เรียกได้ว่าเกือบจะกลายเป็นเทรนด์ของเจ้าสาวส่วนใหญ่ไปแล้วกับการมี ชุดเจ้าสาว มากกว่า 1 ชุด ไม่รวมชุดไทยที่ใช้ในพิธีแต่งงานไทยนะ เพราะนี่เรากำลังพูดถึงชุดแต่งงานสำหรับพิธีฉลองมงคลสมรสล้วนๆ บางคนก็สวมชุดหนึ่งสำหรับถ่ายภาพที่แบ็คดร็อป และอีกชุดหนึ่งสำหรับเดินเข้างานและชุดในพิธี แถมบางคนยังมีชุดสำหรับอาฟเตอร์ปาร์ตี้แยกเพิ่มมาอีก 1 ชุด ซึ่งบางครั้งสิ่งที่ต้องการก็สวนทางกับงบในกระเป๋า แพรว wedding เลยมีเคล็ดลับดีๆ เกี่ยวกับการออกแบบชุดแต่งงาน 2 in 1 ที่ทั้งสวยตอบโจทย์แถมสบายสตางค์ในกระเป๋าด้วย
ตอบโจทย์ได้ แต่ไม่ทั้งหมด
ชุดสไตล์ 2 in1 นี้เหมาะกับเจ้าสาวที่มีเวลาเปลี่ยนชุดน้อย เช่น หมั้นเช้าแล้วต่อด้วยกินเลี้ยงตอนเที่ยงซึ่งบางคนอาจมีเวลาแค่ 5- 10 นาทีเท่านั้น หรือพิธีฉลองตอนเย็นแล้วต่อด้วยอาฟเตอร์ปาร์ตี้ที่มีเวลาให้มันได้เต็มที่แค่ 1-2 ชั่วโมง เจ้าสาวบางคนจึงอยากร่นระยะเวลาการแต่งตัวเพื่อมาสนุกกับเพื่อนๆ ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นจึงต้องออกแบบชุดให้มีแค่การสวมเพิ่มหรือถอดบางชิ้นออกเพื่อเปลี่ยนเป็นอีกลุคได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขที่เจ้าสาวต้องทำความเข้าใจและยอมรับให้ได้ว่าชุดสไตล์นี้อาจไม่สามารถตอบโจทย์สิ่งที่เจ้าสาวต้องการทั้งหมดอย่างถ้าฝันว่าอยากใส่ชุดกระโปรงพองฟูเหมือนเจ้าหญิงและมีลูกไม้เยอะๆ อาจมีข้อจำกัดที่ทำให้ชุดออกมาไม่สมบูรณ์แบบได้ จึงจำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นหลัก
ออกแบบให้เหมาะกับลักษณะงาน
ก่อนที่จะออกแบบชุดได้ต้องทราบถึงลักษณะการใช้งานเป็นอันดับแรก เช่น สวมในพิธีหมั้นก่อนจึงเปลี่ยนมาเป็นกินเลี้ยงตอนกลางวัน หรืองานฉลองตอนเย็นแล้วต่อด้วยอาฟเตอร์ปาร์ตี้ จากนั้นจึงดีไซน์ชุดให้เหมาะกับแต่ละพิธีการ ถ้าเป็นช่วงพิธีหมั้นอาจต้องดูเรียบร้อยสักนิดส่วนช่วงกินเลี้ยงอาจเปลี่ยนสไตล์ให้ดูหรูขึ้นซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องให้เหมาะกับกาลเทศะของแต่ละพิธี ตามด้วยการออกแบบให้เหมาะกับบุคลิกและหุ่น สุดท้ายจึงบวกความชอบของเจ้าสาวเข้าไปโดยดูให้เหมาะกับชุดโดยรวม ส่วนใหญ่ถ้าหมั้นก่อนแล้วกินเลี้ยงมื้อกลางวันมักเพิ่มดีเทลให้กับชุดช่วงเช้า เช่น ดีไซน์ให้มีผ้าคลุมเพื่อความเรียบร้อย
ต้องสวมได้ง่ายและเปลี่ยนได้เร็ว
สิ่งสำคัญที่สุดในการทำชุดสไตล์นี้คือต้องออกแบบโดยคำนึงถึงความง่ายและสะดวกสำหรับการสวมใส่เป็นหลัก ฉะนั้นการกำหนดจุดในการนำสองชิ้นมาประกบกันจึงสำคัญมาก เช่น ถ้าเป็นผ้าคาดไหล่หรือเข็มขัดอาจต้องติดกระดุมแป๊กพลาสติกไปเลย ซึ่งนอกจากจะง่ายต่อการใส่หรือถอดแล้วยังช่วยล็อกไม่ให้ผ้าหรือเข็มขัดเลื่อนไปมาจนทำให้เจ้าสาวเกิดความกังวลอีกด้วย ซึ่งเจ้าสาวจะต้องเรียนรู้วิธีการสวมใส่ก่อนในวันที่ไปรับชุดเพื่อไปบอกต่อกับผู้ที่จะมาช่วยแต่งตัวในวันงานอีกที หรือถ้าจะให้ดีก็หนีบเพื่อนหรือคนนั้นไปด้วยซะเลย ส่วนช่วงฉลองตอนเย็นอาจเน้นให้มีไอเท็มขนาดใหญ่อย่างกระโปรงพองฟูหรือมีโบด้านหลังในช่วงที่เจ้าสาวขึ้นเวทีเพื่อให้ดูโดดเด่นจากระยะไกลเพราะหากชุดมีรายละเอียดที่เล็กมากแขกอาจมองไม่เห็น และเมื่อเข้าสู่ช่วงอาฟเตอร์ปาร์ตี้ก็เพียงแค่ถอดกระโปรงด้านนอกออกให้เหลือเป็นเกาะอกแบบมินิสเกิร์ตเพื่อการเคลื่อนไหวที่คล่องตัวมากขึ้น เป็นต้น
>> ดูไอเดียและคำแนะนำเกี่ยวกับชุดแต่งงานเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย! <<
ภาพเปิด unsplash.com