10 ขั้นตอนง่ายเว่อร์แค่ทำตามนี้ก็ได้ชุดแต่งงานสุดเพอร์เฟ็กต์

เตรียมพร้อมตะลุยร้าน ชุดแต่งงาน ด้วย 10 ทริคไม่มีวันล้าสมัยที่แพรวเวดดิ้งรวบรวมและเก็บตกมาให้ว่าที่เจ้าสาวท่องจำก่อนวางใจและวางเงินให้ร้านชุดสวยสานฝันต่อ บอกไว้ตรงนี้เลยว่า ต่อให้แต่งแล้วลูกโต ทริคทั้ง 10 ที่ว่านี้ยังใช้ได้สบายๆ

1. ตั้งงบประมาณ

ตั้งงบประมาณทั้งหมดสำหรับจัดงานแต่ง จากนั้นถามตัวเองว่าจะทุ่มงบประมาณกับ ชุดแต่งงาน เท่าไร คุณอาจกำหนดเป็นวงเงิน 30,000 – 50,000 บาท หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จากงบทั้งหมดก็ได้ เช่น 5 เปอร์เซ็นต์สำหรับชุดหมั้น และ 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับชุดเจ้าสาวจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด เป็นต้น ถ้าลงสนามหาชุดแล้วเกิดเจอชุดถูกใจแต่เกินงบ ก็สามารถเพิ่มงบได้ไม่ว่ากัน แต่อย่าลืมลดงบประมาณด้านอื่น ๆ ลงด้วย เพื่อที่ว่างบประมาณที่ตั้งไว้แต่แรกจะได้ไม่บานปลาย

2. ตามหาร้านที่ใช่

ทุกวันนี้ร้านชุดเจ้าสาวในประเทศไทยมีมากมายจนคุณอาจสับสนว่าจะไปร้านไหนดี จึงควรสืบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเสียงและผลงานของร้านต่างๆ ไว้บ้าง ดีกส่าเดินดุ่มๆ เข้าทุกร้านแบบเสี่ยงไปตามดวง เพราะนอกจากจะเหนื่อยเพลียแล้วยังอาจเสียเวลาเสียอารมณ์ เพราะไม่ได้ชุดที่ต้องการ ซึ่งในเรื่องนี้สังคมออนไลน์ช่วยได้ในเบื้องต้น ลองเข้าไปดูคอมเมนต์ต่าง ๆ เกี่ยวกับร้านชุดเจ้าสาวที่เล็งไว้ประกอบการตัดสินใจ ดีไม่ดีคุณอาจเจอร้านใหม่ ๆ นอกสายตาก็เป็นได้ จากนั้นให้จัดอันดับร้านชุดโดนใจที่มั่นใจว่าตอบโจทย์คุณได้ทั้งเรื่องฝีมือการตัดเย็บและงบประมาณที่ตั้งไว้อย่าลืมเช็กก่อนไปด้วยว่าแต่ละร้านเปิด – ปิดวันไหนเวลาใด และร้านไหนต้องนัดดีไซเนอร์ล่วงหน้าบ้าง จะได้ไม่เสียเที่ยว

3. เตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ

“ชุดเจ้าสาว” เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการตระเตรียม ช่างเสื้อส่วนใหญ่จึงต้องการเวลาในการตัดเย็บอย่างน้อย 4 – 5 เดือน ระหว่างนั้นคุณต้องเข้าไปลองอย่างน้อย 3 ครั้ง (เว้นช่วงห่าง 1 เดือนต่อครั้ง) ฉะนั้นว่าที่เจ้าสาวทั้งหลายควรเผื่อเวลาสำหรับเรื่องนี้ไว้มากหน่อย เพื่อที่ช่างเสื้อจะได้มีเวลาทำชุดให้คุณอย่างเต็มที่ไร้ซึ่งแรงกดดัน ขณะเดียวกันคุณเองก็จะได้ไม่ต้องกังวลใจว่าชุดจะเสร็จไม่ทัน แต่ในกรณีที่ได้ฤกษ์มาแบบเร่งด่วน คุณอาจต้องยอมทุ่มเงินเพื่อเร่งเวลาตัดเย็บหรือหันไปหาชุดเช่าแทน

