ชุดไทย เต็มยศ แทบจะมีโอกาสเดียวที่ได้ใส่คือในงานแต่งงาน ซึ่งก็เพราะไม่เคยนี่ละ ทำให้ว่าที่เจ้าสาวหลายคนเกิดอาการคิดไม่ออกว่าจะเลือกอย่างไรให้ “เหมาะ” ไม่อยากโหมโรงเยอะขอพูดสั้นๆ ว่าแพรวเวดดิ้งมีคำตอบ
1. เลือกให้เหมาะกับพิธี
ก่อนจะคิดกันจนหัวแตกว่าควรใส่ชุดแบบไหนให้ถามตัวเองว่าลักษณะงานของคุณเป็นอย่างไรเพราะกำหนดการของงานจะเป็นโจทย์หลักในการกำหนดรูปแบบชุด
• สมรสพระราชทาน เนื่องจากบ่าว–สาวต้องเข้าวังเพื่อรับสมรสพระราชทานบ่าว – สาวจึงต้องแต่งกายตามระเบียบโดยเจ้าสาวใส่ชุดไทยบรมพิมาน (ไม่กำหนดสีหรือชนิดของผ้า) ไม่ผ่าหน้าหรือผ่าหลัง แนะนำให้ช่างเสื้อจับจีบหน้านางประมาณสองจีบซึ่งกว้างพอให้หมอบกราบได้สะดวกส่วนรองเท้าต้องเป็นหุ้มส้นเท่านั้น ถ้าเจ้าบ่าวเป็นข้าราชการให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศถ้าเป็นพลเรือนให้สวมชุดราชปะแตนพร้อมติดเครื่องหมายเข้าเฝ้าที่คอเสื้อ (สามารถเช่าได้ตามร้านชุดรับปริญญา)
• มีพิธีสงฆ์ ถ้างานของคุณมีพิธีสงฆ์ด้วยก็ยิ่งควรแต่งกายให้เรียบร้อยมิดชิด เช่น ชุดไทยบรมพิมานชุดไทยศิวาลัย (คล้ายชุดไทยบรมพิมานแต่ห่มสไบทับอีกชั้น) หรือชุดไทยประยุกต์ที่ท่อนบนเป็นเสื้อลูกไม้ท่อนล่างเป็นผ้าถุง ไม่แนะนำให้ใส่สไบเปิดไหล่เห็นเนินเนื้อแต่ถ้าอยากใส่จริงๆ ควรเปลี่ยนใช้ในช่วงรดน้ำ
• ไม่มีพิธีสงฆ์ ถ้าคุณจัดแค่พิธีหมั้นและหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ก็เลือกชุดสวยงามได้ตามความชอบ ส่วนใหญ่เจ้าสาวจะเลือกห่มสไบสวยหวาน ส่วนเจ้าสาวที่เป็นผู้ใหญ่หน่อยมักเลือกชุดไทยบรมพิมานหรือชุดไทยประยุกต์เพราะดูสง่าภูมิฐาน ส่วนเรื่องลุกนั่งสะดวกหรือสวมใส่ง่ายเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะส่วนใหญ่ร้านชุดจะตัดแบบสำเร็จรูปจับจีบสไบและจับหน้านางผ้าถุงไว้อย่างสวยงามแล้ว แค่รูดซิปด้านหน้าทีเดียวก็เข้าทรงสวยมีทั้งแบบเย็บติดกันเป็นชุดเดียวและแบบแยกท่อนบนกับท่อนล่าง เพื่อให้สลับคู่สไบหรือเสื้อกับผ้าถุงได้ (ส่วนที่ตัดแบบโบราณต้องให้ช่างมาจับจีบแล้วเย็บตรึงกับตัวไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักในปัจจุบัน)
2. เลือกให้เหมาะกับเจ้าสาว
ได้แต่งชุดไทยกับเขาทั้งทีเชื่อว่าทุกคนคงอยากดูสง่าราวสตรีผู้สูงศักดิ์มากกว่าสวยแบบนางเอกหนังจักรๆ วงศ์ๆ แต่จะทำอย่างไรล่ะ
