5 อุปสรรคการเลือกชุดแต่งงานที่ว่าที่บ่าวสาวต้องก้าวผ่านให้ได้

หมดปัญหาการตัดสินใจเรื่อง ชุดแต่งงาน หากว่าที่บ่าวสาวขจัด 5 สิ่งเหล่านี้ออกไปได้

แพรว wedding ได้ประมวล 5 อุปสรรคที่สลักอยู่ในใจว่าที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวเมื่อต้องเลือก ชุดแต่งงาน มาฝาก ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาลที่บ่าวสาวมักต้องเผชิญแทบทุกคู่ในช่วงการเฟ้นหาชุดแต่งงานโดนใจ และต่อไปนี้คือทางออกง่ายๆ ที่จะทำให้ปัญหาชวนปวดหัวนี้หมดไปแบบไร้กังวล

1. ตั้งงบไม่ถูก

ปัญหาสุดคลาสสิคด่านแรกของว่าที่บ่าวสาวก็ว่าได้ แต่ข้อนี้แก้ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่บ่าวสาวตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าคุณต้องการเลือกชุดเจ้าสาวแบบไหน เช่าตัด หรือตัดซื้อ เพราะทั้งสองแบบนี้ต่างกันในเรื่องราคาอย่างแน่นอน ซึ่งหากเจ้าสาวเลือกที่จะเช่า ก็เพียงแค่เลือกชุดเจ้าสาวที่ชอบแล้วแก้ขนาดให้พอดีกับรูปร่าง เท่านี้ก็เป็นอันจบภารกิจ

แต่หากว่าที่เจ้าสาวเลือกชุดแบบเช่าตัดคุณก็จะได้เป็นมือวางอันดับหนึ่งในการสวมใส่ชุดนั้นเป็นคนแรก ก็คล้ายๆ กับว่าคุณสั่งตัดขึ้นมาเพื่อคุณเองโดยเฉพาะ แต่แค่เมื่อเสร็จงานชุดนี้จะกลับไปอยู่ที่ร้านแทนที่จะเป็นบ้านของคุณ ซึ่งชุดเช่าตัดนั้น ราคาจะถูกกว่าชุดตัดซื้อ แต่ชุดตัดซื้อนั้นว่าที่เจ้าสาวจะได้ทุกอย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ แบบชุด และที่สำคัญได้ชุดนั้นกลับบ้านเมื่อเสร็จงานอีกด้วย

เมื่อเลือกรูปแบบชุดได้แล้ว ก็มาดูว่างบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับการจัดงานแต่งงานนั้นมีอยู่ทั้งหมดเท่าไหร่ จากนั้นก็ค่อยๆ เกลี่ยงบไปในส่วนต่างๆ มากน้อยตามลำดับความสำคัญ แล้วนำงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับเรื่องชุดแต่งงานนั้นเข้าไปคุยกับร้าน เพื่อให้ดีไซเนอร์ทำชุดในงบที่มีให้สวยที่สุด แต่ถ้าเจ้าสาวเกิดไปถูกใจความพิเศษต่างๆ ที่ทางร้านนำเสนอ เช่น ผ้าลูกไม้นำเข้า หรือเทคนิคการตัดเย็บเฉพาะตัว งานนี้ก็อาจจะต้องเจียดเงินจากส่วนอื่นๆ มาถมเอานะจ๊ะ

“แพงถูกไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะจะมีงบเท่าไหร่ก็มีชุดแต่งงานสวยๆ ได้เช่นกัน”


2. ไม่กล้าบอกเธอ

ปัญหานี้ตกอยู่ที่ว่าที่เจ้าบ่าวล้วนๆ เพราะเจ้าบ่าวบางนายก็อยากจะใส่ชุดแบบสลิมฟิตเท่ๆ สักครั้งในวันแต่งงาน หรืออาจจะอยากใส่ชุดทักซิโดสีขาวราวกับเทพบุตร แต่ก็ไม่กล้าบอกถึงความต้องการลึกๆ ให้ใครรู้ เลยกลายเป็นว่างานนี้ต้องไหลไปตาม เออออไปกับดีไซเนอร์และว่าที่เจ้าสาว หากหนุ่มๆ คนไหนเข้าข่ายพฤติกรรมแบบนี้ จงหยุด! แล้วบอกความในใจและความต้องการออกไปตรงๆ เพราะอย่าลืมนะว่าวันนี้เป็นวันสำคัญของคุณ ที่จะถูกบันทึกไว้ในภาพถ่ายที่จะอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นไม่ต้องเขินอายในสไตล์ของตัวเอง เพราะดีไซเนอร์จะสามารถช่วยดึงตัวตน และปรับแก้ทุกอย่างจนคุณเจ้าบ่าวออกมาดูดีได้อย่างแน่นอน

และอาการไม่กล้าบอกนี้จะเกิดขึ้นกับคุณว่าที่เจ้าบ่าวอีกครั้งในวันฟิตติ้ง เช่น เมื่อลองชุดแล้วติดๆ ขัดๆ รูปทรงยังไม่เป๊ะตามที่อยากได้ หรือดีเทลบางอย่างยังไม่ถูกใจ แต่ก็ไม่กล้าบอกเพราะกลัวจะโดนหาว่าเรื่องมาก เราขอให้คุณเจ้าบ่าวเปลี่ยนความคิดใหม่ซะนะคะ จงคิดไว้เสมอว่า เราต้องดูดีและได้สิ่งที่ดีที่สุดในวันสำคัญ

