สร้างสีสันให้งานแต่งไทย ด้วยลิสต์ เพลงไทย เหล่านีี้กันเถอะ
ดนตรีหรือเสียงเพลง เป็นอีกหนึ่งสีสันที่สามารถช่วยสร้างบรรยากาศให้กับงานแต่งงานได้เป็นอย่างดี แต่บ่าวสาวน้อยคู่นักที่จะมองเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในพิธีแต่งงานไทย ที่เมื่อถือช่วงพิธีต่างๆ บางครั้งก็เงียบกริบทำเอาแขกบางคนเกร็งๆ ไม่กล้าลุกไปไหนก็มี แพรว wedding เลยจัดสิลต์ เพลงไทย ที่สมควรมีไว้ในงานแต่งมาฝาก แถมแต่ละเพลงยังแฝงความหมายอันเป็นมงคลให้พรให้โชคกับคู่บ่าวสาวอีกด้วย
ลําดับพิธีการ วงดนตรี และเพลงที่ใช้
ก่อนอื่นเราขอบอกชัดๆ แบบไม่ต้องคิดให้ปวดหัวเลยว่า ทุกช่วงพิธีการสามารถจัดให้มีวงดนตรีไทยมาบรรเลงได้ทั้งนั้น และสามารถเลือกใช้ได้มากกว่าหนึ่งประเภท เนื่องจากรูปแบบการใช้งานและบรรยากาศในแต่ละช่วงต่างกัน ดังนี้
พิธีสงฆ์
แม้เป็นช่วงเวลาแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเน้นความเป็นสิริมงคล ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีเสียงเพลงไทยไพเราะคลอเบาๆ ไม่ได้ นอกจากบรรเลงระหว่างรอเข้าสู่พิธีสงฆ์แล้ว ในช่วงที่พระสงฆ์เดินทางมาถึง วงดนตรีไทยจะทําหน้าที่เสมือนสัญญาณเตือนด้วยการประโคม เพลงรับพระ โดยส่วนใหญ่นิยมใช้วงเครื่องสายหรือวงมโหรีมาบรรเลง เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความสงบและเตรียมพร้อมเข้าสู่พิธีการแรก โดยจะบรรเลงตั้งแต่พระสงฆ์เดินทางมาถึงบริเวณงานไปจนกระทั่งนั่งประจําตําแหน่งเป็นที่เรียบร้อย จากนั้นเริ่มบรรเลงเพลงสบายๆ เป็นการขับกล่อมระหว่างที่พระฉันภัตตาหาร และปิดท้ายด้วย เพลงเชิด หรือ เพลงพระเจ้าลอยถาด เพื่อส่งพระเมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้นลง
พิธีแห่ขันหมาก
นับเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกที่แขกทั้งงานรอคอย ดนตรีไทยที่ใช้ในช่วงนี้จึงต้องทําหน้าที่สร้างบรรยากาศครึกครื้นให้กับงานอย่างเต็มที่ ซึ่งวงดนตรีจะเป็นประเภทไหนไปไม่ได้นอกเสียจากวงกลองยาว หรือที่หลายคนติดปากว่า “ขบวนกลองยาว”
โดยทั่วไปจํานวนสมาชิกในวงกลองยาวจะมีตั้งแต่วงละ 6 คน ประกอบด้วยคนตีกลองยาว 2 คน และหางเครื่องอีก 4 คน ทําหน้าที่เล่นฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง แต่ถ้าเมื่อไรต้องการให้มีนางรําเพิ่มสีสันในขบวนหรือที่เรียกว่าเถิดเทิงกลองยาว โดยยังคงจํานวนสมาชิกในวงไว้ที่ 6 คนเช่นเดิม ก็ให้ตัดฉิ่งและกรับออกไป เพราะแนวทํานองของทั้งสองเครื่องดนตรีนี้สามารถใช้โหม่งและฉาบแทนได้ แต่หากต้องการความสนุกครบสมบูรณ์ แนะนําให้คงไว้แล้วเพิ่มเติมนางรําและกลองรําเข้าไป
การเพิ่มจํานวนสมาชิกขึ้นอยู่กับระยะทางที่วงกลองยาวต้องเดินแห่ไปกับขบวนขันหมาก ยิ่งเดินไกลขนาดวงยิ่งต้องใหญ่ขึ้น หลักการเลือกง่ายๆ คือ หากเป็นการเดินแห่ขันหมากในระยะสั้นๆ ประมาณไม่เกิน 50 เมตร ใช้วงเล็กๆ ที่มีสมาชิกน้อยที่สุดคือ 6 คนก็พอ ถ้าเดินไกลประมาณ 100-200 เมตร ให้เลือกวงขนาดกลางคือเพิ่มกลองยาวเป็น 4 ตัว และถ้าต้องเดินเป็นกิโลเมตร จัดวงใหญ่สุดเลย เพื่อให้เสียงไม่ตกตั้งแต่เริ่มเดินกระทั่งส่งขบวนผ่านประตูเงินประตูทองด่านสุดท้าย