• สี สีครีมทองเป็นสียอดฮิตเพราะดูหรูและสง่าแถมเจ้าสาวเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ใส่แล้วรอด ถ้าใจคุณชื่นชอบสีสันอย่างชมพูฟ้าส้ม ฯลฯ แต่ดันเป็นสาวไทยแท้ผิวเข้มกลัวว่าใส่แล้วจะตัดกับผิวฉึบฉับหรือเป็นสาวไทยเชื้อสายจีนตาตี่ผิวขาวซีดที่ใส่สีสดแล้วอาจดูเป็นอาเจ๊ ขอบอกว่าการเลือกสีโทนเบรกลงมาพอจะช่วยได้เช่นเลือกสีชมพูนู้ดๆ หรือสีกะปิแทนสีชมพูสดเลือกสีฟ้าอมเทาแทนสีฟ้าสดเลือกสีจำปาแทนสีส้มแจ๊ด ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่ต้องกลัวหมองเพราะชุดไทยมักตัดเย็บจากผ้าไหมซึ่งมีความวาวและมีการปักดิ้นทอง ซึ่งจะช่วยขับผิวให้ดูผ่องขึ้น ถ้าจะให้ชัวร์ควรเอาผ้ามาทาบกับตัวเลยว่าเหมาะกับผิวไหม
• รูปร่าง ส่วนใหญ่เจ้าสาวรูปร่างท้วมมักไม่กล้าใส่สไบ แต่พอเลี่ยงไปใส่ชุดแขนยาวมิดชิดติดกระดุมถึงคอก็กลายเป็นดูอึดอัดทึบตันไปทั้งตัว แนะนำว่าของแบบนี้ต้องมั่นใจเพราะการห่มสไบก็มีทั้งแบบเข้ารูปโชว์ช่วงเอวและแบบผืนใหญ่ห่มปิดหมดทั้งร่าง โดยมากคนท้วมต้องใส่เปิดๆ หน่อยให้เห็นเส้นเอวจะได้ไม่ดูตัน แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพด้วยบางคนท้วมแต่พอห่มสไบมิดชิดกลับดูดีกว่าเพราะมีบุคลิกสง่าราวนางพญา ดังนั้นการลองสวมจริงจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดว่าชุดแบบไหนเหมาะกับคุณ
กรณีที่เลือกใส่ชุดไทยแขนยาวคอปิด อย่างชุดไทยบรมพิมานการตัดเย็บให้เอวต่ำกว่าปกติจะช่วยให้ช่วงลำตัวดูโปร่งและสมส่วนขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
• รองเท้า เนื้อคู่ของชุดไทยคือ รองเท้าส้นสูงหัวแหลมที่มีความเป็นเมแทลลิกจะเงินทองหรือพิ้งค์โกลด์ก็ขึ้นอยู่กับสีเครื่องประดับและดิ้นที่ปักบนชุด แต่แนะนำให้เป็นเฉดอ่อนจะดูมีคลาสกว่ากรณีที่หน้าเท้ากว้างใส่หัวแหลมแล้วไม่สวย ลองเลือกแบบที่มีแพลตฟอร์มด้านหน้าจะช่วยพยุงให้น้ำหนักไม่เทไปหน้ามากนักดูดีขึ้นแถมยังเมื่อยน้อยลงด้วย เจ้าสาวบางคนต้องการสวมรองเท้าสีพื้นเรียบๆ เพื่อจะได้เก็บไว้ใส่ในชีวิตประจำวันด้วยก็อาจเลือกสีที่ไปกันได้กับสีของชุดท่อนบนหรือท่อนล่าง
• เครื่องประดับ ถ้าบ้านไหนมีเครื่องทองของเก่าเก็บก็โชคดีไป แต่ถ้าไม่มีต้องเช่าเครื่องประดับเทียมมาใส่ก็ควรเลือกที่ฝีมือประณีตและไม่ต้องประโคมเยอะเดี๋ยวจะดูเหมือนไปรำแก้บน แค่เข็มขัดต่างหูและสร้อยคอหรือข้อมืออีกสักชิ้นก็สวยแล้ว
• ชุดเจ้าบ่าว พอเจ้าสาวเลือกชุดได้แล้วก็อย่าลืมหันมาดูคนข้างๆ ด้วยส่วนใหญ่เจ้าบ่าวมักจะโนไอ-เดีย ใส่อะไรก็ได้ มีบ้างที่งอแงไม่ยอมใส่ชุดไทยเพราะเขินอาจพบกันครึ่งทางด้วยชุดเจ้าบ่าวไทยประยุกต์ ท่อนบนเป็นสูทท่องล่างเป็นโจงกระเบนหรือท่อนบนเป็นเสื้อราชปะแตนท่อนล่างเป็นสแล็คก็ตามสะดวก แต่เพื่อความสวยงาม แนะนำให้เจ้าบ่าวเลือกคู่สีที่เข้ากับสีชุดของเจ้าสาวหรือมีสีที่ลิงค์กับชุดเจ้าสาวอยู่ในตัวบ้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นสีเดียวกันเป๊ะและถ้าคนหนึ่งใส่โทนอ่อนอีกคนควรเป็นโทนเข้มเพื่อความลงตัวเช่นชุดเจ้าสาว สีครีมทอง – ชุดเจ้าบ่าวสีเบจชุดเจ้าสาวสีชมพู–ชุดเจ้าบ่าวสีเทาหรือน้ำตาลช็อกโกแลต เป็นต้น
