• ราวพุทธศตวรรษที่ 4 ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไอซ์แลนด์ในปัจจุบัน เชื่อกัน
ว่าเป็นนักบวชชาวไอริช
• พ.ศ. 1417 ชาวไวกิ้งเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์
• พ.ศ. 2487 ไอซ์แลนด์ประกาศเป็นสาธารณรัฐโดยมีสเวน ปีเยิร์นสซอน เป็นประธานาธิบดีคนแรก
• พ.ศ. 2559 ผศ. ดร.ธรณ์กับบุญยรัตน์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สองสามี-ภรรยาจากประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลจากไอซ์แลนด์นับพันนับหมื่นกิโลเมตร ได้ไปเยือนเกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือบนพื้นที่ 102,775 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้
โดยระหว่างการเดินทางไปยังน้ำตกยักษ์แห่งเวสต์ฟยอร์ด ดร.ธรณ์ ก็ได้โพสต์ภาพคู่กับภรรยาหรือ “หนูดาว”ของเขา โดยมีสายรุ้งเหนือหน้าผาสูงและหินที่เรียงรายอยู่ริมลำธารเบื้องล่างเป็นฉากหลัง ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อม
กับมีข้อความกำกับไว้ว่า
“ภาพวันแต่งงานสำคัญ แต่ยิ่งกว่านั้นคือภาพหลังวันแต่งงาน 19 ปี หลังจากงานของเรา ฉันมาถึงสถานที่ที่เคยกระซิบบอก จะพาเธอไปให้ถึงสุดปลายสะพานสายรุ้ง #ไม่มีภาพพรีเวดดิ้ง #มีแต่ภาพโพสต์เวดดิ้ง”
“ถ้าฮันนีมูนหมายถึงการไปเที่ยวปัจจุบันคู่ผมยังฮันนีมูนอยู่เลย ไปกันทุก 3 เดือน 6 เดือน” ดร.ธรณ์…ผู้ชายที่รั้งตำแหน่งต่างๆ มากมาย ทั้งรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ไปจนถึงสุดยอดแฟนพันธุ์แท้ของรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนทะเลไทย กล่าวขึ้นมาท่ามกลางสวนร่มรื่นภายในบ้านย่านเอกมัย สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงทว่าแฝงอยู่ในประโยคนี้ก็คือ แม้การได้เดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก จะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของชีวิตเพราะอยากเห็นโลกให้มากที่สุดก่อนตายแล้ว การท่องเที่ยวยังเป็นหนึ่งในคำมั่นสัญญาที่เขาได้เคยให้ไว้กับผู้หญิงร่างบอบบางที่นั่งยิ้มอยู่ข้างๆ เขาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
“แต่งงานกันนะ รับรองว่าจะเลี้ยงดูให้เหมือนเดิม”
“เหมือนเดิม” หมายรวมถึง “การพาไปเที่ยว” ด้วย
เป็นข้อเสนอในการร่วมชีวิตกันที่มีจุดเริ่มต้นในช่วงเวลา 2 ปีครึ่งก่อนหน้านั้น
เมื่อครั้งที่ ดร.ธรณ์เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ และเริ่มต้นทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้พบกับคุณดาว ที่เวลานั้นยังเป็นนิสิตปี 3
“ครั้งแรกที่เจอกัน ดาวยังไว้ผมสั้นวันนั้นเขาเดินมาหน้าภาค ผมสะดุดตาตรงที่เขาใส่แว่น เพราะผู้หญิงในสเป็คผมจะต้องใส่แว่น”
