พิธีแต่งงานจีน แบบ Step by Step การันตีความเป๊ะ
“พิธีแต่งงานจีนที่ตรงตามประเพณีเป๊ะๆ จัดกันอย่างไร” เป็นคำถามที่เราเองก็สงสัยไม่แพ้กัน เพราะแม้ว่าจะได้รับเกียรติให้ได้เข้าร่วมหลายครั้ง แต่จนวันนี้ก็ยังงงๆ กับสูตร พิธีแต่งงานจีน ที่ไม่เหมือนกันสักครอบครัว เพราะบางบ้านก็จัดแบบรวบรัดขั้นตอน หรือมีผสมงานไทยเข้ามาด้วย เอาเป็นว่าบ่าวสาวคู่ไหนที่สงสัยเหมือนกัน และอยากจัดให้ถูกต้องตามประเพณี อ่านบทความนี้แล้วค่อยลงมือจัดงานก็ยังทันนะจ๊ะ
สิ่งแรกที่บ่าวสาวต้องทำหลังจากตกลงว่าจะแต่งงานกันแน่นอนแล้วคือนำวัน เดือน ปีและเวลาเกิดไปให้ซินแสผูกดวงเพื่อหาวันมงคลในการทำพิธีต่างๆ (สมัยก่อนหน้าที่นี้จะเป็นของฝ่ายชาย แต่ปัจจุบันบ่าวสาวคล้องแขนไปด้วยกันก็ไม่ผิด) ซึ่งวันมงคลที่ว่าไม่ได้หมายถึงวันสู่ขอหรือวันทำพิธีเท่านั้น แต่บางบ้านที่เคร่งมากๆ อาจรวมถึงวันและเวลาที่จะลงกรรไกรตัดชุดแต่งงานด้วย
วันสู่ขอ
ฝ่ายชายจะเดินทางไปบ้านฝ่ายหญิงตามฤกษ์ที่ได้จากซินแส โดยไปพร้อมกับแม่สื่อ (ถ้ามี) เถ้าแก่ และพ่อแม่ ตามมารยาทที่ดีควรเตรียมของฝากเล็กๆ น้อยๆ ไปกำนัลครอบครัวฝ่ายหญิง อาจเป็นขนมที่สืบรู้มาว่าชอบกินกันเป็นพิเศษหรือจะเป็นกระเช้าผลไม้ก็ได้เหมือนกัน
วันนี้ฝ่ายชายต้องแจ้งกำหนดการจัดพิธีต่างๆ ให้ครอบครัวฝ่ายหญิงได้รับรู้ รวมถึงต้องไม่ลืมตกลงกันว่าฝ่ายไหนจะดูแลค่าใช้จ่ายในวันใดบ้าง ที่นิยมทำกันคือ วันหมั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายงานเลี้ยง ส่วนวันแต่งงานเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย แต่ข้อกำหนดนี้ไม่ตายตัว สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะและการตกลงกันของบ่าวสาว หากคู่ไหนตกลงใจสร้างบ้านใหม่ก็อาจพูดคุยหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะปลูกที่ไหน บนพื้นที่ของใคร เมื่อตกลงทุกเรื่องเรียบร้อยแล้ว ต่างฝ่ายค่อยแยกย้ายไปเตรียมของสำหรับใช้ในพิธีต่างๆ เพื่อรอวันยกขันหมาก
เจ้าสาวตระเตรียม
ฝ่ายหญิงต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้และเครื่องแต่งงานไว้ ดังนี้
- เอี๊ยมแต่งงาน คือ เอี๊ยมแดงที่ตรงกลางเป็นช่องกระเป๋าปักตัวอักษรจีน ซึ่งแปลว่าอยู่กินกันจนแก่ 100 ปี ในกระเป๋าใส่เมล็ดพืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถั่วเขียว สาคู ถั่วแดง (ห่อไว้ในกระดาษแดง) เพื่ออวยพรให้รุ่งเรืองงอกงาม พร้อมใส่เหรียญทองลายมังกร (บางบ้านใส่เงินเพิ่มเติมลงไปด้วย) เพื่ออวยพรให้ร่ำรวย จากนั้นเสียบปิ่นทองไว้ที่ปากกระเป๋าเอี๊ยมเพื่ออวยพรให้สมปรารถนา พร้อมใส่ต้นชุงเฉ้า ต้นไม้มงคลที่หมายถึงความมีเกียรติ
- ต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้น ให้ความหมายว่าเป็นเมียเพียงคนเดียว
- ส้มเช้ง 1 ถาดใหญ่ ติดตัวหนังสือ “ซังฮี้”แปลว่าคู่ยินดี (ปริมาณมากน้อยแล้วแต่กำหนด)
- ชุดลำไยแห้ง 2 ชุดและลูกลำไยแห้งอวยพรให้มีความหวานชื่น
- ใบทับทิม เตรียมไว้ประดับของทุกถาดที่ฝ่ายชายต้องยกกลับ
- เซฟแดง สำหรับใส่เงินทองและเครื่องประดับที่เจ้าสาวนำติดตัวออกไปจากบ้าน
- ของใช้สำหรับเจ้าสาว ได้แก่ กะละมังสีแดง 2 ใบ ถังน้ำสีแดง 2 ใบ กระป๋องน้ำสีแดง 2 ใบ กระโถน 1 ใบ กระจก กรรไกร ด้าย เข็ม
- ถาดใส่ของ จัดเตรียมไว้เป็นคู่กี่คู่ก็ได้
- แผ่นรูปหัวใจสีแดง สำหรับติดเครื่องประดับทองและเพชร จะมีจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานะเจ้าสาว
- พัดแดง สำหรับเจ้าสาวถือตอนส่งตัว
- รองเท้าเกี๊ยะสีแดง 1 คู่ สำหรับใส่ในเช้าวันแรกที่อยู่บ้านฝ่ายชาย
- หมอน 1 ชุด ได้แก่ หมอนข้าง 1 คู่ หมอนหนุน 1 คู่ หมอนหนุนใบยาว 1 ใบ (มีหรือไม่มีก็ได้) ผ้าปูที่นอน และผ้าห่ม 1 ผืน
- ตะเกียง เชิงเทียน ชุดน้ำชา และกาเหล้าสีแดง
- ไข่ต้มย้อมเปลือกเป็นสีแดง จัดเตรียมเป็นจำนวนคู่ เพื่ออวยพรให้มีลูกหลานมากๆ
- ของขวัญ สำหรับมอบให้พ่อแม่และญาติฝ่ายชาย
พ่อแม่เจ้าสาวจะจัดของให้มากกว่านี้ก็ไม่ผิด เพื่อเป็นหน้าตาของครอบครัวและบอกโดยนัยว่าเจ้าสาวไม่ได้มาแต่ตัว ซึ่งเท่าที่ แพรว wedding เคยเห็นมามีทั้งโทรทัศน์จอยักษ์ ชุดโฮมเธียเตอร์ ตู้เย็นขนาดใหญ่ และรถยนต์ แต่ที่หลายคนมองข้ามและมักจะลืมจัดเตรียมไว้คือ หวี 4 เล่ม หรือ “ซี้ซี้อู่หอซิว” แปลว่า มีทรัพย์ตลอดเวลานั่นเอง