งปากมดลูกจากคุณหมอสูตินรีเวชตัวจริง บอกเลยว่าเรื่องเล็กๆแบบนี้ผู้หญิงเราไม่ควรมองข้ามนะคะ ยิ่งถ้าเป็นว่าที่เจ้าสาวที่กำลังจะมีครอบครัว ยิ่งต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ ว่าแล้วใครที่ยังไม่ได้บุ๊คคิวเข้าตรวจสุขภาพกับคุณหมอ ก็รีบจูงมือคู่รักไปบุ๊คคิวซะละคะ จะได้เข้าเรือนหอกันแบบสบายใจ ไร้โรค และเตรียมตัวเป็นคุณแม่อย่างเต็มที่ได้ค่ะ
ขอขอบพระคุณข้อมูลจาก น.พ. กษิติ แสงจันทร์ แพทย์สูติ-นรีเวช
อ่านข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นประโยชน์สำหรับความรู้เพิ่มเติมเรื่องมะเร็งปากมดลูก ได้ที่นี่