อย่างไรก็ตาม ความสะดุดตาก็เป็นเพียงความรู้สึกวูบวาบที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปด้วยอาจารย์หนุ่มมีคนรักอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจารย์กับกลุ่มนิสิตร่วมคณะรวมถึงนิสิตสาวแว่นคนนั้นก็มีโอกาสได้ออกภาคสนามอย่างสม่ำเสมอ กอปรกับความรักที่เคยมีได้กลายเป็นอดีต ความประทับใจแรกพบนั้นก็เริ่มงอกเงยมากขึ้นเป็นลำดับ
สิ่งที่ทำให้นิสิตคนนี้มีความพิเศษกว่านิสิตคนอื่นๆ คืออะไร
“น่าจะนิสัยของเขา ดาวไม่ค่อยเหมือนกับผู้หญิงคนอื่น นิสัยเขาเหมือนผู้ชาย เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา แล้วที่สำคัญที่สุดคือไม่งอน เพราะผมไม่มีเวลาในชีวิตพอจะไปง้อคนอื่นหรอก” ดร.ธรณ์กล่าวพร้อมชูสองแขน “สาระสำคัญลำดับที่สองก็คือ อ่านหนังสือ ข้อนี้สำคัญมากครับ ผมเป็นแฟนกับคนไม่อ่านหนังสือไม่ได้ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ผมอ่านหนังสือ ดังนั้นถ้าเกิดไม่อ่านหนังสือแล้วเขาจะทำอะไรล่ะ (หัวเราะ) แล้วคนอ่านหนังสือก็ย่อมจะเข้าใจกัน ดาวเขาก็สามารถอ่านหนังสือเงียบๆ ได้โดยไม่รู้สึกว่าต้องทนอะไร นอกจากนั้นดาวยังเป็นคนที่ผมเดาทางไม่ค่อยถูกว่าเขาจะพูดอะไร คือผมทำงานกับคนเยอะ ผมเลยค่อนข้างเดาทางคนถูก แต่กับคนนี้นี่เดาไม่ถูกเลย เวลาเขาพูดอะไรออกมา ผมจะต้องร้อง ‘เฮ้ย’ อยู่เสมอ เลยรู้สึกว่าดาวเป็นผู้หญิงที่มีอะไรให้ค้นหา นอกจากนั้นเรายังเป็นคน
ชอบเที่ยวเหมือนกัน ดาวมาเรียนประมงเพราะเหตุผลเดียวคืออยากเที่ยว ตรงนี้ชัดเจนมาก ตอนเอนทรานซ์เขาเลือกแค่ 2 คณะคือ วนศาสตร์กับประมง เป้าหมายก็คือ อยากเที่ยวภูเขากับอยากเที่ยวทะเล แค่นั้นเอง”
คุณดาวสังเกตไหมว่าอาจารย์คนนี้เขารู้สึกพิเศษกับเรา
“ต้องรู้สึกบ้างเนอะ (หัวเราะ) ไม่รู้สึกเลยคงไม่ไหว”
แล้วเริ่มชัดเจนตอนไหนว่ารักลูกศิษย์คนนี้เข้าแล้ว
“ผมไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องความรักนะ ความรักแปลว่าอะไรยังไม่รู้เลย ผมสนใจแค่ว่าคนคนนี้จะสามารถอยู่ด้วยกันตลอดชีวิตได้ไหม อยู่ด้วยกันแล้วชีวิตทั้งเราและเขาจะยังคงเหมือนเดิม ผมเป็นคนไม่เปลี่ยนอะไรอยู่แล้ว เหมือนกับที่ผมตั้งใจจะทำงานด้านทะเลมาตั้งแต่ ม.3” ดร.ธรณ์อธิบาย “แล้วผมก็ไม่เคยใช้คำว่า ‘เลือก’ แต่ใช้คำว่า ‘รอจนกว่ามีโอกาสเจอคนที่เขาคิดว่าจะอยู่กับเราได้ตลอดชีวิต’ ผมคิดเสมอว่าคนเราไม่ควรจะเลือกใครเขาไม่ได้เกิดมาเป็นตัวเลือก คนเราแต่ละคนมีสิทธิ์เท่ากัน ผมไม่ได้เลือกแฟน ผมแค่รอให้แฟนปรากฏตัวขึ้นมา แล้วมั่นใจว่าคนคนนี้จะอยู่กับเราได้ แล้วคำว่า ‘คนที่ใช่’ ของผมไม่ใช่มองตากันสามวันแล้วบอกว่าคนนี้ใช่นะ แต่ต้องผ่านการศึกษาพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหากับเราในภายภาคหน้าก่อนที่จะตัดสินใจถามว่า เขาคือคนที่ใช่