“ไม่ชอบคัตติ้งตรงไหน หรือแม้แต่อยากเปลี่ยนกระดุม ก็แมนๆ บอกไปเลย ดีกว่ายืนเสียเซลฟ์ในวันงานเพราะชุดไม่โดนใจ”

ชุดแต่งงาน


3. กลัวพังเพราะหุ่นไม่เป๊ะ

ปัญหาระดับชาติของว่าที่เจ้าสาวที่เมื่อเปิดดูชุดแต่งงานก็จินตนาการไปก่อนว่า ‘ฉันใส่คงไม่สวยเท่านางแบบหรอก’ โถ่ อย่าเพิ่งฝันสลายไปไกลขนาดนั้นนะคะสาวๆ เพราะดีไซเนอร์นั้นสามารถเนรมิตแบบชุดที่หลากหลายให้เข้ากับสรีระของว่าที่เจ้าสาวหลายไซส์ได้แบบไม่ยาก แต่อาจจะมีเงื่อนไขนิดๆ หน่อยๆ ตรงที่ว่า ชุดนั้นควรตัดเย็บจากการวัดตัวของเจ้าสาวตั้งแต่แรก เพราะดีไซเนอร์จะได้รู้ถึงจุดบกพร่องและช่วยแก้ไขจุดเพื่อให้ชุดในฝันให้เข้ากับสรีระของเจ้าสาวได้มากที่สุด


4. วางแผนเวลาผิด

ให้จำไว้เสมอว่า 5-6 เดือนเป็นระยะเวลาที่กำลังเหมาะ โดยเดือนแรกอาจจะเป็นช่วงสำรวจตัวเองว่าอยากได้ชุดแต่งงานแบบไหน เพื่อที่จะได้จัดงบและตามหาร้าน หรือดีไซเนอร์ได้ถูก ส่วนเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 5 คือช่วงเวลาการลงกรรไกรเพื่อตัดเย็บชุดแต่งงานในฝัน และโดยเฉลี่ยแล้วว่าที่เจ้าสาวจะได้ลองชุดแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง โดยมีไทม์ไลน์คร่าวๆ ดังนี้

เดือนที่ 2 – ลองชุดครั้งที่ 1 เป็นการลองโครงผ้าเพื่อฟิตติ้งไซส์ที่เหมาะสม
เดือนที่ 3 – ลองชุดครั้งที่ 2 เป็นการลองชุดจริงแต่ยังไม่ได้ตกแต่งใดๆ ให้สวยงาม
เดือนที่ 4 – ลองชุดครั้งที่ 3 เป็นการลองชุดที่ตกแต่งเรียบร้อยแล้ว
เดือนที่ 5 – ลองชุดครั้งสุดท้าย

สุดท้ายเดือนที่ 6 อาจจะเผื่อไว้สำหรับกรณีที่ต้องรอสั่งวัสดุที่หายากหรือนำเข้าจากเมืองนอก หรือต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัวในการตัดเย็บที่ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ

5. เจอชุดใหม่เลยเปลี่ยนใจกะทันหัน

ถ้าแค่เพิ่มรายละเอียดหรือเพิ่มการตกแต่งก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าถึงขั้นเปลี่ยนทรงชุดอันนี้อาจจะต้องคุยกันยาวนะจ๊ะ เพราะชุดบางทรงอาจจะไม่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้กลายเป็นแบบใหม่ได้ เช่น ถ้าเจ้าสาวเลือกตัดชุดทรงบอลกาวน์ แต่เกิดเปลี่ยนใจเพราะไม่อยากได้กระโปรงที่ใหญ่โตแล้ว แบบนี้ก็ยังพอที่จะแก้ไขกระโปรงให้มีขนาดเล็กลงมาได้ แต่ถ้าเกิดอยากเปลี่ยนเป็นทรงอื่นไปเลย อาจจะต้องคิดกันให้ดีอีกทีเพราะนอกจากจะเสียเวลาในการปรับเปลี่ยนแก้ไข หรือตัดเย็บใหม่แล้ว อาจจะต้องเสียทรัพย์เพิ่มอีกด้วยนะจ๊ะ

“เจ้าสาวควรฟันธงแบบชุดให้จบก่อนที่จะสั่งตัด และจงหนักแน่นเข้มแข็งเข้าไว้นะ”

หากเลือกชุดแต่งงานแบบสากลกันได้แล้ว ก็อย่าลืมใส่ใจกับขั้นตอนการเลือกชุดไทยให้ดูเข้ากันด้วยน้า นี่เลย…เรามีทิปส์ดีๆ จากกูรูมาบอกต่อ เทคนิคการเลือกชุดแต่งงานไทยของบ่าวสาวยังไงให้ดูเข้ากัน

ภาพ stocksnap.io, www.pinterest.com

Recommended