เรื่องเงินต้องพูด “งานไหนใครจ่าย” ในงานแต่งงานของสองเรา

เรามักจะเน้นเรื่องเงินๆ ทองๆ สำหรับคู่รักอยู่หลายครั้ง เพราะเห็นมาหลายคู่แล้วที่รักกัน แต่พอจะจัด งานแต่งงาน ที่ต้องใช้เงินเยอะกลับเคลียร์เรื่องนี้ไม่ลงตัวจนถึงขั้นเลิกรา ถ้าว่าที่สามีของใครเป็นพ่อบุญทุ่มออกให้ทุกบาททุกสตางค์ก็อย่าไปปฏิเสธเขานะคะ (ดีจะตาย!)

แบ่งให้ดี เคลียร์ให้ลงตัว งานแต่งงาน ของเราใครจะจ่ายส่วนไหนบ้าง

Photo by Karolina Grabowska from Pexels

ส่วนใครที่ไม่ได้โชคดีขนาดนั้นก็มักจะใช้วิธี “แบ่งกันจ่าย” ซึ่งมักจะเกิดปัญหาแบ่งกันไม่ลงตัว ไม่รู้ว่าใครควรจะจ่ายส่วนไหน แพรว wedding เลยนำเทคนิคการแบ่งความรับผิดชอบจากประสบการณ์ของบ่าวสาวหลายคู่ที่บอกว่า แบ่งกันแบบนี้ไร้ปัญหากวนใจ เวิร์กสุดๆ!

1. ตกลงกันก่อนว่าจะจัดกี่วัน จัดกี่พิธี แล้วใครจ่ายเงินพิธีไหน?

เรื่องนี้เราอยากให้ว่าที่บ่าวสาวคุยกันตั้งแต่ต้นค่ะ เพราะเราจะได้รู้ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ จ่ายไปกับส่วนไหนบ้าง อีกทั้งยังเหมาะกับทุกคู่รัก ทุกชาติ ทุกศาสนา ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณเป็นคู่รักที่นับถือศาสนาเดียวกัน อาจเลือกจัดพิธีทางศาสนา 1 พิธี แล้วตามด้วยพิธีฉลองมงคลสมรสอีก 1 พิธี คราวนี้ก็ตกลงกันไปเลยว่าใครจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในพิธีไหน แบบนี้เป็นต้น

สำหรับคู่รักต่างศาสนาก็ไม่ยากอะไรค่ะ ส่วนใหญ่ที่เราพบเจอมาเขาจะแบ่งกันแบบนี้คือ พิธีทางศาสนาของใครคนนั้นก็รับผิดชอบไป ส่วนพิธีฉลองมงคลสมรสก็แล้วแต่ว่าเจ้าบ่าวจะใจป้ำออกหมด มีคุณพ่อคุณแม่เป็นสปอนเซอร์ หรือจะช่วยกันจ่ายคนละครึ่งแบบนี้ก็แฟร์ๆ ดีค่ะ

2. ตัดสินยังไงว่าใครจะจ่ายส่วนไหนบ้าง?

อย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า “แบ่งรับผิดชอบกันคนละพิธี” แบบนี้ก็ง่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีรายละเอียดยิบย่อยที่ต้องพิจารณากันอีกว่า อันนี้ใครจะจ่าย เพื่อไม่ให้สับสนเราเลยลิสต์มาให้ดูเป็นข้อๆ เลยจ้า

2.1 แบ่งกันจ่ายตามประเพณี

ส่วนใหญ่แล้วพิธียกขันหมากตามประเพณีไทยหรือแม้แต่พิธียกน้ำชาแบบจีนมักจะให้ความสำคัญกับฝ่ายหญิงและจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายหญิง ซี่งทางเจ้าสาวก็จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในเรื่องการจัดตกแต่งสถานที่รับขันหมากและเรื่องอาหารเลี้ยงแขกหลังเสร็จพิธี ส่วนสินสอดทองหมั้นและของในขบวนขันหมาก แน่นอนว่าฝ่ายชายรับไปนะจ๊ะ

2.2 เสื้อผ้า หน้าผม จ่ายใครจ่ายมัน

เรื่องนี้บอกคงต้องบอกว่า “ดูแลตัวเอง” กันนะคะ เจ้าสาวอยากใส่ชุดไหน ใส่กี่ชุด เชื่อมือช่างแต่งหน้าทำผมคนไหนก็ลงทุนออกเงินเองเลยค่ะ เจ้าบ่าวก็เช่นกันนะ อยากหล่ออยากเท่ยังไงก็จ่ายตังค์เอง อาจจะโชคดีหน่อยถ้าคุณรู้จักมองหาโปรโมชั่นควบสอง อย่างเช่น ซื้อชุดเจ้าสาวแถมชุดเจ้าบ่าว แถมช่างแต่งหน้าทำผมแบบ one stop service อย่างนี้จะหารกันจ่ายก็ได้นะ

2.3 การ์ดและของชำร่วย

ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ต้องตกลงกันให้ดีค่ะ หลายคู่ใช้วิธีแบ่งจ่ายตามจำนวนแขกฝั่งตัวเองแล้วสบายใจก็ทำได้ หรือจะอเมริกันแชร์คนละครึ่งไม่แบ่งแขกฉันแขกเธอแบบนี้ก็เริดอยู่ คนส่วนใหญ่ก็ทำอย่างนี้แหละ หรือถ้าจะให้แอดวานซ์หน่อยก็แบ่งกันไปเลยว่า การ์ดและของชำร่วยงานเช้าเธอจ่าย ส่วนงานเย็นฉันจ่าย จะเลือกแบบไหนก็ตกลงกันให้ดี เอาที่สบายใจทั้งคู่แล้วกันเนอะ

การแต่งงานเป็นอีกหนึ่งอีเวนท์สำคัญในชีวิต ไม่แปลกอะไรที่จะต้องใช้จ่ายเงินมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่ได้โชคดีมีพ่อบุญทุ่มแม่บุญทุ่มออกค่าใช้จ่ายให้ครบเสร็จสรรพ ว่าที่บ่าวสาวทั้งหลายคงต้องชัดเจนในเรื่องการแบ่งจ่ายใช้งบประมาณกันสักนิด ป้องกันการสับสนและปัญหาที่จะตามมาในอนาคตนะ

ถ้าแบ่งค่าใช้จ่ายกันเรียบร้อยลงตัว อีกหนึ่งสเต็ปที่บ่าวสาวต้องวางแผนก็คือการหาผู้ช่วยจัดงานอย่างเวดดิ้งแพลนเนอร์ เพราะฉะนั้นหากบ่าวสาวแน่ใจว่างานนี้ต้องใช้บริการผู้เชี่ยวชาญแน่ๆ ก็ต้องไปศึกษา >> 3 สเต็ปพิชิตงานแต่งงานในฝันก่อนไปหาเวดดิ้งแพลนเนอร์ << กันต่อเลย

ภาพ : www.time.com

Recommended