การจดทะเบียนสมรสเป็นสิ่งยืนยันทางกฎหมาย ว่าคุณและคนที่คุณรักเป็นของกันและกันอย่างสมบูรณ์ ซึ่งการจดทะเบียนสมรสสามารถจดได้ที่ที่ว่าการอำเภอและ จดทะเบียนสมรสนอกสถานที่
การที่คู่บ่าวสาว ต้องการจดทะเบียนสมรสให้ตรงกับฤกษ์แต่งงาน ซึ่งอาจจะตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ที่ที่ว่าการอำเภอปิด หรืออยากได้ภาพบรรยากาศการจดทะเบียนสมรสสวยๆเก็บไว้เป็นที่ระลึก จดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ คือคำตอบ
สิ่งที่ต้องรู้สำหรับการจดทะเบียนสมรส
คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส
- จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์แต่ถ้ายังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย ส่วนสาวๆ หนุ่มๆ คนไหนที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง ส่วนสาวน้อยหนุ่มน้อยคนไหนที่อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ แต่อยากจะจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลซะก่อน
- ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
- ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา
- ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
- ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้
เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปยื่นจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่
- บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนาของชายหญิง (บัตรที่ยังไม่หมดอายุ)
- ทะเบียนบ้านตัวจริงของชายหญิงพร้อมสำเนา
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน โดยพยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมงานในวันงานด้วย
- ใครที่เคยหย่ามาก่อนต้องเอาหลักฐานการหย่ามาด้วย
- สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร (หากมีบุตรที่เกิดก่อนจะมาจดทะเบียนสมรส)
หมายเหตุ : ใครจะจดทะเบียนสมรสกับคนรักที่เป็นชาวต่างชาติต้องมีสำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) และ หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต พร้อมคำแปล (ที่มีการรับรองว่าแปลถูกต้อง) มาด้วย
เมื่อเตรียมเอกสารครบแล้ว ให้ไปติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อแจ้งขอจดทเบียนสมรสนอกสถานที่ ที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่โรงแรมหรือสถานที่ที่เราจัดงานตั้งอยู่ ไม่สามารถจดข้ามเขตได้ โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนวันงานอย่างน้อย 3 วัน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้จัดคิวไปงานของเราได้ถูก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายทะเบียน โทร. 02-236-1395 ต่อ 6230 ถึง 6234
ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขข้อตกลง
จดทะเบียนสมรสนอกที่ว่าการอำเภอ จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาท รวมถึงจะต้องจัดหารถสำหรับรับ-ส่งนายทะเบียนอีกด้วย (เรื่องรถบางกรณี นายทะเบียนจะจัดรถไปเอง แล้วแต่ตกลงกัน)
เปลี่ยนคำนำหน้า เปลี่ยนนามสกุล
สำหรับฝ่ายหญิงที่คิดจะเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นางสาว” เป็น “นาง” หรือเปลี่ยนไปใช้ “นามสกุลสามี” (ซึ่งจะเปลี่ยนหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องแจ้งความจำนงค์ต่อเจ้าหน้าที่) หลังจากจดทะเบียนสมรสและทำการเปลี่ยนคำนำหน้าและเปลี่ยนนามสกุลเสร็จแล้ว เอกสารที่คุณจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีก็คือ “หนังสือสำคัญการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.๕)” เพราะมันจะต้องใช้ในการเปลี่ยนชื่อสกุลของคุณกับเอกสารอื่นๆ ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเดินทาง บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ฯลฯ
ติดตามไอเดียและเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับงานแต่งงานได้ที่ >> praewwedding <<