สำหรับเรา แล้วเราคือคนที่ใช่สำหรับเขาหรือเปล่า ซึ่งสำหรับดาว เราก็เห็นมาตลอดว่าเขาเป็นคนยังไง เลยยิ่งมั่นใจ”
และความมั่นใจนี้เองที่นำไปสู่การขอแต่งงานแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยหลังจากที่ฝ่ายหญิงเรียนจบได้เพียง 3 วัน
ความรู้สึกของคุณดาวในตอนนั้นเป็นอย่างไร
“พอเขาบอกว่าแต่งงานกันเถอะ เราก็ตกใจ ยังไม่อยากแต่ง จะไปเรียนต่อต่างประเทศ เขาก็บอกเลยว่า ไม่ต้องไปหรอกจะไปเรียนต่อทำไม กลับมาก็ไม่ต้องทำงานให้แต่งงานเลย” คุณดาวเล่าถึงช่วงนาทีสำคัญก่อนจะพูดต่อด้วยรอยยิ้มว่า “นอกจากนั้นเขาก็บอกว่าจะเลี้ยงดูเราให้เหมือนเดิม หลังแต่งงานแล้วชีวิตจะไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย
เราเลยตกลง แต่เขาต้องชดใช้ด้วยการพาเราไปเที่ยว (หัวเราะ) พอเรียนจบก็หมั้นกันก่อนเพราะที่บ้านให้รอรับปริญญาก่อนถึงจะแต่งงานแล้วเราก็ชอบเป็นคู่หมั้น ชอบคำว่า ‘คู่หมั้น’ ก็เลยให้หมั้นก่อน เพื่อที่จะได้มีช่วงที่เรียกว่า
เป็นคู่หมั้นกันสัก 3 - 4 เดือน”
อาจารย์เผื่อใจสำหรับความผิดหวังเอาไว้บ้างหรือเปล่า
“ไม่เคยเผื่อใจ…ดร.ธรณ์ไม่เคยเผื่อใจเรื่องอะไรเลย ผมเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูงเพราะฉะนั้นค่อนข้างมั่นใจ นี่ไม่ใช่รายการนัดเดต ถ้านัดเดตอาจจะต้องมีเผื่อใจ เพราะเราเพิ่งรู้จักเขามาวันสองวัน แต่นี่เราเห็นหน้าเขามาสองปีกว่าแล้ว รู้อยู่แล้วว่านิสัยเขาเป็นอย่างไร ถ้าเขาไม่มีใจเลย แล้วเราจะไปบอกเขาทำไมล่ะ แต่ถ้าเกิดคิดว่าเขาน่าจะยอมรับก็ไม่จำเป็นต้องเผื่อ” ดร.ธรณ์ตอบเสียงดัง
“ตอนที่ขอแต่งงาน เขาบอกว่าเขาดูเรามานานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่อยู่กับเพื่อน ได้เห็นตัวตนเราเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อน รวมทั้งคิดไว้แล้วว่าเราน่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เขาถึงได้มั่นใจในตัวเรา”
แล้วจากนั้นคู่อาจารย์ - นิสิตได้ขยับมาเป็นหัวใจของกันและกัน โดยเริ่มต้นสร้างครอบครัวใหม่ร่วมกันที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งโดยฝ่ายสามียังคงรักษาคำสัญญาทั้งหมดอย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง “ชีวิต
ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรเลย”
เป็นเรื่องที่เหมือนพูดง่าย แต่ทำยากนะครับ เคล็ดลับคืออะไร
“ผมเชื่อว่าถ้าคนเราไม่เปลี่ยนมาตั้งแต่ต้นซะแล้ว รักที่เคยหวานตั้งแต่ปีแรกก็จะหวานจนถึงปีต่อๆ ไปได้แน่นอน” ดร.ธรณ์อธิบาย “เราต่างก็ชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองเป็นดังนั้นถ้าหากว่าเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่แต่ละคนเป็นได้ตั้งแต่วันแรกแล้ว ยังไงก็อยู่ด้วยกันได้ โดยที่ชีวิตเรายังคงเหมือนเดิม”
