ในสมัยก่อนจะมีพิธีหมั้นหมายเกิดขึ้นก่อนที่หญิงชายจะเข้าพิธีแต่งงานซึ่งมักจัดกันคนละวัน ไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่บ่าวสาวนิยมจัดให้เสร็จภายในวันเดียว โดยในวันหมั้นนั้นจะไม่มีการตั้งหรือแห่ขบวนขันหมาก แต่จะเป็นการที่ฝ่ายชายและครอบครัวพร้อมเถ้าแก่เดินทางพร้อม ขันหมากหมั้น ไปหมั้นหมายฝ่ายหญิงที่บ้าน แพรว wedding เลยจัดความรู้เรื่องขันหมากหมั้นมาฝากว่าที่บ่าวสาวกันสักหน่อย เผื่อคู่ไหนอยากหมั้นหมายจองตัวกันไว้ก่อนจะได้เตรียมตัวเตรียมของกันได้ถูก
ขันหมากหมั้นกับขันหมากแต่ง แตกต่างกันยังไง
ก่อนอื่น บ่าวสาวห้ามสับสนเพราะวันหมั้นกับวันแต่งนั้นไม่เหมือนกันนะจ๊ะ เพราะฉะนั้นขันหมากก็ต่างกันด้วย ข้อสังเกตง่ายๆ ก็คือ ขันหมากหมั้นจะไม่มี ต้นกล้วย ต้นอ้อย และไม่มีการกั้นประตูเงินประตูทอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องเสียเวลาไปหากล้วยหรือตัดอ้อยกันให้เปลืองแรงกันนะจ๊ะ
ขันหมากหมั้น คือ ขันหมากที่ฝ่ายชายต้องจัดเตรียมไปทำการหมั้นหมายและมอบให้กับบ้านของฝ่ายหญิง โดยมากนิยมใช้เป็นขันเงิน ขันทอง หรือขันทองเหลือง (ขันในที่นี่คือขันจริงๆ นะจ๊ะ) โดยหลักๆ จะมีทั้งหมด 2 ขันดังนี้
ขันที่ 1
– หมากดิบ 4 หรือ 8 ผล ฝานก้นออกแล้วใช้ปูนแดงหรือชาดแดงป้ายเอาไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้หมั้นหมายกันไว้แล้ว
– ใบพลู จัดเรียงทั้งหมด 4 หรือ 8 เรียง (เรียงละ 8 ใบ) โดยตัดก้านออกแล้วใช้ปูนแดงแต้มที่โคนของใบพลูทุกใบ แล้ววางเรียงไว้รอบๆ ขันเพื่อความสวยงาม แล้วคลุมผ้าไว้
*ซึ่งจำนวนหมากและใบพลูนั้นขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น และนิยมเป็นจำนวนคู่
ขันที่ 2 ภายในประกอบด้วยสิดสอดทองหมั้น ไม่ว่าจะเป็น เงิน ทอง เพชร หรือเครื่องประดับที่มีค่าทั้งหลาย ปัจจุบันนิยมใช้เป็นแหวนแต่งงาน โดยจะรองขันด้วยใบเงิน ใบทอง ใบนาค และมีข้าวเปลือก งา ถั่วเขียว ใส่แยกกันไว้ในถุงผ้าแพร หรือถุงเงินถุงทองเล็กๆ เพื่อให้ความรักของทั้งคู่เจริญงอกงาม แล้วคลุมขันด้วยผ้าแพร ผ้าแก้ว หรือผ้าลูกไม้ก็ได้แล้วแต่ความสวยงาม ซึ่งขันนี้จะเป็นหลักประกันที่ว่า ฝ่ายหญิงจะไม่เป็นหม้ายขันหมากในวันแต่งงานแน่นอน แต่ถ้าฝ่ายชายไม่มาแต่งงานตามสัญญา ฝ่ายหญิงก็มีสิทธิ์ริบของหมั้นไปเลย
*ขันที่เลือกใช้มักจะเป็นขันทอง ขันเงิน หรือขันทองเหลือง ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เป็นพานตกแต่งด้วยดอกไม้หรือมาลัยแบบไทยไว้อย่างสวยงามเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น นอกจากนี้บางครอบครัวหรือบางท้องถิ่นอาจมีของอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่น
– พานดอกไม้ ธูปเทียนแพ ประกอบด้วยธูปแพ เทียนแพ และกรวยใบตอง รวมไปถึงดอกรักและดอกบานไม่รู้โรยเพราะมีความหมายที่ว่าคู่รักจะครองรักกันยืนยาว (หรือจะใช้ดอกไม้ความหมายดีอื่นๆ ก็ได้) โดยกรวยใบตองจะวางไว้บนธูปเทียนแพอีกที
– พานผ้าไหว้ผู้ใหญ่ สำหรับมอบให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง โดยจะมอบผ้าขาวม้าให้กับพ่อและญาติที่เป็นผู้ชาย และมอบผ้าแพรห่มหรือผ้าไหมสำหรับแม่และญาติที่เป็นผู้หญิง บางบ้านอาจมีผ้าสำหรับไหว้ผีด้วย โดยใช้เป็นผ้าขาวเย็บเป็นสบงหรือจีวรเพื่อใช้ถวายพระ ซึ่งถ้าหากมีจะต้องจัดแยกเป็น 2 พานให้ชัดเจน
– พานบริวารขันหมาก อาจเป็นขนมหรือผลไม้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ตกลงกันไว้) บางบ้านอาจจัดสุรามาด้วยเพื่อใช้เซ่นไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้วก่อนเริ่มทำพิธีหมั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพานหรือสิ่งของต่างๆ อาจขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละบ้านหรือแต่ละท้องถิ่นด้วยนะคะ รู้อย่างนี้แล้ว ว่าที่บ่าวสาวที่อยากหมั้นหมายเพื่อดูใจกันก่อนก็อย่าลืมเตรียมของให้พร้อม รวมไปถึงการทาบทามผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะมาเป็นเถ้าแก่ด้วย ซึ่งต้องเลือกคู่ที่ครองรักกันมายาวนาน มีชีวิตครอบครัวสุขสันต์ เพราะมีความเชื่อว่าชีวิตรักและครอบครัวของคู่รักก็จะได้สุขสันต์เหมือนท่านด้วย
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!
ภาพเปิด : www.asyourmind.com