เพราะด้วยความที่พิธีแต่งงานไทยนั้นมากไปด้วยขั้นตอนและคำศัพท์ที่เฉพาะทาง จึงทำให้บางครั้งบ่าวสาวเกิดอาการมึนตึ๊บว่า แล้วคำแบบไหนที่ถูกต้องกันแน่ที่จะใช้ใน การ์ดเชิญงานแต่งไทย เพื่อไม่ใหแขกงง แพรว wedding เลยไปเจาะลึกจากกูรูมาให้ รับรองว่าหลังจากนี้แขกเคลียร์ชัดไม่งงอีกต่อไปแน่นอน
พิธีแห่ขันหมาก
สำหรับบ่าวสาวที่มีการจัดงานแต่งงานตามประเพณีและต้องการใส่รายละเอียดในการ์ดเชิญว่ามีพิธีการใดเกิดขึ้นก่อนหลัง มักมีความสับสนอยู่กับคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “ขันหมาก” ซึ่งที่ถูกต้องแล้วนิยมใช้ตามนี้ค่ะ
แห่ขันหมาก
คือคำที่พบเจอบ่อยที่สุดในการ์ดเชิญ หมายถึง ในเวลาที่กำหนดในการ์ดนั้น จะเป็นเวลาที่ขบวนขันหมากเริ่มออกเดินทางไปยังบริเวณบ้านเจ้าสาว หรือพื้นที่ทำพิธีสู่ขอ ซึ่งเมื่อแขกเห็นคำนี้ในการ์ด ขอให้เข้าใจได้เลยว่า หากต้องการร่วมเดินในขบวนต้องมาก่อนเวลาที่กำหนดนี้ และอีกนัยยะหนึ่งคือ หากไม่ร่วมเดินขบวนก็ให้มาทันช่วงเวลาที่ว่า เพราะลำดับพิธีการสู่ขอกำลังจะเริ่มขึ้นหลังจากเวลาดังกล่าว แต่หากคู่ไหนมีการแลกแหวนไปด้วย ในการ์ดเชิญอาจใส่รวบไปเลยทีเดียวว่า “พิธีแห่ขันหมากและพิธีหมั้น”
ส่วนคำที่มักจะทำให้เข้าใจผิดก็คือคำว่า “เชิญขันหมาก” และ “รับขันหมาก” ซึ่งสองคำนี้มีความหมายแบบนี้ค่ะ
เชิญขันหมาก หมายถึงคนที่ทำหน้าที่เชิญขันหมากของฝ่ายชายเข้าบ้าน ส่วนใหญ่เป็นหน้าที่ของญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงที่มายืนรอหน้าขบวนกั้นประตูเงินประตูทอง พร้อมเด็กสาวที่ถือพานเชิญขันหมาก
รับขันหมาก หมายถึง ผู้ที่นั่งอยู่บนเวที ซึ่งมักจะเป็นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ทางฝ่ายเจ้าสาว จะนั่งรอรับพานขันหมากเอกจากขบวนขันหมากเจ้าบ่าวเมื่อเข้ามาถึงบริเวณพิธี
ส่วนการเชิญแขกมาร่วมพิธีรดน้ำสังข์ จะใช้คำว่า “หลั่งน้ำพระพุทธมนต์และประสาทพร” ซึ่งก็คือการเชิญมาร่วมรดน้ำสังข์และอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาวนั่นเอง
ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดงานแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!
ขอบคุณข้อมูล จาก ร้านวิริยา การ์ดแต่งงานและของชำร่วย โทร. 08-1900-4041
ภาพ : www.theknot.com