“ตอนเลือกเรามีสิทธิ์เท่าเทียมกันนะคะดังนั้นก่อนที่จะเลือกเราก็ต้องคิดให้ดี เพราะเขาจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิตที่เหลือ ความที่เราเองก็รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าแต่ละคนเป็นยังไงพอมาอยู่ด้วยกันเลยไม่ต้องเปลี่ยนอะไร(หัวเราะ) เราอยู่ด้วยกันโดยไม่ต้องปรับตัวเลยเพราะเราสองคนไม่ใช่คนคิดมาก เลยไม่เคยทะเลาะกันแบบใหญ่โต แป๊บเดียวก็จบ ไม่งอนกันหรอก เสียเวลา”
ตั้งแต่ใช้ชีวิตด้วยกันมาเคยทะเลาะหนักที่สุดด้วยเรื่องอะไรครับ
“ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรหรอกครับ แค่ขับรถหลงทางอยู่ในยุโรป แล้วสมัยก่อนไม่มี GPS ไม่มี Navigator นำทางน่ะครับ ต้องอ่านแผนที่อย่างเดียว จุดที่ผู้หญิงกับผู้ชายทะเลาะกันง่ายที่สุดก็คือ ผู้ชายขับรถแล้วผู้หญิงบอกทาง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น” ดร.ธรณ์ตอบ
“ฉันออกจะเก่ง” คุณดาวท้วงยิ้มๆ ก่อนที่สามีจะโต้กลับเสียงดังว่า
“เก่งบ้าอะไร! เลี้ยวผิดเลี้ยวถูก วนอยู่นั่น! แล้วสมัยก่อนไปยุโรปไม่มีแผนที่ภาษาอังกฤษ เจอชื่อเมืองภาษาเยอรมันนี่ตายเลย”
“ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลาะกันเรื่องเล็กๆ น้อยๆ น่ะค่ะ” คุณดาวยิ้ม “อย่างเรื่องหลงทางพอหาที่เจอก็จบ ส่วนเรื่องสำคัญหรือเรื่องใหญ่ๆ ของชีวิตนี่ไม่ค่อยมี เพราะว่าเราค่อนข้างจะมีความเห็นตรงกัน อย่างเรื่องลูกเข้าโรงเรียน เรื่องอะไร ก็คิดแนวเดียวกันหมด”
และก็เป็นเรื่อง “ลูก” นี่เองที่ยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในชีวิตคู่ของทั้งสองคนเป็นครั้งแรก…
ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านของครอบครัว “ธำรงนาวาสวัสดิ์” เมื่อฝ่ายภรรยาตั้งครรภ์ลูกคนแรก (ธรา ธำรงนาวาสวัสดิ์) ด้วยอยากให้เลือดเนื้อเชื้อไขที่กำลังจะเกิดมาได้สัมผัสกับธรรมชาติที่พร้อมพรั่งภายในบ้าน ทั้งสนามหญ้า ต้นไม้ และผืนดิน โดยมีผู้เป็นแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อตกลงที่ทั้งสองมีร่วมกัน
“ผมชอบที่จะทำงานคนเดียว โดยให้ผู้หญิงอยู่บ้าน เลี้ยงลูก นั่นคือข้อตกลงแรกเพราะผมมั่นใจว่าถ้าเกิดให้ผู้หญิงไปทำงานข้างนอก บางทีค่าแต่งหน้าค่าทำผมอาจจะแพงกว่าเงินเดือนที่เขาได้รับซะอีก” ดร.ธรณ์อธิบายพร้อมหัวเราะอารมณ์ดี “อันนี้เป็นหลักทางเศรษฐศาสตร์นะ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการอยากเป็นช้างเท้าหน้า ส่วนข้อที่สอง ผม
ต้องการผู้หญิงที่สามารถทำในสิ่งที่ผมทำไม่ได้และสำคัญที่สุด สามารถรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องกรีดร้องโวยวายให้มากความ”
