อัฐ-ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์
อายุ 38 ปี
นักบริหาร
“งานกับความรัก” จะบริหารอย่างไรให้ลงตัวแบบที่ยังมีเธอมีเขา และกลายเป็นเราได้อยู่ “คุณอัฐ – ดร.ตวงอัฐ ชัยกิจโกสีย์” ผู้บริหารหนุ่มใหญ่แห่ง บมจ.ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) มีคำอธิบายในแบบนักบริหารมาบอกสาวๆ กันค่ะ
“ถ้าย้อนไปตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น เวลาผิดหวังในเรื่องความรักผมมักจะหาทางออกให้ความรู้สึกของตัวเองด้วยการหาความรักครั้งใหม่มาทดแทนเสมอ ผลคือก็ยังคงผิดหวังเหมือนเดิมซ้ำๆ เลยเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมความสัมพันธ์ของเราถึงเดินไปได้สักพักก็สะดุดเสมอ สุดท้ายได้คำตอบว่าเพราะเราเองนี่แหละที่คบคนอื่นแบบฉาบฉวย มองแต่สิ่งที่เราต้องการจากเขา โดยไม่สนใจว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งนั่นคือเรากำลังเห็นแก่ตัวเพราะห่วงแต่ความต้องการของตัวเอง โดยลืมไปว่าเราก็เป็นเรา เขาก็เป็นเขา พื้นฐานที่มาต่างกัน ถ้าเราอยากมีความรักที่ไปได้ตลอดรอดฝั่งคงต้องมีทั้งตัวเราตัวเขา ไม่ใช่แค่เราหรือเขาเท่านั้น
“งานกับความรักมีจุดที่เหมือนกันคือเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับความต่างในนิสัยของแต่ละคน เวลาที่ทำงานเป็นทีม เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนในทีมปรับทัศนคติของตัวเองเพื่อการทำงานร่วมกับคนอื่นได้ เหมือนกันกับที่ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เรากับคนรักสามารถจูนกันติดทั้งๆ ที่มาจากครอบครัวคนละแบบ ซึ่งการปรับที่ว่านี้ต่างก็ต้องอาศัยเวลาที่พอดีและลงตัวเหมือนกัน
“การจะดูว่าเรามีแนวโน้มเข้ากันได้ไหม สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นคนรักหรือคู่ชีวิตได้หรือเปล่า ต้องดูว่าต่างฝ่ายต่างยอมทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรือไม่ ยืดหยุ่นให้กันได้มากแค่ไหน เพราะผมว่าทั้งคู่ต้องผลัดกันใช้ชีวิตอยู่ในโลกของอีกฝ่าย ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งเดินเข้าไปอยู่ในโลกของอีกคน
“สิ่งที่ต่างกันระหว่างความรักและงานคือ เมื่ออยู่ในการทำงาน เราต้องหาข้อสรุปที่ลงตัวบนพื้นฐานของเหตุและผล แต่ความรักเป็นเรื่องที่หาเหตุผลไม่ได้ ทำไมเราต้องยอมคนๆ นี้ ต้องถอยให้กับเขา ทั้งที่ไม่ใช่ตัวเรา แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือเราไม่ใช่คนเดียวที่ยอมหรือถอย เขาเองก็มีสิทธิ์จะไม่ชอบอะไรๆ ที่เป็นเราเหมือนกัน ฉะนั้นเขาเองก็คงต้องยอมต้องถอยไม่ต่างกัน เราไม่จำเป็นต้องหาจุดตรงกลางว่ายอมเท่านี้พอไหม ถอยเท่านี้ได้หรือเปล่าเพราะไม่มีทางรู้ว่าจุดตรงกลางในแต่ละเรื่องของแต่ละคู่อยู่ตรงไหน แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือเราถอยและยอมเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการใช้ชีวิตร่วมกันใช่หรือเปล่า ถ้าใช่ ผมว่านี่จะเป็นบททดสอบหนึ่งที่จะช่วยบอกเราได้ว่าความสัมพันธ์ในครั้งนี้จะไปถึงปลายทางของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างที่ตั้งเป้าไว้ไหม
“สิ่งสำคัญอีกข้อที่ผมว่าแต่ละคู่ควรตอบให้ได้คือ เมื่อปรับตัวแล้ว ยอมและถอยให้กันแล้ว ต่างฝ่ายต่างยอมรับและเข้าใจจริงไหมว่า ‘ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ’ เพราะถ้าเข้าใจและยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบนั้นได้จริงๆ ก็จะไม่เกิดความคาดหวังอะไรในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่จะบอกกับเราได้ว่าคนรักคนนี้สามารถพัฒนาเป็นคู่ชีวิตได้”