“ศีลเสมอกัน” ทริคการเลือกคู่ให้ดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

หลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วกับคำว่า “ศีลเสมอกัน” ที่มักจะกล่าวถึงการเลือกคู่ครองให้ดี แต่นอกจากนี้ยังมีคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่อง ศรัทธาเสมอกัน, จาคะเสมอกัน และปัญญาเสมอกันด้วย ซึ่งหลายคนคงสงสัยว่า แต่ละอย่างนั้นหมายถึงอะไร แพรว wedding มีคำอธิบายมาฝาก

ศีลเสมอกัน
Photo by Alex Azabache on Unsplash

1. ศรัทธาเสมอกัน

การมีศรัทธาเสมอกัน หมายถึง มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในศาสนาหรือสิ่งเคารพบูชาเดียวกัน รวมถึงมีความคิดเห็น จุดมุ่งหมาย และรสนิยมไปในทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกัน แบบนี้เวลาอยู่ด้วยกันจะไม่เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง หรือเถียงกันว่าความเชื่อของตนดีกว่า เด่นกว่า  น่าเลื่อมใสศรัทธามากกว่า เพื่อเอาชนะความคิดของกันและกัน

ในปัจจุบันสังคมเราเปิดกว้างมากขึ้น อีกทั้งความรักก็ไม่เข้าใครออกใคร คนต่างชาติ ต่างศาสนาก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาพบกันได้ ทางที่ดีควรเคารพในความเชื่อของกันและกัน ไม่แบ่งว่าความเชื่อใครดีกว่าใคร เรียนรู้ในความแตกต่างทั้งความคิด วัฒนธรรม และความเชื่อของกันและกัน แบบนี้ก็ช่วยให้ชีวิตคู่มีความสุขได้

2. ศีลเสมอกัน

ข้อนี้หมายถึงการมีความประพฤติ มารยาท และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมสอดคล้องกัน รู้จักให้เกียรติกันและกัน ไม่ต้องยกตนข่มคู่ตัวเอง หรือไม่ประพฤติปฏิบัติต่างกันจนเกินไปแล้วทำให้ชีวิตคู่เป็นทุกข์ ไม่ราบรื่น เช่น ฝ่ายหนึ่งขี้เหล้าเมายา ชอบเล่นการพนัน แต่อีกฝ่ายหนึ่งคอยห้ามปราม ไม่ชอบการดื่มเหล่าและสิ่งผิดกฎหมาย เช่นนี้ชีวิตคู่ก็ไม่มีความสุข ความประพฤติไม่ตรงกัน ขัดแย้งกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้ก็เรียกว่าศีลไม่เสมอกัน

ศีลเสมอกัน
Image by pasja1000 from Pixabay

3. จาคะเสมอกัน

จาคะ หมายถึง การสละสิ่งของและความสุขส่วนตัวเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น หากเป็นเรื่องของความรักและชีวิตคู่ก็คงจะเป็นเรื่องของความมีน้ำใจ ใจกว้าง โอบอ้อมเอื้ออารีในระดับเสมอกัน รู้จักเป็นผู้ให้และผู้รับในเวลาที่เหมาะควร รวมทั้งการให้แก่คู่รักและการทำทานแก่ผู้อื่นด้วย หากว่าจาคะไม่เสมอกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ตัว ขี้เหนียว ขี้งก ชีวิตคู่ก็คงจะอยู่กันยาก

4. ปัญญาเสมอกัน

ในข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าทั้งคู่จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในระดับเดียวกัน จบปริญญาวุฒิเท่ากันเป๊ะๆ นะคะ แต่ปัญญาในที่นี้หมายถึง การมีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญที่เกื้อหนุนกันและกันได้ รู้ดี-ชั่ว รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ และอะไรเป็นโทษ รวมถึงคอยรับฟัง เข้าใจในเหตุผลของกันและกัน และเป็นคู่คิดช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญ

หลายคนคงเกิดคำถามว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนๆ นี้กับเราจะมีทั้ง 4 ข้อเสมอกัน เรื่องนี้เราขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก ให้คุณและเขาค่อยๆ ศึกษากันและกัน ทั้งนิสัยใจคอและการกระทำ ขอแค่เพียงคุณไม่ตัดสินใจเร่งรีบแต่งงาน มีเวลาได้คบหากันสักนิด ก็จะสามารถรู้ได้ว่าคุณและเขาเป็นคู่กันตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าใช่ รับรองว่าชีวิตคู่ของคุณจะมีความสุขราบรื่นไปตลอดแน่นอน

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์เพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!

ข้อมูล : torthammarak.wordpress.com
ภาพ : unsplash.com

Recommended