4. มองหาสิ่งที่เป็นตัวคุณ

เมื่อถามถึงชุดเจ้าสาวในฝัน ว่าที่เจ้าสาวบางคนไม่สามารถตอบได้ เพราะชุดนั้นก็สวย ชุดนี้ก็ชอบ สิ่งที่พึงกระทำเพื่อค้นหาตัวเองให้เจอคือ การหาข้อมูลแบบชุดเจ้าสาวที่ต้องการไว้ให้มากที่สุด ทั้งจากเราและท่องโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อดูแบบชุดเจ้าสาวที่ชอบทั้งของไทยและเทศ อย่าลืมแยกเก็บข้อมูลตามหัวข้อและประเภทที่ชอบไว้ด้วย เช่น แบบชุดที่ชอบ อารมณ์ลูกไม้ที่อยากได้ เนื้อผ้าที่ฝันถึง คอเสื้อที่สนใจ ฯลฯ เพื่อง่ายต่อการนำมาอธิบายให้ดีไซเนอร์เข้าใจความต้องการของคุณ

5. จำกัดจำนวนผู้ติดตาม

ในการลองชุดเพื่อเลือกแบบครั้งแรกว่าที่เจ้าสาวอาจพาเพื่อนไปช่วยคอมเมนต์สัก 2 – 3 คน เพื่อดูว่าเสียงส่วนใหญ่มีความเห็นว่าอย่างไร แต่คุณต้องชัวร์ว่าเพื่อนเซตนี้เข้าใจถึงจุดประสงค์ที่คุณขอร้องให้ไปด้วยกันจริง ๆ ไม่ใช่พาไปร้านชุดเพื่อเปลี่ยนที่นั่งเมาท์ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคุณคงเซ็งหนักเมื่อถึงวันไฟนอลที่ต้องตัดสินใจเลือกชุดให้ลดปริมาณเพื่อนที่ไปด้วยเหลือแค่ 1 หรือ 2 คนก็พอ ซึ่งคนคนนั้นควรเป็นคนสำคัญของคุณ อาจเป็นเพื่อนซี้หรือพี่น้องที่มั่นใจได้ว่าปรารถนาดีกับคุณ และเมื่อถึงวันงาน คนคนนั้นก็พร้อมจะอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยคุณดูแลชุดแต่งงานไม่ห่าง

6. เตรียมพร้อมในวันลองชุด

อย่างที่บอกไปแล้วว่า ในการตัดเย็บชุดเจ้าสาว คุณจะต้องกลับไปที่ร้านเพื่อลองให้เป๊ะอย่างน้อย 3 ครั้ง ฉะนั้นในการลองชุดแต่ละครั้ง คุณควรเตรียมความพร้อมให้ตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะในการลองครั้งสุดท้ายที่ชุดเกือบเสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการสวมชุดชั้นในสีเนื้อที่กลมกลืนกับสีผิว (เป็นชุดชั้นในที่จะใส่ในวันจริงได้ยิ่งดี) เพื่อลองเทสต์ว่าสีชุดชั้นในไม่กระเด้งออกมา นอกชุดเจ้าสาวสีขาว หรือหยิบรองเท้าส้นสูงคู่ที่จะใช้จริงในวันงานมาใส่ในวันลองเพื่อเทสต์ว่าความสูงพอดีกับชายกระโปรงไหม รวมไปถึงนำผ้าคลุมหน้าและเครื่องประดับที่จะใช้จริงกับชุดนี้มาใส่วันลอง เพื่อคอนเฟิร์มเป็นครั้งสุดท้ายว่าเข้ากันได้แน่นอน

7. ลองทุกชุดก่อนเซย์เยส

“ไม่อยากได้ชุดเจ้าสาวแบบเกาะอก” หนึ่งในโจทย์ที่ว่าที่เจ้าสาวหลายคนแจ้งกับดีไซเนอร์ทันทีที่เจอหน้า ในความเป็นจริงคุณไม่มีทางรู้เลยว่าชุดแบบไหนจะเหมาะกับคุณถ้ายังไม่ได้ลอง แต่ก็ไม่ผิดที่คุณจะมีโจทย์แบบนี้อยู่ในใจ (ดีกว่าไม่มีอะไรเลย) สิ่งที่พึงกระทำ คือ เปิดใจให้กว้างแล้วลองรับไอเดียชุดสวยจากดีไซเนอร์ดูก่อน เพราะชุดที่คุณไม่อยากได้ อาจเป็นชุดที่สวยและเหมาะกับคุณที่สุดก็ได้ ในทางกลับกัน ถ้าลองชุดตามคำเชิญแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่จงยึดมั่นในความตั้งใจเดิมของตัวเองไว้ อย่าหลงคำหวานของนักขายมืออาชีพที่ต้องการทำยอดเท่านั้น

