Motifs in Asian Wedding Attire แฟชั่นอาเซียนในชุดแต่งงาน

Cultural Industry คือ คำเรียกใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น จากคำเรียกเดิมว่า Fashion Industry ที่ให้ความรู้สึก “ตลาด” หรือ commercial มากไป ทว่า Cultural Industry กลับให้ความรู้สึกสุนทรียะอย่างแยบคายยิ่งกว่า กอปรกับเอเชียได้กลายเป็นศูนย์กลางของโลกยุคใหม่หลังยุโรปและอเมริกาเหนือถอยห่างจากอำนาจไป ด้วยเหตุนี้เองวัฒนธรรมเอเชียอันรุ่มรวยจึงเรืองรองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยนักออกแบบหลากเชื้อชาติเลือกจับลักษณะเด่น (Motif) ของตะวันออกมาพลิกแพลงใหม่ ทำให้วัฒนธรรมงอกงามและเติบโตตามความหมายที่แท้จริง (วัฒนธรรม – Culture มาจากคำว่า Cultivate = ปลูกฝัง บ่มเพาะให้งอกงาม)

Motif เหล่านี้มักปรากฏในพิธีกรรมสำคัญของแต่ละวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นที่ไม่กล่าวถึงคงมิได้คือพิธีแต่งงาน นัยต่างๆ ที่แฝงเร้นอยู่ในอาภรณ์แต่ละชิ้นจะเป็นอย่างไร งอกเงยอย่างงดงามไปตามยุคสมัยเช่นใดบ้าง ตามสายลมตะวันออกไปสำรวจมหาอำนาจทางวัฒนธรรมเอเชียด้วยกัน ณ บัดนี้พลัน


China : กี่เพ้าและสัตว์มงคล Qipao & Auspicious Animals

ฉีผาวหรือกี่เพ้าในภาษาจีน หรือชองแซม (Cheongsam) ในสำเนียงอังกฤษ เป็นชุดประจำชาติของจีนที่สืบสาวประวัติได้ไกลถึงสมัยราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ส่วนภาพเจ้าสาวสวมมงกุฎ มีผ้าคลุมหน้าสีแดง ที่เคยเห็นในหนังจีนกำลังภายในนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากมงกุฎหงส์ (Phoeninx Crown) ของฮองเฮาและหญิงสูงศักดิ์สมัยราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ครั้นยุคสมัยเคลื่อนผ่านพิธีการบางอย่างก็ถูกลดทอนลงไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คู่กับเครื่องแต่งกายในพิธีแต่งงานหรือ Red Event ของชาวจีนคือ สีแดง มังกร และหงส์ ซึ่งเปี่ยมความหมายและคุณค่าทางจิตใจดังนี้

สีแดง : เป็นสีรวมศูนย์ความดีงามทั้งปวงสันนิษฐานว่า เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่ของจีนแห้งแล้งและหนาวเย็น ฉะนั้นวันที่มีแสงแดดส่องจึงเป็นวันดี อากาศอบอุ่น สีแดงของดวงอาทิตย์จึงเป็นที่รักของชาวจีน ธาตุไฟหนึ่งในห้าธาตุแห่งชีวิตเป็นสีแดง มีนัยถึงแสงสว่าง ความรุ่งโรจน์ ความอบอุ่น และพละกำลัง สีแห่งไฟนี้ยังมีพลังขับไล่ความชั่วร้าย จึงกลายเป็นสีมงคล ในขณะที่สีขาวสื่อถึงการเกิด – ดับตามหลักพุทธศาสนา จึงใช้

ในบริบทงานอวมงคลอย่างงานศพ

หงส์ : หงส์ไฟ นกฟีนิกซ์ นกเฟิ่งหวงหรือฟงหวง เป็นราชาแห่งสัตว์ปีก เป็นนกที่งดงามที่สุดในจักรวาล สัตว์ เป็นสัญลักษณ์ของหยิน เพศหญิง หรือฮองเฮา ตามตำนานแล้วนกแห่งสวรรค์เกิดจากเถ้าถ่านของตัวเอง

เป็นตัวแทนของชีวิตยืนยาว ความอบอุ่นแห่งแสงตะวัน และความดีงาม

มังกร : มังกรจีนไร้ปีก เป็นสัญลักษณ์ของฮ่องเต้ ธาตุหยาง หรือเพศชาย นำมาซึ่งพลังอำนาจ ความมั่งคั่ง ความสุข ความเจริญและความอุดมสมบูรณ์ ในงานแต่งงานมักมีรูปหงส์และมังกรคู่กัน (สัตว์สองชนิดนี้เป็นเพื่อนมิใช่คู่รัก) เชื่อว่าจะทำให้บุตรที่เกิดมาแข็งแรงสุขภาพดี ด้วยพลังของยอดแห่งสัตว์มงคลทั้งสอง