พอยกตัวอย่างได้ไหมครับ
“เช่น ลูกคนเล็กของผมป่วยหนักอยู่3 ปี เขาป่วยเป็นโรคลำไส้สั้น (ธรรธ ธำรง-นาวาสวัสดิ์) ดาวต้องอยู่โรงพยาบาลติดต่อกัน 3 ปี เพราะเราคงฝากความหวังไว้กับพยาบาล ซึ่งต้องดูแลเด็กทีหนึ่ง 50 คนมากไม่ได้ และส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่เด็กวัยนั้นมีโอกาสเสียชีวิตก็เพราะการติดเชื้อ เพราะฉะนั้นดาวเลย ทำแผลให้ลูกเอง จนต้องนอนโรงพยาบาล 2 อาทิตย์กลับบ้านวันเดียวตลอดสามปี ไม่ใช่ไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งผมทำไม่ได้ แล้วผมก็มั่นใจ
ว่าผู้หญิงอีกครึ่งโลกก็ทำไม่ได้ เวิร์คกิ้งวูแมนทั่วไปทำได้ไหมล่ะ” ดร.ธรณ์ถามกลับขณะที่สายตานั้นมองไปยังแม่ของลูกชายทั้งสองคนของเขา ซึ่งเสริมขึ้นมาว่า
“ตอนนั้นเขาดูแลลูกคนโตอยู่ที่บ้านส่วนเราอยู่กับลูกคนเล็กที่โรงพยาบาล เพราะถ้าไม่ดูแลให้ดีพอก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเราโทร.เล่าอาการให้เขาฟังทุกวัน แม้จะเศร้าบ้างแต่ก็ต้องสู้ เราไม่ต้องให้กำลังใจกัน ตัวเราไม่ได้เป็นอะไร ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป มีลูกก็เลี้ยงกันไป ลูกโตเดี๋ยวเขาก็ต้องไป ถ้าลูกป่วยเราก็มีหน้าที่ดูแล ต้องทำทุกอย่างให้เขาดีขึ้น”
มั่นใจไหมว่าสายตาของเรามองได้ถูกต้อง
“ผมมั่นใจอยู่แล้วครับ ไม่มีมั่นใจเพิ่มขึ้นหรอก (หัวเราะ) ดาวเขาทำในสิ่งที่ผมรู้ว่าผมไม่มีวันทำได้ เขาเป็นลูกสะใภ้ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้ช่วยดูแลพ่อแม่ผม รวมถึงพ่อแม่ของเขาด้วย ดาวเคยต้องพาพ่อผมไปฉายรังสีทุกวัน แล้วก็ทำแผลให้พ่อติดต่อกัน 40 วันรวด ซึ่งผมมั่นใจมากว่าตัวเองทำไม่ได้แน่นอนนี่ก็เพิ่งพาแม่ผมไปรักษาตามาเอง เขาเจ๋งมากนั่งรอคิว 3 ชั่วโมงได้อย่างมีความสุขโดยไม่เคยบ่นเลย ซึ่งหาได้ยากมาก จนอดคิดไม่ได้ว่าชาติก่อนดาวคงเป็นนางพยาบาลมาก่อน ใครก็ตามที่ทำในสิ่งที่ผมทำไม่ได้แน่ๆ นี่ผมก็ต้องชื่นชมและชื่นชอบ ยิ่งเป็นเมียตัวเองก็ต้องชื่นชมและชื่นชอบเป็นพิเศษ” ดร.ธรณ์หัวเราะลั่น ขณะที่ฝ่ายภรรยาเสริมขึ้นมาสั้นๆ ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุ่มเทชีวิตจิตใจไปกับหน้าที่ของความเป็นแม่และลูกสะใภ้ว่า “ก็เขาไม่ให้ทำงาน เขาเคยบอกว่าตั้งใจให้เราอยู่เฉยๆ อยู่เป็นเพื่อนเขา แล้วก็เลี้ยงลูกอยู่แล้วน่ะค่ะ เลยมีเวลาว่างค่อนข้างเยอะ” (หัวเราะ)
แต่ดูเหมือนว่าสามีอารมณ์ดีแสนไฮเปอร์คนนี้จะไม่เห็นด้วยนัก
“หลังจากช่วงเวลา 3 ปีที่ดูแลลูกคนเล็กจนอาการดีขึ้นแล้ว ดาวก็ต้องดูแลพ่อผมเป็นระยะ ๆ ตอนนี้ก็เริ่มดูแลแม่ ไหนจะต้องดูแลพ่อแม่เขาด้วย แค่นี้ก็เหนื่อยมากพอแล้วละ”
