รู้จักการลงทุนหลังแต่งงานแบบความเสี่ยงน้อย เพื่อชีวิตคู่มั่นคงไม่สั่นคลอน

หนึ่งในปัญหาชีวิตคู่ที่ทำเอาหลายคนหย่าร้างกันมานักต่อนักคือ ปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะต่อให้เป็นสามีภรรยาที่สาบานตนว่าจะรักกันจนวันตายก็ไม่วายทะเลาะกันได้เมื่อเกิดอาการเงินทองสะดุดแต่ปัญหานี้ป้องกันได้ เพราะฉะนั้นการ ลงทุนหลังแต่งงาน จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สามีภรรยาไม่ควรมองข้าม ลองทำตามสเต็ปชีวิตที่ แพรว wedding แนะนำดู แล้วคุณจะพบว่ายังมีช่องทางดีๆ ช่วยลดความเสี่ยงแห่งหายนะเงินทอง พร้อมกับการสร้างสุขให้ชีวิตคู่ของคุณ

 

สเต็ป 1 : เปิดใจ เปิดปาก และวางเป้าหมายร่วมกัน

ก่อนจะเลือกลงทุนเพื่อลดปัญหาชีวิตคู่สิ่งแรกที่ แพรว wedding อยากให้ทุกคู่รักพึงกระทำคือปูพื้นฐานทำความเข้าใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ระหว่างคุณและเขา โดยเปิดใจคุยกันเรื่องรายรับรายจ่ายของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินที่มีอยู่ พร้อมกันนี้ต้องไม่ลืมแจกแจงด้วยว่า คุณมีวิธีใช้จ่ายอย่างไร รวมถึงจัดการชำระหนี้แบบไหน ลำดับต่อไปคือ พูดคุยถึงเป้าหมายชีวิตที่มีร่วมกันว่าคุณทั้งคู่วางแผนกันไว้อย่างไร เพื่อจะได้รู้ว่าควรจัดสรรลงทุนกับอะไรจึงจะเหมาะสมที่สุด เช่น มีเป้าหมายร่วมกันในเรื่องการศึกษาบุตร ชีวิตหลักเกษียณ หรือแผนการท่องเที่ยว เป็นต้น

สเต็ป 2 : เช็กความเข้าใจเรื่องการลงทุน และการยอมรับความเสี่ยง

ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณและเขามีความรู้เรื่องการลงทุนหรือเปล่า ถ้ามีก็ไม่ยาก แต่หากไม่มีเลยต้องเริ่มศึกษาก่อนตัดสินใจเลือกลงทุน และแพรว wedding ขอย้ำว่า อย่ารู้เรื่องแค่คนเดียว เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีมากมายหลายแบบ ซึ่งต่างก็มีความเสี่ยงสูงต่ำไม่เท่ากัน ดังนั้นก่อนที่คู่รักจะร่วมกันเลือกว่าจะลงทุนกับอะไร ควรพิจารณาความเสี่ยงที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินแต่ละประเภทด้วยปัจจัย 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ก่อนลงทุนควรรู้ระดับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตนเอง

2. ระยะเวลา เมื่อรู้แล้วว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใดเหมาะสมตามระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ ก็ควรทราบระยะเวลาที่สามารถลงทุน เพื่อจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมได้

3. อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ในกรณีที่คุณมีประเภทผลิตภัณฑ์ที่ต้องการลงทุนอยู่ในใจแล้ว ควรเช็กอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนว่าได้ตามที่ต้องการหรือไม่ เพื่อให้สามารถเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับที่คาดหวังมากที่สุด

ลงทุนหลังแต่งงาน

ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะมีความเสี่ยงต่างกันแล้ว การประกอบอาชีพของแต่ละฝ่ายก็สะท้อนความเสี่ยงที่ต่างกันออกไป ดังนั้นควรนำความรู้เรื่องการลงทุนมาพิจารณาร่วมกับรูปแบบอาชีพของคู่สมรสเพราะลักษณะอาชีพที่แตกต่างกัน รายรับ รายจ่าย สวัสดิการที่ได้ จะทำให้คู่รักมีการยอมรับความเสี่ยงที่ต่างกันด้วย

ข้าราชการ รายได้สม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่สูงนัก แต่มีสวัสดิการ ได้รับบำเหน็จบำนาญ ลักษณะงานมีความมั่นคงสูง ความเสี่ยงต่ำ การลงทุนที่เหมาะสมคือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง

รัฐวิสาหกิจ รายได้สม่ำเสมอและอาจมากกว่าข้าราชการ มีสวัสดิการ ได้รับบำเหน็จจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินชดเชย ลักษณะงานมีความมั่นคงสูง ความเสี่ยงต่ำ การลงทุนที่เหมาะสมคือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

