อยากแต่งงาน ใจพร้อม แต่เงินไม่พร้อม! มาดูวิธีการจัดการกับปัญหานี้กัน

หลากหลายคู่รักที่ฟูมฟักสัญญาณเลิฟกันมาเนิ่นนานจน อยากแต่งงาน แล้ว พอถึงเวลาอายุเหมาะ ความรักสุกงอม ใครๆ ก็เฝ้าแต่ถามว่าเมื่อไหร่จะมีข่าวดี พอเจอคำถามนี้บางคนถึงกับยิ้มแห้งๆ ตอบอยู่ในใจว่า “อยากแต่งใจจะขาด แต่ที่ยังพลาดคือเรื่องเงิน” เอาล่ะค่ะคุณผู้อ่านที่เขามาทัศนาบทความนี้ แพรวเวดดิ้งเชื่อว่าคุณก็คงจะอยู่ในสถานการณ์ใจพร้อมเงินไม่พร้อมใช่ไหมล่ะ งั้นวันนี้แพรวเวดดิ้งมี 5 คำแนะนำมาให้คุณเลือก ไปดูกันก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเลือกว่าจะทำตามข้อไหน

1. ช่วยกันเก็บ ช่วยกันออม
1

ใครที่คิดว่าพร้อมจะแต่งงานเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้เร่งรีบอะไรมากมาย เราขอแนะนำให้ลองเกริ่นๆ ถามค่าสินสอดทองหมั้นกันเสียก่อนว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเรียกเท่าไหร่ แล้วลองคิดว่าถ้าจะแต่งงานจริงๆ จะต้องใช้เงินเท่าไหร่และจะแต่งกันปีไหน จากนั้นก็วางแผนการออมเงินกันให้ดีๆ ว่า กว่าจะถึงวันวิวาห์คุณต้องแบ่งเงินมาเก็บเป็นค่าแต่งงานเดือนละเท่าไหร่ถึงจะพอดีกับแผนงานแต่งที่คุณวางเอาไว้ แนะนำว่าให้วางแผนออมเงินมากกว่าตัวเลขจริงที่คิดไว้ด้วยนะคะ เพราะถ้าเกิดว่าเตรียมงานแล้วงบบานปลายจะได้ไม่ลำบาก

2. จัดแบบเล็กๆ เท่าที่มี

2

หากคุณคิดว่าพร้อมแต่งแล้ว เงินเก็บก็พอมีอยู่บ้าง และไม่อยากจะรอนานไปกว่านี้ (เดี๋ยวมีลูกไม่ทันใช้ อิอิ!) ลองเลือกจัดงานแต่งตามงบที่มีก็ได้นะคะ ไม่จำเป็นต้องใช้สถานที่เป็นโรงแรมหรูหรา เพียงแค่สโมสร หอประชุม หรือจะเป็นร้านอาหารสักแห่ง ฉลองกันแบบกับเล็กๆ กับคนในครอบครัว เพื่อนฝูง และคนสนิท ถึงจะไม่ใหญ่โตมากมาย แต่เราคอนเฟิร์มว่าอบอุ่นใจแน่นอน

3. หยิบยืมคนรอบตัว

3

สำหรับคู่รักที่ใจพร้อม กายพร้อม และเงินพร้อม แต่ดันเกิดเหตุฉุกเฉินงบบานปลายเกินกว่าที่วางแผนไว้ หรือจู่ๆ แม่เจ้าสาวขอเพิ่มค่าสินสอดขึ้นมาซะอย่างงั้น! ไอ้เงินที่เตรียมไว้ก็ทำท่าจะไม่พอ ถ้าเกิดเหตุการณ์เงินขาดเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้เราแนะนำให้หยิบยืมจากคนรอบตัว เช่น พ่อ แม่ พี่น้อง หรือเพื่อนสนิทก่อนก็ได้ แต่ก็ต้องตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะใช้คืนอย่างไร แบ่งจ่ายหรือโป๊ะทีเดียวให้หมดหนี้กันไป เคลียร์กันให้ชัดจะได้ไม่หมางใจกันทีหลัง

4. สินเชื่อเพื่องานแต่ง

4

ดูแล้วก็จะคล้ายๆ กับข้อที่แล้วนะคะ แต่เราขอบอกว่าต้องมีความจำเป็นจริงๆ ถึงเลือกทำตามข้อนี้นะ ความจำเป็นที่ว่าก็เหมือนกับข้อที่ 3 คือ เตรียมงานแล้ว วางแผนแล้ว แต่เกิดเหตุฉุกเฉินงบบานปลาย แม่ยายขึ้นค่าสินสอด และไม่สามารถหายืมใครได้จริงๆ แบบนี้ก็พอจะอนุโลมให้เดินหาสถาบันการเงินเพื่อขอสินเชื่อได้ แต่แนะนำว่าไม่ควรกู้มาเยอะ เอาแค่พอใช้จ่ายเท่านั้น แล้วก็ต้องทำใจไว้ด้วยว่านี่คือเงินกู้ ไม่ใช่เงินยืม เพราะฉะนั้น “ดอกเบี้ย” มีแน่นอน หลังจากแต่งงานก็จัดการบริหารหนี้ก่อนนี้ให้ดีๆ แล้วกัน

5. จดทะเบียนก่อนก็ได้นะ

5

เอาล่ะคะ ข้อสุดท้ายนี้สำหรับใครที่อยากแต่งงาน อยากใช้ชีวิตคู่จริงจัง อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา แต่ทว่า No Money จริงๆ ไม่พร้อมที่จะใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ด้วยเหตุผลนานัปการ (อาจจะเพิ่งเริ่มทำธุรกิจหรือพ่อแม่ป่วยต้องใช้เงินรักษา) ในกรณีนี้ถ้าถึงเวลารถด่วนขบวนสุดท้าย ยืดเยื้อไปเดี๋ยวขาดใจตาย ฮีบินแนะนำให้ไปจดทะเบียนสมรสกันก่อน อย่างน้อยๆ คุณก็ได้เป็นสามีภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย อยู่กินกันได้แบบยืดอกว่าฉันไม่ได้ผิดผีผิดธรรมเนียมแต่อย่างใด (นี่ไงจดทะเบียนแล้วนะ!) ส่วนเรื่องงานฉลองพร้อมเมื่อไหร่ค่อยจัดก็แล้วกัน

แพรวเวดดิ้งเข้าใจค่ะว่าคนรักกันก็อยากจะแต่งงาน ยิ่งรักกันมานานความต้องการจะใช้ชีวิตคู่แบบถูกธรรมเนียมประเพณีก็มีมากขึ้น ไหนจะเกี่ยวพันกับการให้เกียรติทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายอีก แต่ก็อย่างที่รู้ๆ กันแหละคะว่า แต่งงานหนึ่งครั้งใช้เงินน้อยๆ ซะที่ไหน ใครที่พร้อมจะแต่งงานแต่เรื่องการเงินยังติดๆ ขัดๆ ก็ลองตัดสินใจใช้ 5 วิธีนี้ดูก็ได้จ้า

>> อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่นี่อีกเพียบ คลิกเลย <<

ภาพ : www.shaaditowedding.com, www.pinterest.com, www.nextavenue.org, www.gobankingrates.com, www.upyim.com, science-all.com

Recommended