พ.ร.บ. คู่ชีวิต หนุ่มสาว Same Sex เขาได้สิทธิอะไรบ้าง ไปดูกัน

ความรักเป็นสิ่งที่เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีความเห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้ และได้รับสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ตามกฎหมายรับรองวันนี้ แพรวเวดดิ้ง เลยมาสรุปสาระสำคัญและสิทธิที่คู่ชีวิตเพศเดียวกันได้รับตาม พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับนี้

พ.ร.บ. คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนได้แล้วพร้อมสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย

พ.ร.บ. คู่ชีวิต
Photo by Quino Al on Unsplash

ก่อนจะไปดูว่าพ.ร.บ. คู่ชีวิต ปี 2563 ให้สิทธิอะไรกับคู่รักเพศเดียวกันบ้าง ขอย้อนความไปจุดเริ่มต้นของร่งพ.ร.บ. นี้กันสักนิด จริงๆ แล้วการเรียกร้องพระราชบัญญัติฉบับนี้ทำกันมาหลายปี โดยร่างแรกเกิดขึ้นในปี 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ในช่วงนั้นมีเสียงทัดทานและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก ทั้งฝั่งคนทั่วไปและแม้กระทั่งคู่รักเพศเดียวกันด้วย เหตุผลหลักมาจากสิทธิ์ที่กำหนดในตอนนั้นน้อยมาก อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงแค่การอนุญาตให้จดทะเบียนแต่แทบไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ เลย เช่น

  • ไม่สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้
  • ไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้นามสกุลเดียวกันได้
  • ไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลของคู่รักได้
  • ไม่สามารถรับสวัสดิการจากรัฐของคู่รักได้
พ.ร.บ. คู่ชีวิต
Photo by Anna Shvets from Pexels

พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงถูกแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า จนผ่านมากว่า 7 ปี ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ปี 2563 (ร่างที่ 6) ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และได้ให้คำนิยามคำว่า “คู่ชีวิต” ไว้ว่า

“คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พระราชบัญญัติ นี้

ซึ่งสาระสำคัญหลักในร่างพ.ร.บ ฉบับนี้จะทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันและได้รับสิทธิ์ต่างๆ ตามกฎหมาย ดังนี้

  • กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัติคู่ชีวิต
  • กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้ง 2 ฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • กรณีผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือ ศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ และบรรลุนิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  • กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เช่นเดียวกับสามีหรือภรรยา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไป เช่นเดียวกับสามีภรรยา ตามประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา
พ.ร.บ. คู่ชีวิต
Photo by Anna Shvets from Pexels
  • กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็น สินส่วนตัว และสินทรัพย์ร่วมกัน
  • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมถึงการจดทะเบียนรับผู้เยาว์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่ง มาเป็นบุตรบุญธรรมของตนเองได้
  • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์และหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรส ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยคู่สมรส ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตได้โดยอนุโลม
พ.ร.บ. คู่ชีวิต
Photo by Chrysostomos Galathris from Pexels

นอกจากสาระสำคัญข้างบนแล้ว ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคู่รักเพศเดียวกัน ดังนี้

  • กำหนดให้ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรส หรือ คู่ชีวิตอยู่ไม่ได้
  • กำหนดให้เหตุผลฟ้องหย่า รวมถึงกรณีสามีหรือภรรยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต
  • กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพในกรณีหย่าหมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศจะสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตและได้รับสิทธิตามกฎหมายแล้ว แต่ยังคงได้รับสิทธิไม่เท่ากับคู่สมรส เนื่องจากว่ามีบางข้อในร่างพ.ร.บ. ที่เสนอไปตั้งแต่ต้นไม่ถูกอนุมัติ เช่น สิทธิการรับบุตรโดยการอุ้มบุญ สิทธิการเปลี่ยนไปใช้นามสกุลเดียวกัน สิทธิการรับสวัสดิการรัฐของคู่ชีวิต และสิทธิในการลดหย่อนภาษีจากการมีคู่ชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่เทียบเท่ากับการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายหญิงทั่วไป

การผ่านร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความเข้าใจความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย และยังเป็นประเทศลำดับที่ 27 ของโลกที่ออกกฎหมายประเภทนี้อีกด้วย

ติดตามเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ของคู่รักได้ที่ >>> Love & Relationship

ข้อมูลจาก : accesstrade.in.th, web.krisdika.go.th

Recommended