Japan: Uchikake & Crane อุชิคาเคะและตำนานนกกระเรียน

คนญี่ปุ่นไม่นับถือศาสนาใดแน่ชัด แต่น้อมรับความหลากหลายเข้ามาในชีวิตได้อย่างไม่ขัดเขิน เมื่อแรกเกิดไปไหว้วัดชินโต แต่งงานแบบคริสต์ และยามตายทำพิธีแบบพุทธ

กล่าวโดยเฉพาะการแต่งงาน หลังจากพิธีเสกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเลดี้ไดอะน่าในยุค 80 ได้เกิดกระแสพิธีแต่งงานแบบตะวันตกลูกหลานเทพธิดาแห่งดวงอาทิตย์ (อะมะเตระสุโอมิกามิ) ในยุคนี้จึงนิยมสลัดกิโมโนแล้วหันไปแต่งกายตามสากล จูงมือกันไปแลกแหวนในโบสถ์แทน

ส่วนพิธีแต่งงานแบบชินโตเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และมีค่าใช้จ่ายสูง ทว่างดงามและศักดิ์สิทธิ์ตามรูป แบบของศาสนาที่นับถือเทพเจ้าและธรรมชาติในพิธีชินโต เจ้าสาวต้องสวมกิโมโนสีขาวเรียบๆ ที่เรียกว่าชิโรมุกุ (Shiromuku) แล้วสวมทับด้วยอุชิคาเคะ (Uchikake) เสื้อคลุมหนาหนัก ตัดด้วยผ้าไหมที่ปักประดับลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง เป็นสีขาวหรือมีสีสันแซมเพื่อความสดชื่น เพราะบางคนเห็นว่าสีขาวล้วนทำให้เจ้าสาวดูเศร้าหมองเกินไปในวันแต่งงาน

อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือ หมวกหรือผ้าคลุมผมซึโนะคะคุฉิ (Tsunokakushi) Tsuno แปลว่า เขา Kakushi แปลว่า แอบซ่อน ผู้หญิงต้องซ่อนเขาแห่งความริษยา ความโกรธเกรี้ยว และความไม่ดีทั้งหลายไว้ใต้ผ้าคลุมผมก่อนจะเข้าพิธีแต่งงาน ซึ่งใต้ผ้าคลุมผมอีกชั้นคือวิกผมที่ประดับด้วยหวีทองประดับอัญมณีสูงค่า เรียกว่าคันซาชิ (Kanzashi) ทั้งชุดและผมทำเองไม่ได้สักอย่าง เป็นศิลปะขั้นสูงที่ต้องให้ผู้ชำนาญจัดการให้เท่านั้น อุชิคาเคะผ้าไหมที่ปักอย่างวิจิตรบรรจงอาจมีราคาราว 120,000 บาทเป็นอย่างน้อย เจ้าสาวที่อยากแต่งงานแบบชินโตจึงมักเช่าชุดและวิกผม แต่ค่าเช่าอุชิคาเคะก็ตกราววันละ 45,000 บาททีเดียว

ลวดลายที่นิยมปักลงบนกิโมโนหรืออุชิคาเคะ คือลายนกกระเรียน ดังตำนานที่ว่า นกกระเรียนแปลงร่างเป็นหญิงสาวมาปรนนิบัติหนุ่มชาวนายากจนที่ช่วยชีวิตตนไว้ นางใช้ขนของตนทอผ้าผืนงามให้ชายหนุ่มนำไปขาย จนตัวเองผ่ายผอมลงไปเรื่อยๆ ตราบจนชายหนุ่มรู้ความจริงว่า ภรรยาเป็นนกกระเรียน นางจึงคืนร่างเดิมแล้วจากชายหนุ่มไป นกกระเรียนจึงเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ชีวิตที่ยืนยาวและความรักอันมั่นคง

India: Skin Decoration สลักเสลาร่างกายด้วยสีสัน

พลเมืองอินเดียหนึ่งพันสองร้อยล้านคนเต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ทำให้อินเดียมีเครื่องแต่งกายในประเพณีการแต่งงานแตกต่างไปตามแต่ละภูมิภาค อาทิ Maharashtrian traditional Wedding ในรัฐมหาราษฏระ Bengali Traditional Wedding ของเชื้อสายอินโด – อารยัน Punjabi Traditional Wedding ในรัฐปัญจาบ Rajasthani Traditional Wedding ในรัฐราชสถาน Gujarati Traditional Wedding ในรัฐคุชราต ฯลฯ

