ความรักเป็นสิ่งที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ และได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมายรับรองวันนี้ แพรวเวดดิ้ง เลยมาสรุปสาระสำคัญและสิทธิที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันได้รับตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับนี้
พ.ร.บ. คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนได้แล้วพร้อมสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย
ก่อนจะไปดูว่าพ.ร.บ. คู่ชีวิต ปี 2563 ให้สิทธิอะไรกับคู่รักเพศเดียวกันบ้าง ขอย้อนความไปจุดเริ่มต้นของร่งพ.ร.บ. นี้กันสักนิด จริงๆ แล้วการเรียกร้องพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำกันมาหลายปี โดยร่างแรกเกิดขึ้นในปี 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในช่วงนั้นมีเสียงทัดทานและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ทั้งฝั่งคนทั่วไปและแม้กระทั่งคู่รักเพศเดียวกันด้วย เหตุผลหลักมาจากสิทธิ์ที่กำหนดในตอนนั้นน้อยมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงแค่การอนุญาตให้จดทะเบียนแต่แทบไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ เลย เช่น
- ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้
- ไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดียวกันได้
- ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รักได้
- ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐของคู่รักได้
พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงถูกแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า จนผ่านมากว่า 7 ปี ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ปี 2563 (ร่างที่ 6) ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ให้คำนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” ไว้ว่า
“คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พระราชบัญญัติ นี้
ซึ่งสาระสำคัญหลักในร่างพ.ร.บ ฉบับนี้จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย ดังนี้
- กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัติคู่ชีวิต
- กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
- กรณีผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือ ศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
- กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีภรรยา ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา
- กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็น สินส่วนตัว และสินทรัพย์ร่วมกัน
- คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมถึงการจดทะเบียนรับผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้
- เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์และหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
- กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตได้โดยอนุโลม
นอกจากสาระสำคัญข้างบนแล้ว ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน ดังนี้
- กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือ คู่ชีวิตอยู่ไม่ได้
- กำหนดให้เหตุผลฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต
- กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตและได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว แต่ยังคงได้รับสิทธิไม่เท่ากับคู่สมรส เนื่องจากว่ามีบางข้อในร่างพ.ร.บ. ที่เสนอไปตั้งแต่ต้นไม่ถูกอนุมัติ เช่น สิทธิการรับบุตรโดยการอุ้มบุญ สิทธิการเปลี่ยนไปใช้นามสกุลเดียวกัน สิทธิการรับสวัสดิการรัฐของคู่ชีวิต และสิทธิในการลดหย่อนภาษีจากการมีคู่ชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เทียบเท่ากับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิงทั่วไป
การผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และยังเป็นประเทศลำดับที่ 27 ของโลกที่ออกกฎหมายประเภทนี้อีกด้วย
ติดตามเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ของคู่รักได้ที่ >>> Love & Relationship
ข้อมูลจาก : accesstrade.in.th, web.krisdika.go.th