งานแต่งแบบไทย เต็มไปด้วยพิธีการและลำดับขั้นตอนที่เยอะแยะ จึงทำให้บ่าวสาวหลายคนพากันเวียนเฮดกันเป็นแถม เพราะกลัวว่าจะดำเนินการผิดขั้นตอน แต่เชื่อเถอะว่าหากบ่าวสาวเตรียมการไปดีรับรองว่าพิธีต่างๆ ใน งานแต่งแบบไทย ไม่ยากอย่างที่คิด แถมเรายังใจดีมีลำดับขั้นตอนพิธีงานแต่งไทยแบบเป๊ะๆ มาฝากด้วย
ในที่นี้สมมติว่าฤกษ์สวมแหวนหมั้นคือ 9.29 น. ฤกษ์ส่งตัว 13.29 น. มีแขกราว 100-120 คน จึงเริ่มเคลื่อนขบวนขันหมากตั้งแต่ 8.00 น. ทั้งนี้ การกำหนดกรอบเวลาขึ้นอยู่กับฤกษ์ จำนวนแขก และการจัดการของแต่ละบ้านว่าสามารถดำเนินพิธีแต่ละช่วงไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วเพียงใด
8.00 น. – แห่ขันหมาก
ควรเรียกระดมพลก่อนเวลาประมาณ 15 นาที เพื่อจัดขบวนว่าใครยืนอยู่ลำดับไหน ถือพานอะไร เมื่อเรียบร้อยก็เคลื่อนขบวนไปยังบ้านเจ้าสาวหรือจุดประกอบพิธี ความจริงเดี๋ยวนี้ก็ตั้งขบวนกันข้างรั้วบ้านหรือโรงแรมนั่นแหละ โห่ฮิ้วสัก 3 รอบก็ถึงแล้ว
งานฉลุยแน่ถ้า…
* นัดกับคนในขบวนขันหมากล่วงหน้าว่าให้มาถึงงานกี่โมง แต่งกายอย่างไร และมีหน้าที่อะไร
* มีผู้รู้งานซึ่งถือผังขบวนขันหมากพร้อมรายชื่อคนถือพานเพื่อจัดลำดับขบวนอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
* ฝ่ายเจ้าสาวเริ่มจัดแถวกั้นประตูเงินประตูทองในเวลาเดียวกัน
8.10 น. – เชิญขันหมาก
เมื่อถึงหน้าบ้านจะมีการเชิญขันหมากโดยเด็กหญิงหน้าตาน่ารักในชุดไทยถือพานเชิญขันหมากรอรับพร้อมกับญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวซึ่งจะเป็นผู้เจรจาต้อนรับขบวนขันหมาก ทำนองว่า “ขบวนคึกคักจังเลย จะไปไหนกันคะ” ทางฝ่ายเจ้าบ่าวก็จะตอบประมาณว่า “จะมาขอลูกสาวบ้านนี้ยินดีต้อนรับหรือไม่” ซึ่งคำตอบจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ยินดี …เชิญเข้ามาเลยค่ะ” จากนั้นเด็กเชิญขันหมากจะส่งพานเชิญขันหมากให้เถ้าแก่ฝ่ายชายซึ่งก็แค่หยิบหมากพลูไปถือพอเป็นพิธีแล้ววางคืนพร้อมให้ซองเงิน
8.15 น. – ฝ่าด่านประตูเงินประตูทอง
จากนั้นขบวนขันหมากจึงเคลื่อนสู่บริเวณประกอบพิธี แต่เดี๋ยวก่อน! ระหว่างทางสั้นๆ นี่แหละที่กินเวลานาน เพราะกว่าขบวนจะผ่านประตูเงินประตูทองได้แต่ละด่านบางทีเจ้าบ่าวถึงกับเหงื่อตก ปัญหาที่เราเคยเห็นเยอะสุดคือถูกรีด เอ้ย เรียกหลายซองจนเจ้าบ่าวหมดตัว ต้องหยิบยืมกันให้วุ่น รองลงมาคือกิจกรรมวัดใจจำพวกวิดพื้น ตะโกนบอกรัก ร้องเพลง ฯลฯ ซึ่งบางทีผู้ใหญ่ในขบวนก็ไม่ได้สนุกด้วยนัก …เอาเป็นว่าสนุกกันพอหอมปากหอมคอ อย่าเล่นจนเสียฤกษ์ และนึกถึงใจคนถือพานผลไม้มงคลหรือกล้วยอ้อยบ้าง (เมื่อยมาก)