แล้วทำให้รักภรรยามากขึ้นไหมครับ
“ก็อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าผมไม่รู้จักคำว่ารักหรอก ผมอาจจะแค่บอกดาวไปว่า ‘เก่งดีนะ’”
ตั้งแต่รู้จักกันมา ดร.ธรณ์บอกรักคุณดาวบ่อยไหมครับ
“ครั้งเดียว ตอนขอแต่งงาน” คุณดาว ตอบ ซึ่งทำให้ ดร.ธรณ์แปลกใจไม่น้อย
“เคยบอกด้วยเหรอ”
“อื้ม” คุณดาวตอบเสียงสูง ขณะที่ฝ่ายสามียังคงไม่ยอมแพ้
“บอกว่า…”
“ก็บอกว่ารักนั่นแหละ จำไม่ได้ก็ช่างเถอะ ฉันจำได้ของฉันเอง”
ส่วนที่สนุกที่สุดของการเป็นคนในครอบครัวนี้คืออะไร
“กวนตีนกันไปมา จุดนี้ชัดเจนมากๆ เลยนะคะ” คุณดาวตอบก่อนจะหัวเราะเสียงใส
“ลูกผมก็กวนตีน” ดร.ธรณ์เสริมภรรยา
“กวนกันไปมาในบ้านนี่แหละ” คุณดาวพูดกลั้วหัวเราะ
แล้วข้อดีของการเป็นภรรยาของผู้ชายแบบ ดร.ธรณ์ ล่ะครับ
“เขาอดทนดีนะคะ เพราะว่าเราก็มีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองสูง เขาเองก็เอาแต่ใจเหมือนกัน แล้วก็จะทำในสิ่งที่เขาอยากทำเราก็แค่อย่าก้าวเข้าไปยุ่งกับชีวิตเขา ใจใครใจมัน เขาเอาแต่ใจเขา เราก็เอาแต่ใจเราแค่เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างนั้น แล้วเขาก็รู้ว่าเราเป็นอย่างนี้ เท่านี้ก็อยู่ด้วยกันได้แบบไม่มีปัญหาแล้วค่ะ” คุณดาวตอบ พร้อมเผยถึงเคล็ดลับชีวิตคู่ของเธอไปในคราวเดียวกันซึ่ง ดร.ธรณ์เสริมในประเด็นหลังเอาไว้ว่า
“คุณลองมองไปข้างหน้าก็ได้ครับมองไปอีก 20 ปีว่าคุณจะต้องเจออะไรบ้าง ถ้าคบกับคนนี้ อีกหน่อยก็จะต้องมีลูก
ถ้าเกิดลูกเจ็บจะอยู่ด้วยกันได้ไหม วันหนึ่งพ่อแม่คุณต้องเข้าโรงพยาบาล แฟนคุณจะดูแลพ่อแม่คุณได้ไหม หรือคุณแก่ตัวไปเขาจะอยู่ดูแลคุณได้ไหม เมื่อคุณตัดสินใจแล้วและมั่นใจแน่นอน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย ที่จะต้องมาคอยปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงอะไร…ก็แค่นั้นเอง ตรงไปตรงมา ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อนมากมาย”
• พ.ศ 2559 ผศ. ดร.ธรณ์กับบุญยรัตน์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เดินทางกลับจากสาธารณรัฐไอซ์แลนด์…
เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดินแดนที่พื้นที่ 62% ของประเทศเป็นที่รกร้าง และอีก 11% เป็นธารน้ำแข็งเฉกเช่นคนอื่น ๆ หรือเหตุการณ์อื่นๆ อีกมากมายที่ผ่านมา…แล้วก็ผ่านไป
วันเวลาอาจทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนไป…แต่สำหรับคู่รักผู้ไปเยือนและจากมา ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันมานานร่วม 2 ทศวรรษ…
บางที…วันเวลาก็ไม่ได้ทำให้บางสิ่งต้องเปลี่ยนแปลง
story : พีรภัทร โพธิสารัตนะ
photo : ดวงพร
style : กุลกณิช
แต่งหน้า - ทำผม ศิโรบล ปานชู
ผู้ช่วยช่างภาพ อัครพนธ์ อภิชาติโยธิน