เมื่อเข้าร้านชุดคุณควร…
• พกความมั่นใจไปด้วย ทั้งมั่นใจในตัวดีไซเนอร์และมั่นใจในตัวเอง
• หยิบเรเฟอเรนซ์ไปด้วย ชอบแบบไหนอยากได้อะไรให้เอาติดมือไปเพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้สื่อสารกับดีไซเนอร์ได้ง่ายขึ้น
• ลองก่อนตัดสินใจ อย่ามึนหรือเกรงใจจนยอมเซ็นซื้อแพ็คเกจก่อนลองเด็ดขาด เพราะเซ็นแล้วก็เหมือนอ้อยเข้าปากช้าง ช้างไม่ยอมคายแน่ๆ ต่อให้คุณต่อว่าช้างแค่ไหนก็ตามและอย่าตาโตกับโปรโมชั่นลดเฉพาะวันนี้ ชั่วโมงนี้ เพราะถ้าเซ็นไปแล้วเกิดร้านนั้นไม่มีชุดที่ชอบเลย จะน้ำตาตกใน
• ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นไปบ้าง อย่างน้อยควรแยกออกว่าผ้าไหมแท้ต่างจากไหมเทียมอย่างไร ลูกไม้เซาะดอกเป็นอย่างไร ฯลฯ เพราะบางร้านอาจยกความวิจิตรของชุดไทยสารพัดลุคมาอัพราคาถ้าดูเป็นจะได้ไม่โดนย้อมแมว
• ถ้าคิดจะเช่าชุดต้องทำใจ บางร้านทำเป็นเอวยางยืดเพื่อให้ทุกคนสวมใส่ได้ แต่จะดูไม่เข้ารูป ขณะที่ถ้าเป็นร้านที่มีความประณีตจะเย็บแก้ทรงใหม่เพื่อให้เข้ากับหุ่นลูกค้า นอกจากนี้ชุดที่ผ่านการใช้งานมาหลายครั้ง อาจจะเก่าซีดเป็นขุยดิ้นหลุด ฯลฯ ต้องถามใจตัวเองว่ารับได้ไหมถ้ายอมรับได้ก็จะเซฟงบประมาณไปได้มากกว่าครึ่ง
• ราคา การตัดชุดใหม่มีข้อดีคือ ได้เลือกสีเลือกเนื้อผ้าเองได้ไซส์พอดีตัวเราเป๊ะและชุดเป็นของเรา (จะเก็บเป็นที่ระลึกหรือเผื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานก็ว่ากันไป) แต่ราคาจะสูง โดยเฉพาะถ้าเป็นผ้าไหมแท้ทั้งชุด ส่วนการเช่าตัดจะได้เลือกสีเลือกเนื้อผ้าและได้ไซส์พอดีกับเราเหมือนกัน แต่ชุดจะต้องคืนร้านไปราคาจะต่ำกว่าตัดประมาณ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์แล้วแต่ร้านสุดท้ายคือการเช่าราคาก็จะต่ำลงกว่าเช่าตัดอีกประมาณ 20 – 40 เปอร์เซ็นต์แต่ก็จะต้องเลือกของเท่าที่มีในร้านและมีข้อจำกัดดังที่กล่าวมาทั้งนี้ขอหมายเหตุตัวโตๆ ว่าเรตราคาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละร้านราคานี้เป็นเพียงการประมาณเท่านั้น
>> ดูแบบชุดแต่งงานเพิ่มเติมได้ที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย <<
ภาพ : งานแต่งงานของคุณแอนและคุณเจมส์ โดย Box Wedding