งานฉลุยแน่ถ้า…
* เจ้าสาวตกลงกับเพื่อนๆ ไว้ก่อนว่าต้องปล่อยขบวนภายในเวลาเท่าไหร่จึงจะไม่เสียฤกษ์
8.45 น. – พิธีล้างเท้า (ถ้ามี)
บางบ้านอาจมีพิธีล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน โดยให้เจ้าบ่าวถอดรองเท้ายืนบนหินล้างเท้ารองใบตอง แล้วญาติผู้น้องของฝ่ายเจ้าสาวตักน้ำล้างเท้าให้ ซึ่งสมัยนี้บางคนอาจแค่ปะพรมไปบนรองเท้าพอเป็นพิธีจะได้ไม่ต้องถอดรองเท้าเข้าๆ ออกๆ เสร็จแล้วจึงให้ซองเงินเป็นรางวัล
9.00 น. – เจรจาสู่ขอ + นับสินสอด
เมื่อมาถึงบริเวณพิธี คุณแม่เจ้าสาวจะมารับขันหมากแล้วส่งต่อให้คนนำไปวาง โดยพานขันหมาก พานสินสอด พานแหวนหมั้น วางไว้ ณ จุดประกอบพิธี ส่วนพานอื่นๆ วางเรียงยังโต๊ะที่จัดไว้ด้านข้าง (ต้นกล้วยต้นอ้อยวางไว้หน้าประตูได้เลย) จากนั้นเชิญผู้ใหญ่นั่งประจำที่
หลังจากเจรจาสู่ขอกันเป็นที่เรียบร้อย จะเป็นการนับสินสอดซึ่งส่วนใหญ่ก็นับพอเป็นพิธีจึงใช้เวลาไม่นานนัก ปิดท้ายด้วยการโปรยถั่ว งา ข้าวตอก ดอกไม้ลงบนสินสอดเพื่อสื่อถึงความเจริญงอกงาม แล้วรวบห่อสินสอดให้แม่เจ้าสาวแบกขึ้นบ่าเดินตัวเอียง (สินสอดหนักมาก) เข้าไปเก็บ จากนั้นจึงส่งคนไปรับตัวเจ้าสาว
งานฉลุยแน่ถ้า…
* มีคนคอยกำกับว่าพานไหนวางไว้ตรงไหน ผู้ใหญ่แต่ละท่านนั่งตรงไหน
9.29 น. – สวมแหวนหมั้น
ถ้าฤกษ์สวมแหวนหมั้นคือ 9.29 น. ในเวลา 9.20 น. ควรจะไปรับตัวเจ้าสาวมาเข้าพิธีแล้ว จะได้มีเวลากราบผู้ใหญ่และจัดท่านั่งให้เรียบร้อย เมื่อถึงฤกษ์ก็ค่อยบรรจงสวมแหวนช้าๆ อย่างมั่นใจ อย่าลืมค้างท่านี้ไว้สัก 5 วินาที เอียงมือที่สวมแหวนเข้าหากล้องเล็กน้อยแล้วยิ้มเพื่อภาพงามๆ ที่คุณรอคอย
9.45 น. – พิธีสงฆ์
เป็นการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ให้พร ถวายภัตตาหารเพลและเครื่องไทยธรรม เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นชีวิตคู่ รวมทั้งยังได้เก็บน้ำมนต์ไปผสมน้ำสำหรับใช้ในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายคู่นิยมทำบุญตักบาตรเช้าก่อนเริ่มแห่ขันหมากเพื่อความสะดวก
10.45 น. – พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ (รดน้ำสังข์)
เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์จะเป็นพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ โดยหลังจากคล้องมาลัยมงคล เจิม (กรณีที่พระสงฆ์ไม่ได้เจิมให้) และสวมมงคลแล้ว จะเป็นการรดน้ำอวยพรโดยผู้ที่มีอาวุโสกว่าบ่าวสาวซึ่งก็จะเรียงลำดับตามศักดิ์และอาวุโสลดหลั่นกันไป โดยระยะเวลาของพิธีนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนแขกที่รดน้ำ
ตามมารยาทแล้ว หากจะให้ผู้ใหญ่ท่านใดทำหน้าที่คล้องมาลัยมงคล เจิม หรือสวมมงคล ควรแจ้งให้ท่านรู้ตัวล่วงหน้า โดยเฉพาะท่านที่สวมมงคลซึ่งต้องอยู่จนจบพิธีเพื่อเป็นผู้ถอดมงคลออกให้บ่าวสาว
งานฉลุยแน่ถ้า…
* จดชื่อ-สกุล-ตำแหน่งของแขกผู้ใหญ่ พร้อมการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องให้พิธีกรกล่าวเชิญตามลำดับ
* มีคนเชิญแต่ละท่านตามลำดับที่พิธีกรขานชื่อ เพราะบางท่านอาจได้ยินไม่ชัดหรือลุกนั่งไม่สะดวก
* บ่าวสาวรู้ลำดับพิธี จะได้รู้คิวว่าต้องทำอะไรตอนไหน เช่น เมื่อถึงตั่งเจ้าสาวต้องนั่งทางซ้ายของเจ้าบ่าว
11.45 น. – พิธีไหว้ผู้ใหญ่
มักเชิญเฉพาะญาติสนิท โดยบ่าวสาวเตรียมของไหว้ผู้ใหญ่ที่ดูดีมีราคาและสมน้ำสมเนื้อกับของรับไหว้ที่มักจะเป็นเงินทองของมีค่า เช่น ผ้าขนหนูเนื้อดี ผ้าพับอย่างดี ปลอกหมอนผ้าไหม ฯลฯ ทั้งนี้ พิธีไหว้ผู้ใหญ่สามารถขยับไปไว้ในช่วงที่สะดวกได้
12.30 น. – งานเลี้ยง
หลังจากเสร็จพิธีเจ้าภาพมักจัดงานเลี้ยงกลางวันให้แขกรับประทานอาหารร่วมกัน
13.29 น. – พิธีปูเตียงเรียงหมอน (ส่งตัวเข้าหอ)
ควรเตรียมปูที่นอนด้วยเครื่องนอนชุดใหม่รวมทั้งวางพานส่งตัวไว้ให้พร้อมก่อนถึงฤกษ์ จากนั้นเชิญพ่อแม่บ่าวสาวและคู่สามีภรรยาอาวุโสที่อยู่กินกันอย่างมีความสุขและมีลูกหลานดีมาทำพิธีตามฤกษ์ โดยท่านทั้งสองจะได้รับเชิญให้นอนบนเตียง ทำทีหลับแล้วตื่นขึ้นมาพูดคุยในสิ่งที่เป็นมงคล เช่น “ฝันว่ามีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” “ที่นอนนี้นอนสบายจริงๆ ถ้าใครได้นอนคงมีแต่ความสุขความเจริญ” เป็นต้น แล้วจึงพรมน้ำมนต์ โปรยข้าวตอกดอกไม้ จากนั้นเป็นการให้ศีลให้พรพร้อมให้โอวาทในการครองเรือน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางตามสมัยนิยมเท่านั้น บางครอบครัวอาจมีความเชื่อหรือลำดับพิธีที่แตกต่างซึ่งไม่ผิดแต่อย่างใด ของแบบนี้ทำตามความสบายใจของทุกฝ่ายไว้เป็นดีที่สุด
>> อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติม คลิกเลย! <<
ภาพเปิด : งานแต่งคุณอ้อม & คุณโน๊ต ถ่ายโดย Pause by Pro Photography, Aitop Friday, Box Wedding