ไม่อยากให้รักเสียหลัก ต้องรู้จักวางแผนการเงิน (ร่วมกัน)

หนุ่มสาววัยทำงานเมื่อคบหาดูใจสักระยะหนึ่งคงหนีไม่พ้นการวางแผนที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในอนาคตด้วยการแต่งงาน ซึ่งการเตรียมตัวเข้าสู่ประตูวิวาห์ของแต่ละคู่ก็ไม่เหมือนกัน บางคู่เก็บหอมรอมริบไว้ใช้เตรียมงานแต่ง ค่าสินสอด ค่าจัดงาน บางคู่วางแผนเพื่อการปลูกเรือนหอและจิปาถะอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะเตรียมตัวในเรื่องไหนก็ต้องมีเรื่องเงินทองเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ

วางแผนการเงิน เพื่อความรักจะได้ไม่มีปัญหา

Photo by Viacheslav Bublyk on Unsplash

วันนี้เราจึงเฟ้นหาแนวทางเจ๋งๆ ในการวางแผนการเงินร่วมกันมาฝาก เพื่อให้ทุกคู่รักได้เตรียมพร้อมกันไว้เนิ่นๆ การันตีว่าแค่ทำตามรักของคุณจะไม่สะดุด การเงินของคุณจะไม่เสียหลักอย่างแน่นอน

1. เปิดอกเรื่องการเงิน

เมื่อตกลงที่จะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้วควรจะพูดความจริง อย่าปกปิดเรื่องเงินเด็ดขาด มีรายรับรายจ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ควรเปิดอกคุยกัน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายไปในเรื่องไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน การกิน การเที่ยวก็ต้องนำมาคุยกันให้ครบถ้วน เช่นสาวๆ ชอบเรื่องช้อปปิ้ง หนุ่มๆ ชอบเรื่องแต่งรถ เครื่องเสียง เกมส์ ก็ต้องเปิดเผยตัวเลขให้ชัดเจนว่าเดือนหนึ่งหมดไปเท่าไหร่ ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวางแผนการเงินในแต่ละเดือนร่วมกันใหม่ว่าจะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในส่วนไหนได้บ้าง และที่สำคัญ อย่าลืมทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนไว้ด้วย และคนที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเงินก็ต้องโปร่งใสอัพเดตข้อมูลให้อีกฝ่ายรับรู้อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความเชื่อใจกัน ถ้าเริ่มตรงข้อนี้ได้เชื่อแน่ว่าอนาคตความรักทางโปร่งโล่งสบายไร้ปัญหาแน่นอนค่ะ

2. เปิดบัญชีร่วมกัน

ถึงแม้ว่าต่างคนก็ต่างมีบัญชีเงินออมของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่เมื่อตกลงที่จะลงหลักปักฐานร่วมกันควรมีบัญชีเงินฝากร่วมกันหนึ่งบัญชีและต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าบัญชีนี้จะนำไปใช้อะไร เช่น เป็นเงินสินสอด ค่าจัดงาน ซื้อบ้าน เก็บเงินเพื่อลงทุนธุรกิจร่วมกันในอนาคต ต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนและเป็นนิสัย เพราะยิ่งพูดคุยกันมากปัญหาในการใช้จ่ายและปัญหาอื่นๆ จะลดลงทันที ที่สำคัญจะเปิดบัญชีในนามบุคคลเดียว หรือใช้ชื่อในบัญชีร่วมกัน ต้องตกลงร่วมกันให้ชัดเจน ด้วยความเต็มใจ และต้องใช้ความเชื่อใจของอีกฝ่ายมากด้วยในกรณีที่เปิดบัญชีในนามบุคคลเดียว ทางเดียวที่จะไม่ให้เกิดปัญหาคือต้องพูดความจริง และโปร่งใสไม่หมกเม็ดกันนะคะ

Photo by Sandy Millar on Unsplash

3. วางแผนสำรองล่วงหน้า

แผนสำรองที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงเมื่อมีเจ้าตัวน้อยในอนาคตด้วยว่าจะบริหารการเงินอย่างไร เพราะเมื่อมีลูกค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเลย ยิ่งสมัยนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ต้องคิดเผื่อถึงตอนนั้นเลย ทางดีที่สุดคือควรเก็บเงินส่วนนี้ไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือแม้แต่กระทั่งหากเกิดการหย่าร้างกันขึ้นมาสินสมรสจะแบ่งกันอย่างไร หนี้สินต้องชำระหนี้ตรงไหนบ้าง ค่าเลี้ยงดูต่อเดือนจำนวนเท่าไหร่ ต้องสื่อสารกันให้ชัดเจนและเข้าใจ

4. ตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย

รายได้ของแต่ละคนต่อเดือนไม่เท่ากันอยู่แล้ว ดังนั้นความรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายก็ไม่เท่ากันด้วย ยิ่งถ้าผู้หญิงมีรายได้มากกว่าผู้ชาย ควรที่จะต้องพูดจาถนอมความรู้สึกของอีกฝ่ายเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าไม่มีความเป็นผู้นำ และการที่มีรายได้มากกว่าไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบมากกว่าเสมอไป ควรแบ่งเบาไปตามกำลังและความถนัดในการแบกรับค่าใช้จ่ายไป

5. เตรียมรับมือความเปลี่ยนแปลง

คู่รักที่แต่งงานกันมานานย่อมมีการไม่เข้าใจ กระทบกระทั่งกันบ้าง จากที่เคยพูดคุย ก็ไม่ค่อยพูด อย่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ยิ่งอยู่ด้วยกันนาน ยิ่งต้องพูดคุยด้วยกันเยอะๆ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ อย่าปล่อยให้คาใจและสร้างปัญหาตามมา เงินเก็บร่วมกันควรมีเป้าหมายในแต่ละปีว่าเงินก้อนที่เก็บร่วมกันมาจะเอาไปทำอะไร อย่าตามใจอีกฝ่ายมากจนรู้สึกว่าตนโดนเอาเปรียบ และควรที่จะนำเงินส่วนหนึ่งไปเที่ยวเพื่อเติมความรักไม่ให้จืดชืดร่วมกันบ้าง เช่นไปต่างประเทศปีละครั้งก็ยังดี ถือซะว่าเป็นโบนัสให้กับชีวิตคู่ก็แล้วกันค่ะ

และอย่าลืมคิดเผื่อและกันเงินส่วนหนึ่งไว้ในยามที่มีใครคนใดคนหนึ่งตกงานหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่มีรายได้ตามมา เพราะอย่าลืมว่ารายจ่ายมีทุกเดือนนะคะ

 

 

Recommended