8. ลืมเรื่องขนาดที่คุ้นเคยไปก่อน

อย่ายึดติดกับไซส์มาตรฐานเพียงไซส์เดียว และอย่าตกใจถ้าไปร้านชุด 3 ร้านแล้วขนาดของแต่ละร้านไม่เท่ากัน เหตุผลเพราะแต่ละดีไซเนอร์มีรูปแบบการวัดขนาดและเทคนิคการตัดเย็บที่ต่างกัน ฉะนั้นถ้าปกติคุณใส่ไซส์ S พอเปลี่ยนร้าน เปลี่ยนยี่ห้อไซส์ก็อาจขยับมาที่ M ได้เช่นกัน ถ้าคุณซื้ชุดเจ้าสาวสำเร็จรูปคงต้องทำใจ แต่ถ้าตัดใหม่ก็วางใจได้ เพราะชุดที่ได้จะเป็นไซส์ของคุณแน่นอน

9. เช็กทุกมุมก่อนรับชุด

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ร้านชุดส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพชุดไปเผยแพร่อย่างเด็ดขาดจนกว่าจะถึงวันแต่งงาน แต่ปัจจุบันกลับตรงข้าม เพราะยิ่งถ่ายยิ่งอัพยิ่งช่วยโปรโมต แต่จุดประสงค์ของการถ่ายภาพในข้อนี้คือ การเช็กให้มั่นใจว่าใส่แล้วสวยทุกท่วงท่า ถ้าเห็นว่ามีจุดไหนต้องปรับจะได้ส่งแก้ทันท่วงที นอกจากนี้ว่าที่เจ้าสาวต้องไม่ลืมซ้อมลุก – นั่ง – เดิน – ก้าวขณะที่ลองชุดด้วย เพื่อให้การใช้งานในวันจริงไหลลื่นไม่มีสะดุด

10. อ่านเอกสารสัญญาให้มั่นเหมา

ปิดท้ายการคัดสรรชุดเจ้าสาวในฝันของคุณด้วยการตรวจเช็กเอกสารสัญญาก่อนจะจรดปากกาเซ็นชื่อยืนยันการสั่งตัดและรับชุด โดยในเอกสารควรมีรายละเอียดดังนี้

  • เอกสารเกี่ยวกับรูปชุดที่จะตัดเย็บ รูปทรงชุด (ส่วนใหญ่แนบรูปสเก็ตช์และภาพตัวอย่างของคุณไว้ด้วย) ชนิดผ้าที่ใช้ในแต่ละส่วนของชุดตัวอย่างผ้าลูกไม้ที่ใช้จริง สีที่เลือกใช้ ชนิดและสีของริบบิ้นเข็มขัด เป็นต้น
  • รายละเอียดการเข้ามาลองชุดตามจำนวนครั้งที่ตกลงกันไว้ (ระบุวันและเวลาชัดเจน) รวมถึงวันนัดรับชุดเพื่อนำไปใช้ในวันจริง หากเป็นชุดเช่าตัดต้องระบุวันที่คืนชุดแลราคาค่าปรับหากเกินกำหนด
  • รายละเอียดราคาและการชำระเงิน ราคาชุดทั้งหมดที่ต้องชำระ แยกเป็นราคามัดจำ (ต้องไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาชุด) ราคาชำระงวดสุดท้าย ถ้าเป็นชุดเช่าตัดต้องมีการวางเงินประกันชุดอีกครั้ง เมื่อนำชุดกลับมาคืนจะได้รับเงินประกันก้อนนี้คืนเต็มจำนวน หรือถ้าทำชุดเสียหายต้องจ่ายค่าปรับเท่าไร
  • เครื่องประดับเสริมอื่นๆ มีอะไรบ้าง ถ้าทำหายหรือเสียหายต้องเสียค่าปรับเท่าไร

ดูแบบชุดแต่งงานเพิ่มเติมได้ที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย!

Recommended