กล่าวเฉพาะถึงพิธีแต่งงานแบบฮินดูที่มักประดับตกแต่งร่างกายอย่างวิจิตรด้วยสีสันต่างๆ โดยเฉพาะสีแดง ด้วยเชื่อว่าเป็นสีมงคลสีของความสุข สีที่ช่วยป้องกันภยันตรายต่างๆ และเป็นสีของความรัก เจ้าสาวชาวฮินดูจะใช้สีแดงแต่งแต้มทั้งในส่าหรีชุดแต่งงานที่ปักประดับอย่างละลานตา แต้มจุดแดงกลางหน้าผากเสมือนดวงตาที่สามหรือบินดิ รวมถึงการเขียนเฮนน่าสีน้ำตาลแดงทั่วมือและเท้าที่เรียกว่าพิธีเมห์นดิ เจ้าสาวอินเดียอันเป็นอวตารของพระลักษมีจึงงดงามด้วยศิลปะบนร่างกายเช่นนี้เอง


More Than Saree

Mehndi

พิธีเมห์นดิคือการเขียนเฮนน่าที่มือและเท้าของเจ้าสาวก่อนพิธีแต่งงาน เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเด็กสาวบริสุทธิ์ไปสู่การเป็นหญิงสาวเต็มตัว ด้วยลวดลายนกยูง ดอกไม้ หอยสังข์ และแอบซ่อนชื่อเจ้าบ่าวเอาไว้ในลวดลายเฮนน่า เจ้าบ่าวจำต้องค้นหาชื่อของตนท่ามกลางลวดลายอันสลับซับซ้อนเพื่อให้เจ้าสาวประทับใจ ทั้งยังเชื่อว่า สีของเฮนน่ายิ่งเข้มและติดทนนานเท่าใด เจ้าสาวจะยิ่งเป็นที่รักของครอบครัวฝ่ายชายมากขึ้นเท่านั้น ทั้งยังเป็นเครื่องรางมงคลที่จะช่วยปกปักษ์ความดีงามให้อยู่กับตัวเจ้าสาวสืบไป

Bindi

ติลากัม, ซินดูร์ หรือดวงตาที่สาม อันเป็นดวงตาแห่งปัญญา ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของพระแม่ปารวาตี (Parvati) ที่เชื่อว่าใช้ปกป้องหญิงที่แต่งงานแล้วและสามี รวมถึงปกป้องพวกเธอจากสายตาริษยาของคนอื่น ในพิธีแต่งงาน เจ้าบ่าวจะเป็นผู้แต้มบินดิให้ภรรยา ในประเพณีของชาวปัญจาบจะถือว่าคู่บ่าว – สาวได้เป็นสามีภรรยากันแล้วอย่างสมบูรณ์ หลังจากวันแต่งงาน ภรรยาต้องแต้มผงขมิ้น ผสมน้ำมะนาวทุกวันตราบจนการสมรสนั้นยังยั่งยืนอยู่ แต่สมัยนี้บินดิกลายเป็นแฟชั่นที่วิวัฒน์ความวิจิตร บ้างใช้อัญมณีหรือสติ๊กเกอร์บินดิเพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน ทั้งยังไม่จำกัดอยู่ที่จุดวงกลมหรือสีแดงอีกต่อไป

เจ้าสาวอินเดียใช่จะห่มแต่ส่าหรี ในแต่ละภูมิภาคยังนิยมนุ่งห่มต่างกัน เช่น เจ้าสาวในรัฐมหาราษฏระจะนุ่งส่าหรีผ้าไหมที่โดดเด่นด้วยสีแดง สีมารูน หรือแดงม่วงอมน้ำตาลและสีเขียว ชายผ้ามักปักลายนกยูงหรือนกแก้ว ส่วนริมผ้านิยมปักลายดวงดาว มะม่วง หรือดอกบัว ในขณะที่เจ้าสาวในรัฐปัญจาบจะใส่แลงกาหรือฆาครา โชลี (Lehenga/Ghagra Choli) เป็นเสื้อเอวลอยและกระโปรงยาวกรอมเท้าสีสันสดใส ส่วนเจ้าสาวในแคว้นแคชเมียร์จะใส่กูรตะหรือกางเกง คู่กับซาลวาร์คามีซ หรือเสื้อตัวยาวที่ปักประดับลวดลายตระการตา
ขอขอบคุณภาพจาก เจดับบลิว แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ท แอนด์ สปา

Recommended