เจ้าบ่าวหามา
ขณะที่ฝ่ายหญิงเตรียมข้าวของมากมายฝ่ายชายก็ไม่น้อยหน้า เพราะต้องเตรียมเครื่องขันหมากตามที่ฝ่ายหญิงกำหนดให้ครบถ้วน โดยแยกเป็นสินสอดและทองหมั้น สินสอดคือค่าน้ำนมที่ต้องมอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง หากปู่ย่าตายายยังอยู่ ก็ต้องจัดเงินอั่งเปาพร้อมชุดหมูให้ 1 ชุด ประกอบด้วยขาหมูทั้งขาแบบสดๆ บางบ้านอาจขอให้จัดชุดเครื่องในหมู ซึ่งประกอบด้วยตับ หัวใจ กระเพาะมาด้วย โดยทุกชิ้นติดคำว่าซังฮี้เอาไว้สำหรับทองหมั้น ตามประเพณีจีนแต่เดิมได้แก่ ทอง 4 อย่าง (เลข 4 เป็นเลขดีของคนจีน) คือ กำไลทองคำ สร้อยคอทองคำ ต่างหูทองคำ และเข็มขัดทองคำ นอกจากนี้ยังมีเครื่องขันหมากอื่นๆ ที่ฝ่ายชายต้องเตรียมมาแบบจัดเต็มเพื่อความเป็นสิริมงคลและสมบูรณ์แบบของพิธี ดังนี้
- กล้วยทั้งเครือ เลือกแบบที่ยังเขียวๆ ยิ่งมีลูกเยอะๆ เป็นจำนวนเลขคู่ได้ยิ่งดี เพราะเชื่อว่าจะได้มีลูกสืบสกุลเต็มบ้าน (ต้องติดอักษรซังฮี้ทุกลูกด้วย)
- อ้อย 1 คู่ ยกมาทั้งต้น เพื่ออวยพรให้ชีวิตคู่หวานชื่น บางบ้านไม่จัดมาเพราะแม้จะหวานแต่อ้อยกินยาก
- ส้มเช้งจัดมาเป็นคู่ (อาจเป็น 44, 84 หรือร้อยกว่าผล) โดยติดตัวอักษรซังฮี้ทุกผลหมายถึงความโชคดี
- ขนมหมั้น, ขนมแต่งงาน ที่นิยมคือขนม 5 อย่าง ได้แก่ ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะ ขนมถั่วตัด ขนมข้าวพองทุบ และขนมโก๋อ่อน โดยจัดมาในปริมาณตามที่ฝ่ายหญิงกำหนด
- ชุดหมู แบ่งเป็น 4 ถาด ถาดแรกใส่หัวหมูพร้อมเท้าทั้งสี่ (ตัดเล็บให้เรียบร้อย) และหางอีกสองถาดใส่ขาหมูสดถาดละข้าง และถาดสุดท้ายวางเนื้อส่วนท้องของแม่หมู เพื่ออวยพรให้เจ้าสาวได้อุ้มท้องผู้สืบสกุลให้แก่ฝ่ายชาย (ฝ่ายหญิงต้องให้ชุดหมูที่ประกอบด้วยหัวใจหมูทั้งยวงที่มีปอดและตับติดอยู่ ตอบแทนกลับไป)
- ชุดเซ่นไหว้ที่บ้านเจ้าสาว 2 ชุด สำหรับไหว้เจ้าที่และไหว้บรรพบุรุษ
- โบแดงหรือชมพู สำหรับผูกหน้ารถแต่งงาน