เอกชน รายได้พอสมควร ถึงรายได้สูง มีประกันสังคม บำเหน็จจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงเงินชดเชย สวัสดิการ องค์กรเล็กอาจะมีความมั่นคงน้อยกว่าองค์กรที่มีขนาดใหญ่ การลงทุนที่เหมาะสมคือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง

เจ้าของกิจการหรืออาชีพอิสระ รายได้ผันผวนตามผลของงาน ไม่มีสวัสดิการ จะมีก็แค่บัตรทองเท่านั้น จึงควรมีประกันสุขภาพเพิ่มเติม ลักษณะงานหากเปรียบเป็นความเสี่ยงถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด การลงทุนที่เหมาะสมคือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและประสบการณ์การลงทุนด้วย

สเต็ป 3 : ช่วยกันวางแผนค่าใช้จ่ายในบ้านและบริหารเงินส่วนกลาง

หลังจากสำรวจแล้วว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินและอาชีพของแต่ละฝ่ายมีความเสี่ยงอย่างไร ลำดับถัดไปคือ ตกลงกันให้ดีว่าจะแบ่งหน้าที่รับผิดชอบค่าใชจ่ายในครอบครัวอย่างไร

แยกกระเป๋า แบ่งเงินเดือนที่ได้มาออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวทุกประเภท อีกส่วนคือค่าใช้จ่ายตามที่ตกลงกัน เช่น ฝ่ายชายรับภาระผ่อนบ้านและรถ ฝ่านหญิงรับภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน ค่าเทอมลูก เป็นต้น วิธีนี้ควรแยกทำบัญชีส่วนตัวกับบัญชีครัวเรือน

รวมกระเป๋า นำเงินเดือนทั้งหมดมารวมกันแล้วค่อยจัดสรรค่าใช้จ่าย วิธีนี้ต้องมีการจดบันทึกรายรับ รายจ่ายทุกครั้งที่มีการนำเงินออกไปใช้ จะได้ไม่มีปัญหาใช้เงินเพลินจนไม่พอจ่าย

ทั้งรวมและแยกกระเป๋า แบ่งเงินเดือนที่ได้ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว อีกส่วนนำเข้ากองกลางแล้วค่อยจัดสรรค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

ลงทุนหลังแต่งงาน

สเต็ป 4 : จับคู่เป้าหมายที่วางไว้ กับการลงทุนที่เหมาะสม

ย้อนกลับไปดูเป้าหมายที่วางไว้แล้วเริ่มแมตช์กับการลงทุนที่เล็งไว้ได้เลย เช่น

1. เป้าหมายเพื่อการศึกษาบุตร อาจแบ่งเป้าหมายตามระดับชั้น เช่น ระดับชั้นที่ใกล้อย่างอนุบาล อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ สำหรับการศึกษาระดับสูงขึ้นที่มีระยะเวลาในการลงทุนมากหน่อย ก็อาจเลือกลงทุนสินทรัพย์ที่มีระยะเวลายาวนานขึ้น ส่วนการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ยังมีเวลาอีกนานกว่าลูกจะเข้าเรียน หากต้องการเริ่มสะสมตั้งแต่ตอนนี้ อาจเลือกกองทุนผสมที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเพิ่มอีกสักหน่อย หรือการทำประกันแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น

2. เป้าหมายเพื่อชีวิตหลังเกษียณ เป็นเป้าหมายระยะยาวแต่มีความสำคัญมาก ดังนั้นระหว่างที่มีรายได้จึงต้องให้ความสำคัญกับการออมเงินสำหรับใช้หลังเกษียณด้วย เช่น พนักงานบริษัทเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้เลือกแบบหักเปอร์เซ็นต์สูงที่สุด หรือหากเป็นเจ้าของธุรกิจเอง กองทุนที่น่าสนใจคือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ เป็นต้น

3. เป้าหมายเพื่อการท่องเที่ยว หากมีแผนเดินทางในระยะเวลาใกล้ๆ อาจจะออมเงินในกองทุนตลาดเงินที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าการฝากออมทรัพย์ แต่หากวางแผนเดินทางในระยะยาวประมาณ 6-12 เดือน อาจลงทุนไปกับกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 6-12 เดือน ส่วนคู่รักที่วางแผนเที่ยวระยะยาวมากๆ เช่น อีกราวๆ 2 ปี ไม่ควรลงทุนไปกับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง อาจเลือกลงทุนไปกับการฝากประจำที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี โดยฝากเป็นจำนวนเท่าๆ กันทุกเดือน เป็นต้น

ภาพ homesales.com.au, francofurniture.es, clg-llc.com

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ให้ราบรื่นเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!

Recommended