ความเชื่อหนึ่งในการแต่งงานสมัยโบราณคือ บ่าวสาวต้องมีการผ่าน พิธีซัดน้ำ ที่จะทำให้ชีวิตคู่พบความสงบร่มเย็น แต่ในปัจจุบันพิธีนี้ได้หายไปแล้ว ซึ่ง แพรว wedding จะขอนำกลับมาเล่าให้ฟังว่า พิธีซัดน้ำ ที่ว่านี้เขาทำกันยังไงและทำไปเพื่ออะไรกันนะ
พิธีซัดน้ำ คืออะไร
พิธีซัดน้ำ คือพิธีต้นแบบของการรดน้ำสังข์ในปัจจุบันมีเป้าหมายก็เพื่อความเป็นสิริมงคลของครอบครัวใหม่และให้บ่าวสาวครองเรือนคู่กันไปอย่างร่มเย็นเป็นสุขจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร แถมยังเป็นโอกาสอันดีงามให้หนุ่มสาวยุคต้นรัตนโกสินทร์ได้มาสีไหล่กันแบบที่นานๆ ทีจะมีโอกาส ซึ่งในพิธีซัดน้ำนั้นผู้ที่จะทำการซัดน้ำใส่บ่าวสาวคือพระสงฆ์ไม่ใช่ญาติผู้ใหญ่เหมือนในพิธีรดน้ำสังข์นะคะ
ซึ่งพิธีซัดน้ำในอดีตนั้น คนโบราณว่ากันอีกอย่างหนึ่งว่า ทำก็เพื่อให้บ่าวสาวได้ชำระล้างตนเองให้สะอาดก่อนเข้าพิธีแต่งงานในวันรุ่งขึ้น ซึ่งน้ำที่ว่าก็คือน้ำมนต์ที่ช่วยกำจัดสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากตัวบ่าวสาว เพราะฉะนั้นการซัดน้ำจึงเป็นแค่การเริ่มต้นการเข้าพิธีแต่งงานของบ่าวสาวเท่านั้น ไม่ใช่ทำขึ้นในวันเดียวกันเหมือนอย่างการรดน้ำสังข์ในปัจจุบันนั่นเอง ซึ่งต่อมาพิธีซัดน้ำได้เปลี่ยนมาเป็นพิธีรดน้ำพระพุทธมนต์แทนเนื่องจากการซัดน้ำนั้นค่อนข้างยุ่งยากและเปรอะเปื้อน ซึ่งในช่วงแรกนั้นเป็นการรดน้ำที่ศีรษะแต่เพียงอย่างเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ พอเจ้าสาวแต่งหน้าแต่งตาจัดเต็มเมื่อเครื่องสำอางโดนน้ำก็ย่อมไหลย้อยเป็นคราบลงมา แถมผมที่อุตสาห์บรรจงจัดแต่งก็พาลจะเสียทรงเอาง่ายๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการรดน้ำสังข์ที่มือแทน และใช้วิธีนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน
เริ่มพิธีกันเลย
พิธีซัดน้ำจะจัดในช่วงบ่ายถึงเย็นที่เรือนหอของบ่าวสาว เมื่อเริ่มพิธีในวันสุกดิบก่อนพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะนั่งคู่กันเว้นระยะห่างเล็กน้อย ด้านข้างของคนทั้งคู่จะเป็นเพื่อนเจ้าบ่าวและเจ้าสาวที่อาจนั่งห้อมล้อมหรือนั่งเรียงกันด้านข้าง เมื่อนั่งพร้อมแล้วพระสงฆ์จะสวมมงคลที่โยงมาจากอ่างน้ำมนต์ให้แก่บ่าวสาวโดยเริ่มสวดมนต์ทำพิธี และเมื่อถึงบทชยันโตอันเป็นบทสวดมนต์มงคลจึงเริ่มตีฆ้องชัยเป็นสัญญาณ ให้ประธานสงฆ์ทำการซัดน้ำ แต่อย่าคิดว่าซัดน้ำนี้จะเป็นน้ำหยดเล็กๆ เป็นเม็ดฝนหยดน้อยอย่างที่เราคุ้นเคย เพราะพระท่านจะใช้สิ่งที่เรียกว่า “โอ” เครื่องเขินชนิดหนึ่งขนาดพอๆ กับขัน ตักแล้วซัด แล้วสาด ให้เปียกชุ่มกันทั่วหน้าเหมือนเล่นสงกรานต์กลางงานแต่ง
จังหวะนี้ล่ะที่เพื่อนทั้งสองฝ่ายจะเบียดกระแซะจนเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้นั่งชิดเบียดกัน ถ้าน้ำมนต์หมดพอดีก็เอาบาตรที่บรรจุน้ำมนต์นั้นครอบศีรษะเจ้าบ่าวเจ้าสาวคนละครั้ง แต่ถ้าไม่หมดก็ให้ญาติผู้ใหญ่เป็นผู้ตักน้ำมนต์ราดเจ้าบ่าวเจ้าสาวเวียนกันไปจนน้ำมนต์หมดแล้วจึงค่อยใช้บาตรครอบศีรษะ
เมื่อเสร็จพิธีซัดน้ำ บ่าวสาวต่างแยกกันคนละห้องไปผลัดผ้า เปลี่ยนชุด ส่วนผ้าที่เปียกก็จะให้เด็กน้อยแถวนั้นนำไปซัก ไปตากให้เรียบร้อย และมักจะแอบซ่อนเครื่องประดับมีค่าชิ้นเล็กๆ ไว้ในผ้าเปียก เพื่อเป็นรางวัลให้แก่เด็กน้อยที่ซักผ้าให้
ดูเป็นพิธีการที่สนุกสนานใช่ไหมคะ แถมถ้าเอามาใช้ในยุคนี้ก็น่าจะดี เผื่อเพื่อนเจ้าสาวจะฉวยโอกาสนี้สอยเพื่อนเจ้าบ่าวสักคนลงจากคานมาคู่กัน
นอกจากพิธีซัดน้ำแล้ว ประเพณีแต่งงานยังมีอีกหนึ่งพิธีที่น่ารักอย่าง พิธีซ่อนรองเท้าเจ้าบ่าวไว้เรียกค่าไถ่ ที่เป็นอีกหนึ่งกิมมิกสุดน่ารักในพิธีแต่งงานไทยให้บ่าวสาวสมัยใหม่ได้นำไปทำตามอีกด้วยนะคะ
ภาพจากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส